สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2013 16:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 1 ปี 2556 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศยังคงขยายตัว ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2556 อยู่ที่ 108.36 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 อยู่ที่ 116.00 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงผันผวน โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2556) อยู่ที่ 96.62 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งส่งผลต่อความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันดิบโลก

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 18.9 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ที่หดตัวร้อยละ 9.0 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 คือ การเพิ่มขึ้นของทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทยานยนต์เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งหมวดสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และ บริการ ส่วนการลงทุนขยายตัวทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ สำหรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการปรับตัวเร่งขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 37.4ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ที่หดตัวร้อยละ 21.8 โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปี ที่แล้ว เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสไดรฟ์ การผลิตกลับสู่ภาวะปกติโดยเฉพาะยานยนต์เร่งการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ภายในประเทศ จากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิต

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 การส่งออกมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2555 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 121,844.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 56,966.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 64,877.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 นั้นมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.38 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.22 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ดุลการค้าขาดดุล 7,911.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.26 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลง ส่วนมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.44

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 20,668.22 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า -1,682.57 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 22,350.79 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 5,074.68 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการลงทุน สุทธิ 20,065.75 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 12.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 580 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 514 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 271,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 242 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 86,300 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 139 โครงการ เป็นเงินลงทุน 118,600 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 199 โครงการ เป็นเงินลงทุน 66,300 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 80,100 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 67,800 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติกมีเงินลงทุน 42,300 ล้านบาท สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 205 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน88,518 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 9 โครงการ มีเงินลงทุน 23,120 ล้านบาท ประเทศฮ่องกงมีจำนวน 21 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน20,140 ล้านบาท และประเทศจีนมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 10 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 16,131 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.99 เนื่องจาก การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ สำหรับเหล็กแผ่นรีดร้อน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.31 ซึ่งสาเหตุที่การเปลี่ยนแปลงการผลิตเหล็กชนิดนี้เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศใช้มาตรการปกป้องชั่วคราวจากการนำเข้า สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2556 (Safeguard)เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลง และผู้ใช้หันมาใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไตรมาสที่ 2 ปี 2556 คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กปรับตัวสูงขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการขยายการผลิตเนื่องจากมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ซึ่งถึงแม้จะ สิ้นสุดระยะเวลาแล้วแต่ก็ยังมีรถยนต์ที่ยังรอการส่งมอบอีก และอุตสาหกรรมก่อสร้างจากการที่โครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ขยายตัวอยู่ สำหรับแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากประเทศจีนยังคงมีการผลิตส่วนเกินเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ นอกจากนี้ ราคาสินแร่เหล็กก็มีแนวโน้มลดลงด้วยซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มของราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง

ยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2556 มีปริมาณการผลิตขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการมีการเร่งการผลิตรถยนต์ตอบสนองต่อความต้องการรถยนต์ของผู้บริโภคภายในประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการรถยนต์จากหลากหลายค่ายมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับการส่งออกรถยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนียแอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

อุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่สองของปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่าในไตรมาสที่สองปี 2556 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 6 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายใน ประเทศ ประมาณร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 45-50 เนื่องจากมีการเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่มียอดตกค้างจากนโยบายรถยนต์คันแรก รวมทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุน ซึ่งได้แก่ การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาสที่ 1/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 262.17 ลดลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง 2.32 โดยมาจากลุ่ม HDD ,Semiconductor devices Transistor ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.67 โดยมาจากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านประเภททำความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศคอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น ซึ่งเป็นผลจากฤดูกาลและภาวะอากาศที่ค่อนข้างร้อนทำให้ตลาดมีความต้องการในไตรมาสนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 4.47 ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.24 โดยเป็นการลดลงเกือบทุกรายการสินค้า

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 คาดว่าการผลิตค่อนข้างทรงตัวโดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ซึ่งมาจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม เครื่องปรับอากาศที่ จะมีการขยายตัวได้มากถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก

เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 1 โดยภาพรวมอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักในประเทศมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จึงส่งผลให้มีความต้องการใช้เคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับตลาดมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวมากกว่า 8% จะทำให้มีการลงทุนและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ส่งผลให้มีความต้องการเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 1 ปี 2556 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 1.81 และ 6.23 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ดังตารางที่ 1 และ2) ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวของทุกประเทศ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ยังรุนแรง และปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชีย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จากเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าออก ของไทยลดลง

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกในปี 2556 ประเทศไทยต้องตระหนักในเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทเนื่องจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และกระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติกด้วยเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) ให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศ

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยโดยเฉพาะประเทศจีนมีความต้องการผลิตภัณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ เบนซีน และพาราไซลีนเพิ่มขึ้น จากการขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศ

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2556 คาดว่าอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2555 คาดว่าในปี 2556 มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และมูลค่าการนำเข้าจะหดตัวลง เมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมา จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน และประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล จะส่งผลให้ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมพลาสติก มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษโดยรวมของไตรมาส 1 ปี 2556 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งส่งมอบสินค้าในไตรมาสก่อนเพื่อรองรับเทศกาลปลายปี ประกอบกับกำลังซื้อในภาคธุรกิจ และภาคประชาชนชะลอตัวตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น และมีการนำเข้ากระดาษบางประเภทซึ่งมีราคาสินค้าต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้น

ภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2556 คาดว่า การผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม จะชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจและมีทิศทางเดียวกันกับไตรมาสที่ 1 สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษและสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการนำเข้าเยื่อกระดาษ มีแนวโน้มขยายตัวแม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษยังคงเป็นที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและการออกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 43.14 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.70 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.44และ 6.92 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 1) ซึ่งการผลิตเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศที่เป็นช่วงฤดูกาลขายและการขยายตัวของตลาดส่งออก สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในภาพรวมไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลดเหมือนปีก่อน โดยการผลิต กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ลดลง ร้อยละ 1.84 การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลง นอกจากนี้ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้า การขาดแคลนช่างฝีมือในการปูพื้น และการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซื้อรถยนต์คันแรก โดยชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไป อาจส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเซรามิกไม่สามารถขยายตัวได้มาก

ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสแรกของปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และในภาพรวมทั้งปี คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาระบบขนส่ง และโครงการจัดการน้ำ

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลให้การก่อสร้างในโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนต้องชะลอตัวลง

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มสิ่งทอ การผลิต การส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอในไตรมาส 1 ปี 2556เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเอเซียและอาเซียน โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น จีนอินโดนีเซีย เวียดนาม และ บังคลาเทศ ส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกิด วิกฤตน้ำท่วมทำให้ฐานการผลิตต่ำ ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ผลิตจากผ้าทอลดลง เนื่องจาก คำสั่งซื้อของกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักลดลง อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น จากจีน เวียดนาม และ บังคลาเทศ ในรูปเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกสำหรับตลาดระดับล่าง

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไตรมาส 2 ปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวได้ในส่วนของเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน เพื่อสนองความต้องการโดยเฉพาะผู้ผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจชะลอตัว จากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ผู้ประกอบการจะต้องเน้นกลยุทธ์การเจรจาต่อรองราคา เพื่อให้สามารถรองรับความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงิน ประกอบกับยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ก่อนแล้วจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก อาจส่งผลให้การส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมอยู่ในระดับที่ทรงตัว

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 ลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการผลิต และจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังและชะลอการใช้จ่ายออกไป

การผลิตและจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัว จากผลกระทบของต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรง อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีแนวโน้มลงทุนเพื่อปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อทดแทนผลกระทบจากค่าแรงและจากการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า จะทำให้ความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ยา ปริมาณการผลิตยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ผลิตเร่งทำการผลิตหลังปัญหามหาอุทกภัยคลี่คลายลง นอกจากนี้ผู้ผลิตที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเริ่มให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มากขึ้น และลดปริมาณการผลิตยาที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำลง สำหรับการจำหน่ายมีปริมาณลดลงเช่นกันเนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ได้สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตที่ไม่ได้รับผลกระทบและมีสินค้าคงคลังเพียงพอ สามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้สินค้าใหม่ที่มูลค่าเพิ่มสูง ยังอยู่ในช่วงเริ่มออกจำหน่าย ซึ่งต้องใช้เวลาในการยอมรับ ส่วนสินค้าเดิมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตลง

สถานการณ์การผลิตและการจำหน่ายอุตสาหกรรมยาในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คาดว่า อุตสาหกรรมยาจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสินค้าใหม่ที่ออกสู่ตลาด น่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มจะขยายตัวเช่นกัน จากการที่ผู้ผลิตเริ่มให้ความสำคัญกับการส่งออก เนื่องจากเกิดความตระหนักว่าการขยายตลาดให้กว้างขึ้น จะช่วยทำให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้นตามที่ภาครัฐกำหนด สำหรับการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวเช่นกันเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงใกล้ปลายปีงบประมาณ ซึ่งสถานพยาบาลภาครัฐจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของทุกปี

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจาก กระแสวิตกกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย และเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของ

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง คือประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมี ความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มการผลิตรองเท้า และการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ตามการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดเบาะหนังรถยนต์ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์หนังในประเทศ รวมถึงความต้องการสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดในตลาดเอเซีย และกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นคู่แข่งสำคัญขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา และรองเท้าหนังเพิ่มมากขึ้น สำหรับการผลิตในกลุ่มกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณสินค้าคงค้างในสต๊อกมีจำนวนมาก

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556คาดว่า การผลิตในกลุ่มสำคัญ ได้แก่ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก และการผลิตรองเท้า จะยังขยายตัวได้เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเอเซีย และอาเซียน ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรปที่ยังชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อการส่งออกในกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องหนังและรองเท้าสามารถนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้าปลายน้ำที่ได้คุณภาพและมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงโดยเปรียบเทียบ

อัญมณีและเครื่องประดับ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป)เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมลดลงร้อยละ 12.01เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงถึงร้อยละ 41.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สำหรับปัจจัยค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ จะส่งผลทั้งด้านบวก คือ ทำให้ราคาวัตถุดิบในการนำเข้าถูกลง ส่วนผลด้านลบ คือ ทำให้ราคาสินค้าในการส่งออกแพงขึ้น

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน

อาหาร ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 90.32 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเข้าสู่ฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลและหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.57 แต่หาก เปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิตน้ำตาล มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.53 เป็นผลจากการกลับมาผลิตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ที่ต้องหยุดผลิตจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปีก่อน

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น จากการผลิตน้ำตาลที่เลื่อนผลิตจากช่วงไตรมาสแรก แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลการผลิตอาจปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ