สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2012 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          - งานแสดงรถยนต์ รถจักรยานยนต์นานาชาติ "The  32nd  Bangkok International Motor Show" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 5 เมษายน 2554  ณ  อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้        คอนเซ็ปต์งาน "เปิดโลกยนตรกรรมสู่อนาคต" (Discovery a new Innovation) โดยภายในงานมีการแนะนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายจากหลากหลายยี่ห้อ ส่งผลให้มียอดจองรถยนต์ทั้งสิ้น 34,150 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 22.50  (ที่มา : www.dailynews.co.th)
  • เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการและแนวทางการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก

2. การจัดตั้งงบประมาณในการดำเนินการ ดังนี้

2.1 อนุมัติและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

2.2 อนุมัติและจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคันละ 100,000 บาท

3. อนุมัติเป็นหลักการให้หัวหน้าส่วนราชการกรมสรรพสามิต (อธิบดีกรมสรรพสามิต) หรือ ผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจอนุมัติให้คืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกให้กับผู้ซื้อ

4. มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ให้ความร่วมมือกับกรมสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงหลักฐานการครอบครองรถยนต์คันแรก การบันทึกข้อมูลห้ามจำหน่ายโอนรถยนต์ภายใน 5 ปี ตามมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง คือ

1. ตามนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 ซึ่งมีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยให้มีมาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรก และรถยนต์คันแรก กรมสรรพสามิตได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการตามแนวทางการใช้มาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไปสำหรับรถยนต์คันแรก

2. การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชน ดังนี้

2.1 สนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสซื้อรถยนต์ สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีรถยนต์มาก่อน สามารถซื้อรถยนต์ได้ไม่น้อยกว่า 500,000 คน

2.2 มาตรการนี้จะสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

2.3 มาตรการดังกล่าวนี้จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพิ่มมากขึ้น

2.4 เมื่อพิจารณาจากปริมาณการเสียภาษีรถยนต์นั่งที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 1,000,000 บาท/คัน ในปีงบประมาณ 2553 เป็นฐาน พบว่า มีปริมาณรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์กระบะ (Pick up) และรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab) มีจำนวนประมาณ 520,000 คัน การคืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท/คัน ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ฉะนั้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่เคยมีรถยนต์มาก่อนสามารถซื้อรถยนต์ได้ จึงเห็นควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายคืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท/คัน ให้ผู้ซื้อรถยนต์ขนาดไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์กระบะ (Pick up) และรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 คัน โดยใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท

3. เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ซึ่งต้องขอตั้งงบประมาณในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 - 2556

4. กำหนดหลักเกณฑ์การคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก มีดังนี้

4.1 เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อ 4.2 เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1,000,000 บาท/คัน

4.3 เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร/รถยนต์กระบะ (Pick up) / รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab)

4.4 เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ)

4.5 คืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/คัน

4.6 ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

4.7 ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ปี

4.8 การคืนเงินจะคืนให้เมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปีไปแล้ว (ที่มา : ww.thaigov.go.th)

*สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วง 10 เดือนของปี 2554 (มกราคม-ตุลาคม 2554) มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 87 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 19,303.84 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นกว่า 9,525 คน ในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการผลิตชิ้นส่วนตัวถังสำหรับยานพาหนะ ของบริษัท เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด เงินลงทุน 1,126.70 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 107 คน 2) โครงการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับ Eco car ของบริษัท เอช-วัน พาร์ทส์ ศรีราชา จำกัด เงินลงทุน 1,245.10 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 182 คน และ 3) โครงการผลิตโคมไฟสำหรับยานพาหนะ ของ บริษัท ไทย โคะอิโท จำกัด เงินลงทุน 1,119.10 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 537 คน (รวบรวมข้อมูลจาก www.boi.go.th)

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ ปี 2554

  • ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,334,677 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 1.13 และในปี 2554 ประมาณว่า มีการผลิตรถยนต์ 1,500,000 คัน ลดลงร้อยละ 8.83 จากปี 2553 ที่มีการผลิตรถยนต์ 1,645,304 คัน โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ประมาณร้อยละ 37, 62 และ 1 ตามลำดับ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 713,842 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 13.60 และในปี 2554 ประมาณว่า มีการจำหน่ายรถยนต์ 790,000 คัน ลดลงร้อยละ 1.29 จากปี 2553 ที่มีการจำหน่ายรถยนต์ 800,357 คัน โดยเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUV ประมาณร้อยละ 45 ,42, 6 และ 7 ตามลำดับ
  • ปริมาณการส่งออกรถยนต์ ในปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 694,323 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 6.83 โดยมีตลาดส่งออกรถยนต์นั่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 16.49, 15.89 และ 7.33 ตามลำดับ ตลาดส่งออกรถแวนและปิกอัพที่สำคัญของไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีซีย และชิลี ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 29.73, 5.86 และ 4.86 ตามลำดับ ตลาดส่งออกรถบัสและรถบรรทุกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ออสเตรเลีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 27.72, 13.71 และ 11.16 ตามลำดับ ในปี 2554 ประมาณว่า มีการส่งออกรถยนต์ 780,000 คัน ลดลงร้อยละ 12.93 จากปี 2553 ที่มีการส่งออกรถยนต์ 895,855 คัน
          - อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2554 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงต้นปี 2554 ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นใประเทศญี่ปุ่น  ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มีการปรับลดการผลิตอันเนื่องมาจากการขาดแคลนชิ้นส่วน ได้แก่ ชิ้นส่วนสมองกล (Micro Computer Chip) ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเมืองเซนได และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และปลายปี 2554 ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ โรงงานผลิตรถยนต์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งอยู่ในสวนนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการหยุดการผลิตตั้งแต่วันที่          4 ตุลาคม 2554 และคาดว่าจะกลับมาผลิตได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ส่วนโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายรายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ขาดชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนตลาดในประเทศ เช่น นโยบายการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก และกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดโดยการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด เป็นต้น

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ปี 2554

  • ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,858,430 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 9.96 และในปี 2554 ประมาณว่า มีการผลิตรถจักรยานยนต์ 2,260,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.50 จากปี 2553 ที่มีการผลิตรถจักรยานยนต์ 2,026,927 คัน โดยแบ่งเป็น รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว (รวมรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกู๊ตเตอร์) ประมาณ ร้อยละ 91 และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ตประมาณ ร้อยละ 9
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,756,682 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 13.79 และในปี 2554 ประมาณว่า มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 2,120,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.84 จากปี 2553 ที่มีการจำหน่าย 1,845,997 คัน โดยแบ่งเป็น รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว รถจักรยานยนต์แบบสกู๊ตเตอร์ และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ประมาณร้อยละ 49, 48 และ 3 ตามลำดับ
  • ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU-Completely Built Up) ในปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 203,004 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 64.83 และในปี 2554 ประมาณว่า มีการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 240,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.15 จากปี 2553 ที่มีการส่งออก 155,688 คัน โดยตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์ที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 16.57, 15.94 และ 14.91 ตามลำดับ
  • อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังมีการขยายตัว ซึ่งสอดคล้องกับภาคการเกษตรซึ่งเป็นตลาดหลักของรถจักรยานยนต์ แม้ว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถจัดส่งชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ได้ ทำให้โรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ต้องหยุดการผลิต สำหรับการส่งออกขยายตัวได้ในตลาดสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เป็นต้น

อุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2555

  • ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2555 คาดว่าจะมีผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการลงทุนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่และรถยนต์ยี่ห้อใหม่ที่เริ่มผลิตในประเทศ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปประเทศสำคัญในเอเชีย ตลอดจนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศและการกระตุ้นยอดจำหน่ายจากนโยบายรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน ที่อาจส่งผลต่อการเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค
  • ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในปี 2555 คาดว่าจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์และผู้บริโภคภายหลังจากปัญหาอุทกภัย ในขณะที่การส่งออกยังสามารถขยายได้ในตลาดแถบเอเชีย อเมริกา และยุโรป เป็นต้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ