สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2013 13:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาของประเทศไทยในปีนี้ โดยภาพรวมมีการขยายตัวจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของภาครัฐ ทำให้ความต้องการยาในกลุ่มยาสามัญเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำในต่างประเทศให้ความสนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตในประเทศ เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและการจำหน่ายยาทั้งในประเทศและส่งออกเตรียมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต

การผลิต

ปี 2555 การผลิตยาในประเทศคาดว่า จะมีปริมาณ 30,155.02 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.10 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกผู้ผลิตเร่งทำการผลิต จากการที่ช่วงปลายปีก่อนเกิดปัญหามหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตยาและ Supplier ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ในช่วงปลายปีผู้ผลิตไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อ เมื่อปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลงผู้ผลิตจึงได้เร่งทำการผลิต นอกจากนี้ผู้ผลิตยังทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ เพื่อทดแทนยาซึ่งเคยมีความต้องการสูงแต่ถูกจำกัดการจำหน่าย และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูงจากการที่ประชาชนเพิ่มความใส่ใจกับการดูแลสุขภาพและมีพฤติกรรมการซื้อยาใช้เองมากขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ปี 2555 การจำหน่ายยาในประเทศคาดว่า จะมีปริมาณ 26,782.78 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6.59 โดยรูปแบบของยาที่มีปริมาณการจำหน่ายลดลงมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากในปีนี้ยาน้ำที่มีสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ถูกภาครัฐควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 โดยยาประเภทนี้จะมีได้เฉพาะในสถานพยาบาลภาครัฐ และสถานพยาบาลภาคเอกชนที่มีใบอนุญาตเท่านั้น รวมทั้งให้ร้านขายยาคืนยากับผู้ผลิต ตลอดจนจำกัดการนำเข้ายาประเภทนี้จากต่างประเทศด้วย สำหรับยาประเภทอื่นในภาพรวมยังมีการเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากภาครัฐมีนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยส่งเสริมให้มีการใช้ยาสามัญในบัญชียาหลักแห่งชาติ และโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ตลาดยาในประเทศมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ผลิตแต่ละรายเร่งดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น การออกผลิตภัณฑ์ยาสามัญชนิดใหม่ ๆ และการปรับลดราคา เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันสูงโดยเฉพาะด้านราคา ส่งผลให้การเติบโตด้านมูลค่าไม่สูงมากนัก

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในปี 2555 คาดว่า จะมีมูลค่า 7,856.56 ล้านบาทขยายตัวจากปีก่อน ร้อยละ 16.61 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวประมาณ ร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

การขยายตัวของการส่งออก เกิดจากผู้ผลิตได้มองหาตลาดใหม่ และยังให้ความสำคัญกับตลาดเดิม คือ อาเซียน โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศเวียดนาม และเมียนมาร์ มีการขยายตัวสูง ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตไทยได้แสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่ายในประเทศดังกล่าวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน เป็นผลจากบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้โรงงานที่ร่วมทุนกับผู้ผลิตไทยเป็นฐานการผลิตและจำหน่ายยาทั้งในประเทศและส่งออก ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกส่วนหนึ่ง ยังเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ รวมทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยมีความพร้อม และได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ในการว่าจ้างผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในปี 2555 คาดว่า จะมีมูลค่า 45,246.36 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 14.03 ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกาฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยมีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศดังกล่าว กว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ ยาที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่เป็นยาต้นตำรับ สำหรับยาสามัญมีแหล่งนำเข้าจากจีน และอินเดีย ซึ่งมีราคาถูกเนื่องจากสามารถผลิตวัตถุดิบตั้งต้นได้เอง

สถานการณ์การเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อน ส่งผลให้ผู้ผลิตยาได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบทางตรงต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟูโรงงานผลิตเนื่องจากต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระบบมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ทำให้ยาบางประเภทไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนนอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญมีแนวโน้มจะเข้ามาแข่งขันในประเทศมากขึ้นจากความต้องการยาสามัญที่เพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 เห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2555 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยยารักษาโรคเป็นรายการสินค้าและบริการที่ถูกควบคุม

2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 เห็นชอบโครงการความร่วมมือในการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี ในประเทศไทย ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ

3. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 อนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันคุณภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 วงเงินทั้งสิ้น 109,718,581,300 บาทประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 108,507,461,000 บาท โดยจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ในอัตรา 2,755.60 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ตั้งในปีงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2555 และงบบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 1,211,120,300 บาท

4. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วและให้ดำเนินการต่อไปได้

5. กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการยาแลกไข่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้ยาภาคครัวเรือน ให้ประชาชนบริโภคยาตามความจำเป็น และแก้ไขปัญหาการดื้อยา ทั้งนี้ การดำเนินงานจะให้ประชาชนนำยาเก่าที่ไม่ได้ใช้ออกมาให้รัฐ เพื่อทำการคัดแยกยาที่ดีนำกลับมาใช้ใหม่ ทำลายยาที่เสื่อมสภาพ และใช้เป็นข้อมูลกำหนดแนวทางบริหารจัดการยาในอนาคต ซึ่งเป้าหมายเมื่อเสร็จสิ้นโครงการคาดว่า จะได้รับยาจากประชาชนประมาณ 20 ล้านเม็ด และสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตยา ในปี 2555 มีการขยายตัวจากปีก่อน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกผู้ผลิตเร่งทำการผลิต จากการที่ช่วงปลายปีก่อนเกิดปัญหามหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมยาได้รับความเสียหายไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ผู้ผลิตยังทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูงส่วนปริมาณการจำหน่ายมีทิศทางหดตัวลง เพราะยาที่มีสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ซึ่งเคยเป็นที่ต้องการของตลาด ถูกภาครัฐควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด สำหรับมูลค่าการส่งออก มีการขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตสามารถหาตลาดใหม่ และยังให้ความสำคัญกับตลาดเดิม นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกให้ความสนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตในประเทศ เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและจำหน่ายยาทั้งในประเทศและส่งออก ในส่วนมูลค่าการนำเข้า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยช่วงปลายปีก่อน ทำให้ยาบางประเภทไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญ มีแนวโน้มจะเข้ามาแข่งขันในประเทศมากขึ้นจากความต้องการยาสามัญที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

ในปี 2556 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ จะมีการขยายตัวจากปีก่อน เนื่องจากภาครัฐยังคงเดินหน้าควบคุมค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตของยาสามัญ เพราะมีการใช้ยาในกลุ่มนี้มากขึ้น สำหรับช่องทางการจำหน่าย ผู้ผลิตจะให้ความสำคัญกับตลาดร้านขายยามากกว่าเดิม เนื่องจากประชาชนปรับพฤติกรรมในการหาซื้อยาใช้เองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของร้านขายยาเครือข่ายเพิ่มขึ้น

สำหรับมูลค่าการนำเข้าคาดว่า จะยังคงขยายตัว จากการนำเข้ายาสิทธิบัตรที่ใช้สำหรับโรคที่ต้องการรักษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็น Medical Hub ทำให้มีชาวต่างชาติสนใจเข้ารับการรักษาตัวในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความต้องการยานำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้ายาอาจไม่ขยายตัวมากนัก เนื่องจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งแม้จะทำให้มีการนำเข้ายาสามัญมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถทดแทนมูลค่ายาต้นแบบได้ ในส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่า จะขยายตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากที่ผู้ผลิตไทยจะหาตลาดใหม่และขยายตลาดเดิมแล้ว นักลงทุนต่างชาติได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังให้ความสนใจที่จะเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตไทย เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและการตลาดยาในภูมิภาคอาเซียน รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ