สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 23, 2012 15:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 คือ อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวสูงขึ้นในขณะที่อุปสงค์ในประเทศรวมขยายตัวชะลอลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุน ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย การส่งออกสินค้าขยายตัวสูงขึ้น

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่หดตัวร้อยละ 0.1 เป็นผลจากการฟื้นตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ และการผลิต Hard Disk Drive ขยายตัวสูงขึ้นตามภาวการณ์ส่งออก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2554 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 เทียบกับในปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 โดยมี แรงกระตุ้นทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 (ม.ค.-ธ.ค. 54) เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยางพารา เป็นต้น

ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและ การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 124.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (195.3) ร้อยละ 36.2 และลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (190.0) ร้อยละ 34.4

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

ในปี 2554 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 172.3 ลดลงจากปี 2553 (190.0) ร้อยละ 9.3 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 130.4 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (203.5) ร้อยละ 35.9 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (194.1) ร้อยละ 32.8

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เส้นใยสิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในปี 2554 ดัชนีการส่งสินค้ามีค่า 176.6 ลดลงจากปี 2553 (191.7) ร้อยละ 7.9 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูป คงคลังอยู่ที่ระดับ 176.3 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (197.5) ร้อยละ 10.7 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (185.7) ร้อยละ 5.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เบียร์ เป็นต้น

ในปี 2554 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 186.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 (184.9) ร้อยละ 0.7 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก Hard Disk Drive น้ำตาล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 46.4 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 64.5) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (ร้อยละ 63.3)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เส้นใยสิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในปี 2554 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 58.2 ลดลงจากปี 2553 (ร้อยละ 63.2) โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยรวมมีค่า 72.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (79.2) และลดลงจากไตรมาสที่เดียวกันของปี 2553 (80.0) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ดัชนีทั้ง 3 มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ผลกระทบภาวะน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดของไทยโดยเฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑล สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ รวมถึงภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ลง เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือนจะพบว่า ดัชนีในเดือนธันวาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน แต่ดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงกังวลในสถานการณ์ต่างๆ อยู่ อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีในเดือนธันวาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงกลับสู่ภาวะปกติ พร้อมกับมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมที่คาดว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2555 สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4-5 และเทศกาลปีใหม่ส่งผลให้มี การใช้จ่ายตามเทศกาลมากกว่าสถานการณ์ปกติ

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีค่า 62.3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (69.6) และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีค่า 63.4 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (70.4) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ

          ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีค่า 90.8 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (97.7) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แม้ผู้บริโภคจะกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต        แต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสหางานทำ

ในปี 2554 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 78.2 ปรับตัวลดลงจากปี 2553 ที่มีค่า 78.8

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าใน ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีค่าเท่ากับ 41.4 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (50.6) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (51.4) โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลง ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มยังไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

ในปี 2554 ดัชนีโดยรวมมีค่า 48.9 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีค่า 50.9 โดยดัชนีที่ลดลงจากปี 2553 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท การผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TIST)

          จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 90.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (99.5) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (102.7) การที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือน    จะเห็นว่าดัชนีในเดือนธันวาคม 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 93.7 จากเดือนพฤศจิกายน 2554 (87.5) โดยค่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ได้คลี่คลายและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมทยอยกลับมาดำเนินการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบด้วย เส้นทางคมนาคมขนส่งก็สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้งภายหลังน้ำลด ส่งผลดีต่อระบบโลจิสติก และซัฟพลายเชน  อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังอยู่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า        ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี สะท้อนได้จากการที่ยังมีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ เนื่องจากโรงงานได้รับความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู เพื่อกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐได้แก่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังภาวะน้ำท่วมคลี่คลาย ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ชะลอการปรับขึ้นราคาพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการน้ำทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

ในปี 2554 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 101.2 ลดลงจากปี 2553 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 104.1

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 129.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 127.2 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มี่ค่าเฉลี่ย 128.8 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมามีค่า 132.2 และดัชนีในปี 2554 มีค่าเฉลี่ย 129.6 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีค่าเฉลี่ย 123.2

ดัชนีฟ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 116.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 110.0 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มีค่าเฉลี่ย 113.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 122.6 และดัชนีในปี 2554 มีค่าเฉลี่ย 120.0 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีค่า 119.6

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มีค่า 136.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (140.6) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (135.7) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

ในปี 2554 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2553 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ คาดว่าในปี 2555 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 188.4 ลดลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมา (205.2) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (188.3)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ลดลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ณ ขณะจัดทำรายงานฉบับนี้ ข้อมูลล่าสุดมีถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 เท่านั้น)

ในปี 2554 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม เพิ่มขึ้นจากปี 2553 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ คาดว่าในปี 2555 การลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 113.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (112.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (108.7) การที่ดัชนี

ราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์แปรรูป ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีค่าเท่ากับ 138.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา(138.2) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (132.9) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 สำหรับราคา ในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553

ในปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่า 112.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีค่า 108.0 สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตในปี 2554 มีค่า 137.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีค่า 130.7

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 (ข้อมูลเดือนพฤจิกายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.452 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.978 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.80 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.321 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.82)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สี่ของปี 2554 มีจำนวน 5.152 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 13.22 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 การส่งออกมีมูลค่าลดลงเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรง โดยในไตรมาสที่ 4 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 103,924.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 49,705.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 54,218.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 นั้นมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 23.06 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 13.62 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดุลการค้าขาดดุล 4,512.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.78 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15

การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าการส่งออกในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการส่งออก 17,191.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งยังคงขยายตัวเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีการหดตัวลงในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงมีมูลค่าการส่งออกอยู่ในระดับสูงกว่า 15,000 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤศจิกายนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.44 และเดือนธันวาคมลดลงร้อยละ 2.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 15,498.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 17,016.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

-โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 35,362.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 71.14) สินค้าเกษตรกรรม 6,957.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 14.00) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 4,034.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.12) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 3,352.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.74)

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกของหมวดสินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.65 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.75 และสินค้าเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.79 แต่สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 11.17

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักตลอดทั้งปี 2554 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 17,064.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.46) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 16,983.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.42) ยางพารา 13,176.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.76) อัญมณีและเครื่องประดับ 12,301.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.38) น้ำมันสำเร็จรูป 9,281.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.06) เม็ดพลาสติก 8,800.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.85) ผลิตภัณฑ์ยาง 8,388.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.67) เคมีภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 8,293.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.62) แผงวงจรไฟฟ้า 7,910.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.46) และข้าว 6,507.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.84) โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 108,707.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.51 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 55.73 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกในตลาดสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง ยกเว้นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.05 สำหรับมูลค่าการส่งออกในตลาดญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 3.18 ตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 7.72 และตลาดสหภาพยุโรปมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 18.25

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด โดยมีมูลค่าการนำเข้า 23,216.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 42.82) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 12,886.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 23.77) สินค้าเชื้อเพลิง 10,407.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.20) สินค้าอุปโภคบริโภค 5,270.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.72) สินค้าหมวดยานพาหนะ 2,352.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.34) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 84.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.16) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในทุกหมวดหลักมีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.56 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.99 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.92 สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.24 สินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.11 และหมวดสินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 46.48 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าแหล่งนำเข้าหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.85 สหรัฐอเมริกามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.44 กลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38 ยกเว้นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.08

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 55,641.67 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนตุลาคม 26,574.50 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 29,067.17 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,314.46 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,207.53 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 23,521.99 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมากที่สุดซึ่งมีเงินลงทุนเป็นจำนวน 9,277.86 ล้านบาท รองลงมาคือการผลิตเคมีภัณฑ์มีการลงทุนสุทธิ 3,815.59 ล้านบาท และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 3,300.30 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2554 คือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 25,135.49 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศสิงคโปร์ และประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 5,796.41 ล้านบาท และ 4,032.67 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 478 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 477 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 175,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.78 โดยโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 188 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 74,400 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 112 โครงการ เป็นเงินลงทุน 53,900 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 178 โครงการ เป็นเงินลงทุน 46,700 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 45,100 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 39,600 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 36,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 667 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลียที่มีจำนวน 5 โครงการ มีเงินลงทุน 142 ล้านบาท ประเทศฮ่องกงได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 2 โครงการ เป็นเงินลงทุน 83 ล้านบาท และประเทศสหรัฐอเมริกา 1 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 82 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ