สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2013 14:05 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 32.70 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเข้าสู่ฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 5.86 เป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 3.28 ตามการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนมาก ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารที่มีปริมาณการส่งออกที่ลดลง

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.70 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1)แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ 3.28 เป็นผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าซบเซา สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีนโยบายรับจำนำของภาครัฐ เป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรผลิตเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนปริมาณผลผลิตลดลงจากการเกิดโรคระบาดในมันสำปะหลัง และสถานการณ์อุทกภัย นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตทั้งปี 2555 กับปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ 15.51

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความต้องการที่ขยายตัว หลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในแหล่งเพาะเลี้ยงในช่วงปลายปีที่แล้วและต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตปี 2555 กับปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ 6.06

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตทั้งปี 2555 กับปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ 12.08 จากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรป

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 79.51 และ 10.33เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้นำเข้าหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นภายหลังราคาสินค้าได้ปรับลดลง และจากการชะลอการนำเข้าจากไตรมาสก่อน มีผลต่อสินค้าในตลาดต่างประเทศมีสต็อกน้อยลง และหากเปรียบเทียบปริมาณการผลิตทั้งปี 2555 กับปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 0.13 เป็นผลสืบเนื่องจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในประเทศผู้นำเข้า ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา จากวิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรป

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.08 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.59 เนื่องจากมีสต็อกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทั้งปี 2555ปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 8.84 สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.18และร้อยละ 0.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตนมพร้อมดื่มสามารถกลับมาผลิตได้หลังจากต้องหยุดการผลิตจากสถานการณ์อุทกภัยในปีที่ผ่านมา โดยทั้งปี 2555 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13.82 นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการชะลอการเลี้ยงกุ้งจากการเกิดโรคระบาด ทำให้มีความต้องการใช้อาหารกุ้งลดลง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.98 เนื่องจากต้องเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารสัตว์ให้สามารถรองรับการเลี้ยงไก่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยของสหภาพยุโรป ทำให้ทั้งปี 2555 ปริมาณการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 8.84

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 และ 1.55 จากไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2)ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและรายได้ที่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น จึงเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลที่มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นภายหลังจากการเกิดอุทกภัยเมื่อปีก่อน แต่ระดับราคาสินค้าซึ่งได้ปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเดือน โดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์นมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 34.16 และ 5.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลง และอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงกุ้งที่ลดลง มีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 10.78 และ 1.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เป็นสินค้าชี้วัดการหดตัวของเศรษฐกิจ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงอุทกภัยในปีก่อน กลับชะลอตัวลงร้อยละ 9.16และ 11.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารช่วงไตรมาสที่ 4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย และหากเปรียบเทียบการจำหน่ายในประเทศทั้งปี 2555 กับปีก่อน ปริมาณการจำหน่ายในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 5.69 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 215,228.80 ล้านบาท โดยลดลงร้อยละ 6.13 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากระดับราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นตามระดับราคาน้ำมัน และมูลค่าการส่งออกมีการชะลอตัวในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำตาลทราย และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักบางแห่งเริ่มมีสัญญาณที่ฟื้นตัว ยกเว้นประเทศในสหภาพยุโรปที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2555 มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.00 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 65,714.32 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.92 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลกระป๋องและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 3.13เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง สำหรับการส่งออกทั้งปี 2555 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.47 เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ ปลาทูน่ากระป๋องทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน ประกอบกับราคากุ้งไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามนอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วงปลายปีมีน้อยลงเป็นผลจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเลี้ยงกุ้ง

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 22,472.87 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 31.52 และ 7.93 จากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกลดลงร้อยละ 3.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีการส่งออกในรูปผลไม้กระป๋องและแปรรูปสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในหลายสินค้า เช่น เงาะ ลิ้นจี่ และลำไย ประกอบกับผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูปและอบแห้งส่งออกขยายตัวในหลายสินค้า ทำให้ภาพรวมการส่งออกของกลุ่มผักผลไม้ในปี 2555 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเพียงร้อยละ 3.35

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 21,739.19 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.08 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 19.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากไก่ขยายตัวทั้งไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง และไก่แปรรูปจากการนำเข้าเพิ่มขึ้นของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.22 ทั้งนี้เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของสหภาพยุโรป

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 77,849.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.45 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.30 และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการส่งออกไปประเทศจีนได้เพิ่มขึ้น หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.45 เช่นกัน แต่สำหรับมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 14.16 เป็นผลมาจากการส่งออกข้าวที่มีปริมาณและมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ประกอบกับประเทศอินเดียกลับมาส่งออกข้าวทดแทนตลาดไทยที่เคยส่งออกหลังจากเกิดภัยธรรมชาติในหลายปีก่อน

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 11,609.21 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 60.54 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าส่งออกของไทยลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่า มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 28.23 สำหรับมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.56 จากราคาโดยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะราคาน้ำตาลในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่มาชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3-4

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 15,843.35 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.08 จากไตรมาสก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และซุปและอาหารปรุงแต่ง สำหรับมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.62

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม 96,323.33 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.59 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็ง ลดลงร้อยละ 55.05 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.03จากการนำเข้ากากพืชน้ำมัน รวมถึงเมล็ดพืชน้ำมันเพิ่มขึ้น ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าทั้งปี 2555 เทียบกับปีก่อน มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 39.51 เป็นผลจากราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ในลักษณะการรับจำนำผลผลิต และการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 เห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2556 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยนโยบายและมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสาระสำคัญ เพื่อกำหนดกรอบการนำเข้าจากพันธกรณีการค้าตามกรอบต่างๆ ในลักษณะปีต่อปี ทั้งนี้ได้กำหนดช่วงเวลานำเข้าและให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้บริหารการนำเข้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการนำเข้าตามช่วงเวลาที่กำหนดประกอบกับยังเป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามการนำเข้าและกำหนดมาตรการเข้มงวดต่อการลักลอบการนำเข้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรในประเทศในช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาด

2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เห็นชอบการขออนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 2555 เพิ่มเติม ในอัตราภาษีร้อยละ 5 จำนวน 6,840.36 ตันสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 ที่ได้รับโควตาไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยจัดสรรให้กับผู้ประกอบการที่ขอหนังสือรับรองนำเข้าตามโควตาเดิมจากกรมการค้าต่างประเทศแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป ซึ่งต้องนำเข้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และต้องไม่กระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ให้พิจารณาว่าขัดกับข้อตกลงและพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่ ควรทบทวนการจัดสรรโควตาในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ของภาคเอกชนและในระยะยาวควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์นมตลอดจนส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปจากน้ำนมดิบในประเทศให้มากขึ้น

3. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เห็นชอบโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2555/56 โดยกำหนดเป้าหมายการรับจำนำมันสำปะหลัง 10ล้านตัน กรอบวงเงิน 410,000 ล้านบาท ทั้งนี้สามารถปรับเพิ่มขึ้น-ลดลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยให้เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2555 — 31 มีนาคม 2556 สำหรับราคารับจำนำให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังกำหนดไว้ (ราคารับจำนำหัวมันสดที่มีเชื้อแป้งร้อยละ 25 ในเดือนธันวาคม 2555 กำหนดไว้กิโลกรัมละ 2.60 บาท)โดยมอบให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณสต็อกผลิตภัณฑ์แผนการระบายสต็อก และร่วมกับกระทรวงพลังงานจัดทำแผนการใช้มันสำปะหลังในการผลิตเอทานอล และแผนการส่งออกเอทานอล เพื่อลดภาระจำนำของรัฐ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นรายไตรมาสในลักษณะเดียวกับการดำเนินการเรื่อง ข้าว

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ของการผลิต ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากผลกระทบระดับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่อัดเงินเข้าระบบส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักซบเซาจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือน้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จากการคาดการณ์ว่าประเทศอินเดียและบราซิล ประสบปัญหาผลผลิตน้ำตาลลดลงจากภัยธรรมชาติ และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้ลดลง ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวในช่วงต้นไตรมาส กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงท้ายของปีส่วนการผลิตของไทยคาดว่าจะได้รับกระทบจากภัยแล้งทำให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบแย่ลง ส่งผลต่อระดับน้ำตาลทรายที่จะผลิตได้ลดลง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ สินค้าไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลจากการชะลอการนำเข้าจากจีนในช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้กลับมาสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มพืชน้ำมัน เนื่องจากสต็อกมีปริมาณสูงมาก ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการลดลง ทำให้ราคาลดลงเป็นอย่างมากจนทำให้ผู้ผลิตสำคัญ เช่น มาเลเซีย ต้องปรับอัตราภาษีส่งออกในลักษณะเดียวกับอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ไทยส่งออกได้ยากขึ้นจากราคาที่สูงกว่า

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556คาดว่า ทิศทางการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวได้จากการปรับขึ้นค่าแรง ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก ที่คาดว่าจะปรับชะลอตัวลง เนื่องจากค่าเงินบาทที่มักจะแข็งค่ารุนแรงกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยและเอเชียมาก จากประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียปรับแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการค้าของไทยยังผูกกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกามากกว่าเงินสกุลอื่น อย่างไรก็ตาม การลดลงของปริมาณวัตถุดิบในพื้นที่บางแห่งที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และโรคระบาด รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ยังประสบปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศ ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ อาจทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ