สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(เศรษฐกิจไทย )

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2012 14:49 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 คือ อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวสูงขึ้นในขณะที่อุปสงค์ในประเทศรวมขยายตัวชะลอลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุน ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย การส่งออกสินค้าขยายตัวสูงขึ้น

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่หดตัวร้อยละ 0.1 เป็นผลจากการฟื้นตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ และการผลิต Hard Disk Drive ขยายตัวสูงขึ้นตามภาวการณ์ส่งออก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2554 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 เทียบกับในปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 โดยมีแรงกระตุ้นทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 พบว่า มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉพาะ Hard Disk Drive และยานยนต์ เป็นต้น และเมื่อพิจารณาตัวเลขมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 (ม.ค.-ต.ค. 54) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา โดยสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ทั้งในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปี 2553 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553

โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย

  • มาตรการเร่งรัดการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ ปรับลด ภาษีรายได้นิติบุคคล เร่งสร้างความเชื่อมั่น และการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในรูปแบบต่างๆจากภาครัฐ
  • เศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี
  • รายได้ภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี จากนโยบายต่างๆ ปัจจัยเสี่ยง
  • ความอ่อนแอของภาคเศรษฐกิจในช่วงแรกของการฟื้นฟูจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวในไตรมาสแรก โดยภาคเศรษฐกิจบางส่วนอาจไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เต็มศักยภาพทำให้การส่งออกในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าระดับปกติ
  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป
  • ตลาดเงิน ตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน
  • ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง
  • รายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2555 ยังมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2555

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2555

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการและเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.5-5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 โดยมีแรงกระตุ้นทั้ง อุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ

ภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมไทยปี 2554

จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและในด้านการผลิตซึ่งในภาคการผลิตที่สำคัญ ก็คือ ภาคอุตสาหกรรม โดยในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศมีแนวโน้มที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากการที่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยมีการหยุดชะงักลง ประกอบกับรายได้ที่ลดลงของผู้ใช้แรงงานจากการหยุดการจ้างงานของสถานประกอบการที่ประสบภัย รวมถึงการสูญเสียรายได้ของเกษตรกรเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายในวงกว้าง ล้วนส่งผลกระทบให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอตัวลงในอนาคต

สำหรับผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง และจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดการผลิต โดยคาดว่าจะทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI (Manufacturing Production Index) ในไตรมาสที่ 4/2554 หดตัวร้อยละ 27.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2554 หดตัวติดลบร้อยละ 7-8 และจากทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรม (มูลค่า ณ ราคาคงที่) ตลอดทั้งปี 2554 อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.5 หรือ ขยายตัวไม่เกินร้อยละ 1.0 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2555

เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่สำคัญ คือ (1) แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทย (2) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ประเด็นแรก เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะมีแรงขับเคลื่อนจากการเร่งการผลิตในหลายสาขาอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมถนน อาคารสถานที่และที่พักอาศัย รวมไปถึงการสั่งซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วนอะไหล่ ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อแทนที่เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย

ประเด็นที่ 2 ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรเพิ่มขึ้นมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรอ่อนแอลงมากในช่วงที่ผ่านมา และอาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมากกว่าที่เคยคาดไว้ กรณีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราต่ำเป็นเวลายาวนาน ช่องทางกระตุ้นจากนโยบายการเงินการคลังมีจำกัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนที่ผูกพันไว้

จากประเด็นต่างๆ ข้างต้น คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 6.0 -7.0 ส่วน ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรม (มูลค่า ณ ราคาคงที่) ปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.0 - 6.0

ดัชนีทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 4.4 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2554 มีค่า 181.7 และในปี 2553 มีค่า 190.1 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2553

          สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6-7 จากปี 2554 เนื่องจากการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับคืนสู่ภาวะปกติจากในปี 2554 ที่ต้องประสบภาวะอุทกภัย และความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานที่ต่ำในปี 2554        อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิต เช่น ราคาพลังงาน เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 2.4 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2554 มีค่า 186.6 และในปี 2553 มีค่า 191.2 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ โทรทัศน์สี เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2553

สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่าดัชนีการส่งสินค้าจะขยายตัวจากปี 2554 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยการอุปโภคบริโภคภายในประเทศจะขยายตัวตามความต้องการ สินค้าที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาภาวะอุทกภัย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 2.3 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2554 มีค่า 189.5 และในปี 2553 มีค่า 185.2 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive น้ำตาล ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องปรับอากาศ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553

สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่าดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะทรงตัวจากปี 2554 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมต้องมีการปรับปริมาณสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับภาวะการด้านอุตสาหกรรม ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องรักษาระดับของสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อการจำหน่ายต่อไป

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 โดย 10 เดือนแรกของปี 2554 อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.5 และในปี 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.2 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ โทรทัศน์สี Hard Disk Drive เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดือนมกราคมตุลาคม 2554 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553

สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2554 เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมจะต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในปี 2555

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 80.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 (78.4) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ทั้ง 3 ดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำและรายได้ในอนาคตยังไม่ดี นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2554 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลายรายการอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑลรวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบกับความวิตกกังวลในความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเกี่ยวกับหนี้สาธารณะของยุโรปที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนีพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 เฉลี่ยมีค่า 71.3 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีค่า 70.6 การที่ค่าดัชนีต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีและขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 เฉลี่ยมีค่า 71.9 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีค่า 69.6 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโอกาสในการหางานทำอยู่ในระดับที่ไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 เฉลี่ยมีค่า 98.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีค่า 95.2 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของตนเองยังไม่ดีนัก

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ดัชนีปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2554 มีค่า 49.9 และในปี 2553 มีค่า 50.7 โดยที่ค่าดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2554 มีค่าต่ำกว่าระดับ 50 เล็กน้อย แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่มีการปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 คือ การจ้างงานของบริษัทและการผลิตของบริษัท

สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจน่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปี 2554 เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น การเร่งรัดการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงให้เห็นอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรม จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้เช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index:TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2554 ดัชนีเฉลี่ยมีค่า 103.3 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่า 103.9 การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เชื่อว่า สภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2554 ดัชนีมีค่า 89.0 ลดลงจากเดือนกันยายน 2554 (90.7) ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 26 เดือน โดยเป็นผลมาจากการปรับลดลงขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจากวิกฤตน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เสียหายรุนแรง นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องจมน้ำในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะมีการป้องกันเป็นอย่างดีก็ตาม ทั้งนี้ยังส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่ต้องหยุดการผลิต เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต กระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน น้ำที่ท่วมขังบนถนนหลักหลายสาย ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความล่าช้า หรือไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในช่วงน้ำท่วม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เสียหาย รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบ และราคามีแนวโน้มราคาสูงขึ้นหลังจากภาวะน้ำท่วมคลี่คลาย ค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 นั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ ขอให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาท/วัน เร่งฟื้นฟู และช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ และแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาสูง

คาดว่าในปี 2555 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554 เนื่องจากคาดว่า ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ จะอยู่ในช่วงการฟื้นฟูบูรณะของภาคการผลิต และครัวเรือน ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index:LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่า ดัชนีชี้นำในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 129.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2554 (130.7) ร้อยละ 0.9 ตามการปรับตัวลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมันดิบ มูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index:CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 114.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2554 (122.8) ร้อยละ 6.7 ตามการลดลงของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2554 มีค่า 139.8 และในปี 2553 มีค่า 134.3 ทั้งนี้ เครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ (ตารางที่ 5)

สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554 เนื่องจาก รัฐบาลจะมีการเร่งรัดเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงหากดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผู้ประกอบการและธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ทำให้การอุปโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2554 มีค่า 203.3 และในปี 2553 มีค่า 184.3

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ทั้งปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553

สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 เนื่องจากเมื่อสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงและรัฐบาลมีการเร่งรัดเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว จะทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นของภาคเอกชน

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 111.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 (107.8) ร้อยละ 3.8 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มจำพวกข้าว เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร รวมทั้งหมวดอื่นๆที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม และพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน มีค่า 137.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 (130.3) ร้อยละ 5.8 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง

สำหรับแนวโน้มปี 2555 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 เนื่องจากราคาอาหาร พลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่แนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนในปี 2554 (ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนธันวาคมซึ่งเป็นตัวเลขประจำเดือนกันยายน 2554) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.23 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.86 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.06 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.295 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 0.75)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 มีจำนวน 5.50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.15 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2554 ในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2554 นั้นการค้าของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 389,266.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.9 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 196,768.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 192,498.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4,270.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา จนกระทั่งเดือนตุลาคมมูลค่าการส่งออกชะลอลงมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งอออกทั้งปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2553 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-ตุลาคม) ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 144,889.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 73.63) สินค้าเกษตรกรรม 25,589.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.01) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 14,797.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.52) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 11,493.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.84)

เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วนั้นมูลค่าการส่งออกของสินค้าทุกหมวดมีอัตราการเติบโตที่ขยายตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

โดยสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.85 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.55 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.70 และ สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.27

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2554 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 15,368.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 15,330.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 11,314.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณี และเครื่องประดับ 10,720.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 7,696.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 7,408.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 7,078.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 6,969.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ยาง 6,955.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และข้าว 5,632.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 94,475.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 48.0 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ตลาดส่งออก

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 54.20 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวทั้งหมด โดยการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นนั้นมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02 ตลาดอาเซียน 9 ประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.23 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.65 ตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.85 และตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.62

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2554 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 83,326.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.29) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน 48,102.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 24.99) สินค้าเชื้อเพลิง 36,101.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.75) สินค้าอุปโภคบริโภค 17,312.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.99) สินค้าหมวดยานพาหนะ 7,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.80) และสินค้าอื่นๆ 343.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.18)

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าในทุกหมวดมีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว โดยสินค้าหมวดอื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.19 สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.94 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.46 สินค้าทุนเพิ่มขี้นร้อยละ 23.01 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.94 และสินค้าหมวดยานพาหนะมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.52

แหล่งนำเข้า

การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน 9 ประเทศ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 48.90 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าของทุกกลุ่มประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสหรัฐอเมริกานั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.04 สหภาพยุโรปมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 29.94 กลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.43 และประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.85

แนวโน้มการส่งออก

มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2554 จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2554 มูลค่าการส่งออกชะลอลงเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากอย่าง สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ ทำให้มูลค่าการส่งออกในเดือนตุลาคม 2554 ชะลอลงมาก และจากเหตุการณ์อุทกภัยนี้ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปจะส่งผลให้การส่งออกอาจจะชะลอตัวลงอีกใน 2 เดือนสุดท้ายของปี โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2554 นี้จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 220 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนต่อการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปี และการขยายตลาดในตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น ตลาดอาเซียน จีน อินเดียและรัสเซีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เพื่อเป็นการทดแทนตลาดหลักที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงและมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการขยายตัว ได้แก่ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป การแข็งค่าของเงินบาท ต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการผลิตหลังเหตุการณ์อุทกภัยที่อาจจะใช้เวลาฟื้นกำลังการผลิตกลับสู่ระดับปกติไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2555

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2554 มีมูลค่า 274,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 2554 จะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในปี 2553 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 491,100 ล้านบาท เนื่องจากมีกิจการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                                           2552              2553             2554*
          มูลค่าการขอรับการส่งเสริม          281,300           491,100           500,000

การลงทุน(ล้านบาท)

  • หมายเหตุ : ข้อมูลปี 2554 เป็นตัวเลขการคาดการณ์

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุน พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 61,300 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 58,100 ล้านบาท หมวดเคมี กระดาษ และพลาสติก มีเงินลงทุน 51,500 ล้านบาท หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร มีเงินลงทุน 43,900 ล้านบาท หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ มีเงินลงทุน 18,800 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเบา มีเงินลงทุน 10,400 ล้านบาท

การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                    อุตสาหกรรม                               2553 (ม.ค.-ต.ค.)
          จำนวนโครงการ                              มูลค่าการลงทุน                (ล้านบาท)
          เกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร                     163                     43,900
          เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ                        27                     18,800
          อุตสาหกรรมเบา                                   83                     10,400
          ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง               293                     58,100
          อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า                      171                     30,000
          เคมี กระดาษและพลาสติก                           161                     51,500
          บริการและสาธารณูปโภค                            276                     61,300
                    รวม                               1,174                    274,000

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สำหรับแหล่งลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 359 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 94,606 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์มีการลงทุนจำนวน 51 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 22,398 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 23 โครงการ เป็นเงินลงทุน 7,611 ล้านบาท และประเทศเกาหลีใต้มีการลงทุน 29 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,808 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ