สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 1 ปี 2556 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการกักเก็บสำรองวัตถุดิบช่วงวันหยุดยาวรวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตในตะวันออกกลาง

การผลิต

การผลิตในประเทศมีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงงานผลิตอะคริโลไนไตรล์ (ACN)เมธิลเมธาคริเลต (MMA) และแอมโมเนียมซัลเฟต (AMS) ขนาดกำลังการผลิต 200,000 70,000 และ 160,000 ตัน/ปี ตามลำดับ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยเป็นการร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ACN เป็นส่วนผสมในการทำ ABS เส้นใยอะคริลิกส์, MMA ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตแผ่น อะคริลิกส์ (ป้ายโฆษณา หลังคา) ส่วน AMS ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตปุ๋ย

นอกจากนี้ การผลิตในประเทศมีโครงการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในการก่อสร้างโรงงานผลิตคลอริเนเตด พอลิไวนิลคลอไรด์ (Clorinated polyvinyl Chloride; CPVA) ในประเทศไทย กำลังการผลิต 30,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการระยะแรกปลายปี 2557 และมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในระยะที่ 2 กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 60,000 ตัน/ปี ในปี 2559

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ มีแผนการลงทุนก่อสร้างโรงกลั่นขนาดใหญ่ พร้อมทั้งกลุ่มโรงงาน ปิโตรเคมีในประเทศเวียดนาม ที่มีกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ และโอเลฟินส์ 3,700,000 และ 6,500,000 ตัน/ปี ตามลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นได้เบื้องต้น นอกจากนี้ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับผู้ผลิตในประเทศอินโดนีเซียเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเห็นว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของประเทศอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวสูงมากตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศการค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 77,230.97 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2555 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 102.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2555 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญคือความต้องการของประเทศผู้ใช้ปลายทางโดยเฉพาะจีนมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการขยายกำลังการผลิตโรงงานปิโตรเคมีขั้นปลายทำให้วัตถุดิบในประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในไตรมาสที่ 1ของปี 2556 มีมูลค่ารวม 22,189.55 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 19.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 27.22 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้นได้

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีราคาเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ประมาณ 39.16 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ 43.98 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาของทั้งสองผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2556 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE, และ PP มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 44.04, 44.43, 45.83 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ PE มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วน PP มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยโดยเฉพาะประเทศจีนมีความต้องการผลิตภัณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ เบนซีน และพาราไซลีนเพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศ

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงซึ่งคาดว่าเกิดจากตลาดในประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว รวมถึงผู้ผลิตในประเทศสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้เองจึงลดการพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ลง

แนวโน้ม

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2556 คาดว่าอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2555 คาดว่าในปี 2556 มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและมูลค่าการนำเข้าจะหดตัวลง เมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน และประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล จะส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อย่างไรก็ตามปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่ยืดเยื้อและลุกลามไปยังประเทศสมาชิกต่างๆ ในอียู และการแข็งค่าของสกุลเงินบาทจะกระทบตลาดส่งออกและภาคการส่งออกของไทย ซึ่งอุตสาหกรรมจะต้องจับตามองอย่าง ใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวางแผนและกำหนดมาตรการรับมือได้อย่างถูกต้องและทันการณ์

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ