สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2012 15:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. ภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยช่วง 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม 2554)

1.1 ภาวะการผลิต

1.1.1 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวม

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงปีก่อนหน้าค่อนข้างมากทำให้ยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนหนึ่งประกอบกับมีฐานตัวเลขที่สูงใน ปีก่อน นอกจากนี้ในปี 2554 ยังประสบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก และมีสถานการณ์ภัยธรรมชาติในหลายประเทศอีกด้วย ขณะที่ดัชนีผลผลิตกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวในช่วงครึ่งแรกของปีค่อนข้างมาก ทั้งจากตลาดในประเทศที่มีการขยายตัวและตลาดส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด

ในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ดัชนีผลผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ50.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัทโตชิบา บริษัทโซนี่ บริษัทเจวีซี บริษัทแคนนอน บริษัท Western Digital ฯลฯ ในขณะที่โรงงานในจังหวัดใกล้เคียงได้ลดกำลังการผลิตลงเนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์และขาดแคลนวัตถุดิบ

1.1.2 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเกือบทุกสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มีกการปรับตัวขึ้นโดยเฉพาะสินค้า ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน และสายไฟฟ้า ที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.5 13.1 19.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตไทยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น และมีราคาเหมาะสมที่ทำให้แข่งขันกับสินค้าจีนได้ด้วยคุณภาพที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก คือ โทรทัศน์สีขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว (CRT) โทรทัศน์สีขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป (CRT) เนื่องจากตลาดให้ความนิยมเครื่องรับโทรทัศน์จอ LCD และพลาสมามากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ CRT ลดลงไปเรื่อยๆ

1.1.3 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โลกชะลอตัวลง จากตลาดหลักๆ ที่มีความต้องการลดลง เช่น เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ตลาดสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดหมาย และความกังวลต่อผลกระทบวิกฤตหนี้ของยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

โดยเฉพาะการผลิต Hard disk drive (HDD) ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกชะลอตัวลง ประกอบกับสินค้าเทคโนโลยีที่กำลังมีความต้องการจากตลาดโลกสูง เช่น Tablet iphone ใช้ Solid State Drive แทนการใช้ HDD นอกจากนี้บริษัทต้องหยุดการผลิตลงเนื่องจากปัญหาอุทกภัยด้วย ทำให้คาดว่าในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ การผลิต HDD จะปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก

1.2 ภาวะการตลาด

1.2.1 การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 มีมูลค่า 1,401,771.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญหลายตัวยังขยายตัวได้ดี เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ แต่พบว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการส่งออกชะลอตัวลง สาเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอก คือ ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และการเกิดอุทกภัยภายในประเทศ

การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 การ

ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ13.2 ด้วยมูลค่า 570,019.5 ล้านบาท ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องปรับอากาศ 2) เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้าฯ 3) กล้องถ่าย TV/VDO 4) คอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น และ 5) ตู้เย็น รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3

ตลาดส่งออกหลักของเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ตลาดอาเซียน (ร้อยละ 18) ตลาดสหภาพยุโรป (ร้อยละ 14) ตลาดญี่ปุ่น (ร้อยละ 13.9) และตลาดจีน (ร้อยละ 8) โดยตลาดส่งออกหลักของเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวได้ดี ทั้งตลาดอาเซียน ขยายตัวร้อยละ 11.0 ตลาดยุโรป ขยายตัวร้อยละ 11.1 ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 28.8 และตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 15.3 ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกชิ้นส่วน โดยในช่วงเดือนมกราคมตุลาคม 2554 มีมูลค่าการส่งออก 831,752.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกหลักได้แก่ จีน (ร้อยละ 19) อาเซียน (ร้อยละ 16) ยุโรป (ร้อยละ 15) ซึ่งจะนำชิ้นส่วนดังกล่าวไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยตลาดส่งออกหลักของอิเล็กทรอนิกส์ลดลงในเกือบทุกตลาด ทั้งจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เนื่องมาจากการผลิตสินค้าไอทีสำเร็จรูปของจีนเพื่อส่งขายทั่วโลกปรับตัวลดลงจากความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยลดลง

1.2.2 การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 มีมูลค่า 1,130,948.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลัง เช่น เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า มอเตอร์ เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูป เช่น สายไฟ ชุดสายไฟ และส่วนประกอบของเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าส่วนใหญ่ เป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ยังนำเข้า IC และ Semiconductor ที่ใช้เทคโนโลยีสูงด้วย

1.1.3 ภาวะการจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น พัดลม กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มาก เนื่องจากผู้ผลิตมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้ามากขึ้น ทำให้แข่งขันกับสินค้าจากจีนได้มากขึ้น ยกเว้นในส่วนของเครื่องปรับอากาศที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 14-17 เนื่องจากอุณหภูมิในปีนี้ไม่สูงเท่า ปีที่แล้ว และประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปกติ รายละเอียดแสดงในตารางที่ 6

2. ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2554 และประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2555

2.1 ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2554

  • ภาวะการผลิต

การผลิตในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปี 2553 เล็กน้อยร้อยละ 5 เนื่องจากความผันผวนของตลาดส่งออก นอกจากนี้ผลกระทบจากอุทกภัยภายในประเทศ คาดว่าจะทำให้การผลิตลดลงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ประมาณร้อยละ 10 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555

การผลิตในส่วนของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ประกอบกับได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้คาดว่าการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 จะลดลงประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ทั้งปีคาดว่ายังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย ร้อยละ 2-3 เนื่องจากสินค้าเครื่องทำความเย็น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เป็นต้น ยังขยายตัวได้ ประกอบกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กเริ่มฟื้นตัวมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ในขณะที่ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ HDD ค่อนข้างผันผวน ตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปรุ่นใหม่ไม่ใช้ HDD เช่นที่ใช้ในคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โดยเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่เร็วและราคาสูง แบบ Solid State Drive มากกว่า ทำให้การผลิตมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้คาดว่าใน ไตรมาส 4 นี้ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิต HDD และ IC ซึ่งเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลักของไทยต้องหยุดการผลิต และทั้งปี 2554 คาดว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีการผลิตลดลงประมาณ ร้อยละ 8-9

-ภาวะการส่งออก

การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่า 51,718.06 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 20,879.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2553 และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าประมาณ 30,072.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปี 2553

ทั้งนี้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 7 แห่ง โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออก ประมาณ ร้อยละ 30 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออก 10 อันดับแรกของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 20 ของการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวม โดยยังไม่หมายรวมถึง Supply Chain ที่ไม่มีวัตถุดิบในการประกอบและจำหน่าย

การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2555 คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายนอก คือ การฟื้นตัวของประเทศสหรัฐอเมริกา และวิกฤติหนี้ของยุโรป และปัญหาอุทกภัยในประเทศ ทำให้คาดว่าจะมีการส่งออกลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2554 ประมาณร้อยละ 5-10 แต่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เป็นต้นไป

-ภาวะการบริโภคในประเทศ

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า : ก่อนน้ำท่วม การบริโภคสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยอยู่แล้วประมาณร้อยละ 1-5 และภายหลัง น้ำท่วมคาดว่าความต้องการสินค้าจะลดลง แต่คาดว่าจะไม่มากนักเพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะมีการซื้อสินค้าใหม่ทดแทนส่วนที่เสียหาย ทำให้การเติบโตจะติดลบเล็กน้อยร้อยละ 0-5 ทั้งนี้คาดว่าสินค้าจะมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศทดแทน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ : ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งก่อนน้ำท่วมคาดว่าความต้องการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากความต้องการสินค้า Technology ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ภายหลังน้ำท่วม คาดว่าความต้องการในส่วนนี้จะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 5 แต่คงไม่ถึงขั้นติดลบ

2.2 ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2555

ในปี 2555 คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงขยายตัวได้ แต่มีอัตราการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-7 * เนื่องจากจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-12 * เนื่องจากความต้องการสินค้าไอทีใหม่ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลให้การซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงได้

หมายเหตุ * ตัวเลขประมาณการ ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2554

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ