สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 16:04 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มการผลิตรองเท้าและการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ตามการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดเบาะหนังรถยนต์ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์และเฟอร์นิเจอร์หนังในประเทศประกอบกับความต้องการสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดในตลาดเอเซีย และกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นคู่แข่งสำคัญขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา และรองเท้าหนังเพิ่มมากขึ้น

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังจำแนกได้ ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.62 และ 1.83 ตามลำดับ โดยดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น เช่นกัน ร้อยละ 1.36 และ 0.92 ตามลำดับ ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10 และ 2.20 ตามลำดับ

2. การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 4.30 และ 11.25 ตามลำดับ โดยดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงในทิศทางเดียวกัน ร้อยละ 7.71 และ 10.73 ตามลำดับ เป็นผลจากการที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 16.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

3. การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.15 และ 14.22 ตามลำดับ มีผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 7.06 และ 20.81 ตามลำดับ ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 20.05 แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.98 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ น้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ทำให้โรงงานผลิตรองเท้าต่างชาติรายใหญ่ในประเทศไทยถูกน้ำท่วมไม่ สามารถทำการผลิตเพื่อส่งออกได้ มีผลให้ฐานดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ที่ใช้เปรียบเทียบต่ำกว่า

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 418.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 4.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 169.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 155.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.66 ซึ่งป็นผลจากการส่งออกในทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หนังโค กระบือฟอกถุงมือหนัง ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด และหนังและผลิตภัณฑ์ หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.85 22.43 15.51 1.70 และ 3.09 ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มีมูลค่า 150.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทหนังโคกระบือฟอกขยายตัว ร้อยละ 5.27 หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัว ร้อยละ 26.03 และถุงมือหนังขยายตัว ร้อยละ 0.62 ตามความต้องการในกลุ่มประเทศเอเซียและอาเซียน สำหรับผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงและเครื่องแต่งกายและเข็มขัด มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 6.02 และ 24.37 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและ ผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ฮ่องกง เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 15.11 14.58 14.27 และ 10.49 ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าส่งออก 74.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 74.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.44 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.82 3.60 และ 0.38 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าใส่เศษสตางค์ มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง มีมูลค่า 71.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.46 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.67 13.85 และ 33.03 ตามลำดับ สำหรับเครื่องเดินทางอื่น ๆ มีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 23.45 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทางในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ มีสัดส่วนร้อยละ 27.13 13.86 7.86 และ 5.91 ตามลำดับ

3. รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 175.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 174.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้าแตะขยายตัวถึงร้อยละ 34.26 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และคูเวต และกลุ่มอาฟริกา ได้แก่ ลิเบีย และยูกันดา สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าอื่น ๆ เช่น รองเท้าเซฟตี้ รองเท้าดำน้ำ เป็นต้น และส่วนประกอบรองเท้าลดลง ร้อยละ 7.39 4.64 5.53 และ 22.68 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน มีมูลค่า 177.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.03 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกในผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้าลดลง ร้อยละ 28.78 3.87 2.39 และ 81.25 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้าหนังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.02 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก โดยตลาดคู่ค้าสำคัญ ของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วนในไตรมาสนี้ คือ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 14.83 7.53 และ 3.97 ตามลำดับ

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 314.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 18.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอก ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 167.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการนำเข้า 179.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.52 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.24 เพื่อนำมาผลิตสินค้าปลายน้ำภายในประเทศ เช่น รองเท้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์หนัง และเบาะหนัง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และช่วงการจัดงานแสดงเฟอร์นิเจอร์ของประเทศ รวมถึงการฟอกหนังเพื่อการส่งออก โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและ หนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น มีสัดส่วนร้อยละ 10.49 10.01 8.58 และ 6.95 ตามลำดับ

2. กระเป๋า ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 80.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการนำเข้า 80.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.23 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.14 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ และกระเป๋าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี ฝรั่งเศส และเวียดนาม มีสัดส่วนร้อยละ 49.51 18.88 16.74และ 2.16 ตามลำดับ

3. รองเท้า ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 66.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการนำเข้า 54.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.05 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้ารองเท้าเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 20.14 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้าหนัง รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก รองเท้ากีฬา และรองเท้าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม อิตาลี และอินโดนีเซียมีสัดส่วนร้อยละ 54.81 12.99 8.83 และ 7.59 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ทั่วประเทศ เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ส่งผลให้ผู้ประกอบการรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ต้องปรับตัวทั้งกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาดเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของ อุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

2. นโยบายรถคันแรกของภาครัฐที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ยังส่งมอบรถยนต์ไม่แล้วเสร็จ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2556 จึงยังส่งผลต่อความต้องการใช้หนังฟอกในชิ้นส่วนของรถยนต์อย่างต่อเนื่อง

3. ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยการจัดงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง ปี 2556 (BIFF&BIL 2013) ในช่วงไตรมาสที่1 ปี 2556 เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยในการขยาย ตลาดเดิมและแสวงหาตลาดใหม่ ๆ รวมถึงเป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มการผลิตรองเท้า และการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ตามการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดเบาะหนังรถยนต์ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์หนังในประเทศ รวมถึงความต้องการสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดในตลาดเอเซีย และกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นคู่แข่งสำคัญขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา และรองเท้าหนังเพิ่มมากขึ้น สำหรับการผลิตในกลุ่มกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณสินค้าคงค้างในสต๊อกมีจำนวนมาก

การส่งออก ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก และหนังอัด และกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าในกลุ่มเอเซีย ได้แก่ จีน ที่นำเข้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไปผลิต สินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น และกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย มีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกในกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วนเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก

การนำเข้า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะหนังดิบและหนังฟอก เพื่อนำมาผลิตสินค้าปลายน้ำภายในประเทศ และการฟอกหนังเพื่อส่งออกในตลาดเอเซีย และกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ผลจากการแข็งค่าของเงินบาทมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป ทั้งราคาต่ำและแบรนด์เนมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าและรองเท้า มีมูลค่าการนำเข้าสูงขึ้น

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 คาดว่า การผลิตในกลุ่มสำคัญ ได้แก่ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก และการผลิตรองเท้า จะยังขยายตัวได้เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเอเซีย และอาเซียน ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป ที่ยังชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อการส่งออกในกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องหนังและรองเท้าสามารถนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้าปลายน้ำที่ได้คุณภาพและมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงโดยเปรียบเทียบ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ