สศอ.ชี้อุตฯ ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรไม่เต็มที่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 19, 2013 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุผู้นำเข้าและส่งออกไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียนไม่เต็มที่ ทำให้ขาดโอกาสในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน รวมทั้งการประหยัดต้นทุนทางด้านภาษีในกรณีนำวัตถุดิบเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากรของผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2555 พบว่าสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย โดยสินค้าส่งออกมีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ในระดับร้อยละ 35 สำหรับการส่งออกทั้งหมดที่ไปยังตลาดอาเซียน และร้อยละ 53 สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศอาเซียน และอุตสาหกรรมที่ใช้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมๆ คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเคมีภัณฑ์

ข้อมูลปี 2555 แสดงให้เห็นว่าผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยสามารถประหยัดภาษีนำเข้าประเทศคู่ค้าได้ถึง 72,927 ล้านบาท โดยลดลงจากปีที่แล้วกว่า 2,652 ล้านบาท ทำให้สินค้าไทยที่ขายในตลาดอาเซียนมีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรเหนือสินค้าจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนกว่าร้อยละ 4 อย่างไรก็ตามหากผู้ส่งออกไทยสามารถผลักดันในผู้นำเข้าในประเทศคู่ค้าใช้สิทธิประโยชน์นี้มากขึ้นก็จะสามารถประหยัดภาษีนำเข้าไปกว่า 165,855 ล้านบาท สินค้าส่งออกไทยที่มีใช้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรภายใต้อาเซียนมากที่สุด คือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร เคมีภัณฑ์ และสินค้าต่อเนื่องการเกษตร

สำหรับสินค้านำเข้าไทยจากกลุ่มอาเซียนมีการใช้สิทธิประโยชน์กว่าร้อยละ 53 ทำให้สามารถประหยัดภาษีนำเข้า 39,917 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2554 ร่วม 6,208 ล้านบาท ซึ่งการประหยัดภาษีนำเข้านี้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลดต้นทุนได้ลงกว่าร้อยละ 4.4 โดยสินค้านำเข้าที่ใช้สิทธิประโยชน์การค้าเสรีมาก คือ อาหาร ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ และหากผู้นำเข้าไทยใช้สิทธิประโยชน์ทุกรายการสินค้าที่นำเข้าจากอาเซียนแล้วก็จะสามารถประหยัดภาษีนำเข้าได้ถึง 52,204 ล้านบาท

ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมที่ใช้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากร กรอบการค้าเสรีอาเซียนมักเป็นรายการสินค้าที่มีอัตราภาษีศุลกากรปกติในอัตราสูง และเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นธุรกิจระหว่างประเทศที่มีเครือข่ายธุรกิจอยู่ในหลายประเทศในอาเซียน ส่วนรายการสินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรต่ำ อาทิ สิ่งทอ เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ พบว่าอัตราภาษีศุลกากรของสินค้าเหล่านี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว ทำให้ผู้ส่งออกหรือนำเข้าไม่อยากเสียเวลาในการจัดทำเอกสารขออนุญาตและในกระบวนการขออนุญาตนี้ผู้ขอต้องเปิดเผยข้อมูลด้านราคาและต้นทุนการผลิตเพื่อตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าว่าเป็นสินค้าอาเซียนหรือไม่

“อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการในต่างจังหวัดอาจไม่ได้รับข่าวสารหรือข้อมูลที่ทั่วถึง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ เป็นแหล่งประสาน และให้ความรู้ ข้อมูล ต่างๆ แก่ SMEs ในต่างจังหวัดเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์นี้มากขึ้น” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าว

การใช้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรกรอบการค้าเสรีอาเซียนของไทย
รายการ                    การใช้สิทธิประโยชน์                      ภาษีที่ประหยัดได้หากใช้สิทธิประโยชน์ทั้งหมด

ภาษีที่ประหยัดได้ (ล้านบาท) ร้อยละการใช้สิทธิประโยชน์

ส่งออก           72,927                     37                              165,855
นำเข้า           39,917                     53                               52,204

การใช้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่งออก
อุตสาหกรรม        ภาษีศุลกากรในประเทศลูกค้า             ภาษีศุลกากรที่สามารถประหยัด
                    ที่สามารถประหยัดได้              หากใช้สิทธิประโยชน์ เต็มทุกรายการ
ยานยนต์                  33,848                            59,841
อาหาร                   15,889                            34,966
พลาสติก                   9,400                            15,224
เกษตร                    8,317                            12,638
เครื่องจักรกล               7,584                            15,657
อื่นๆ                      6,206                            27,529
รวม                     72,927                           165,855

การใช้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้า
อุตสาหกรรม        ภาษีศุลกากรในประเทศลูกค้า             ภาษีศุลกากรที่สามารถประหยัด
                    ที่สามารถประหยัดได้              หากใช้สิทธิประโยชน์ เต็มทุกรายการ
ยานยนต์                   7,600                             8,666
ชิ้นส่วนยานยนต์              7,470                            10,128
อิเล็กทรอนิกส์               3,306                             4,448
เคมีภัณฑ์                   2,842                             3,140
อื่นๆ                     18,699                            25,822
รวม                     39,917                            52,204

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ