รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 17, 2013 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคม 2556
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2556 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ร้อยละ10.0แต่ลดลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูปชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.2 ในเดือนเมษายน 2556
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมิถุนายน 2556
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
  • การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป
  • สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย ตามปริมาณการผลิตที่จะลดลงประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะทำให้บริษัทผู้ผลิตยังคงสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมิถุนายน 2556 ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังไม่ฟื้นตัว และมีสัญญาณการชะลอตัวของการนำเข้าส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแสดงว่าการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตจะยังไม่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

เม.ย. 56 = 159.2

พ.ค. 56 = 175.1

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • Hard Disk Drive
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

เม.ย. 56 = 60.2

พ.ค. 56 = 65.8

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • ลวดเชื่อมไฟฟ้า สกรู น็อต
  • เส้นใยสิ่งทอ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2556 มีค่า 175.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 (159.2) ร้อยละ 10.0 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2555 (189.9) ร้อยละ 7.8

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2556 ได้แก่ ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป Hard Disk Drive เครื่องประดับเพชรพลอย เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 (ร้อยละ 60.2) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2555 (ร้อยละ 69.3)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ได้แก่ ยานยนต์ ลวดเชื่อมไฟฟ้า สกรู น็อต เส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง Hard Disk Drive อาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2556

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2556 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 358 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 361 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ0.83 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 30,198.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการลงทุน 29,190.48 ล้านบาท ร้อยละ 3.45 และมีการจ้างงานจำนวน 8,821 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,765 คน ร้อยละ 13.60

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 344 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 4.07 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการลงทุน 6,009.37 ล้านบาท ร้อยละ 402.53 แต่มีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,063 คน ร้อยละ 2.67

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2556 คืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ และส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือน จากไม้จำนวน 29 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้างจำนวน 24 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2556 คืออุตสาหกรรม ผลิตส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 10,269.45 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตและประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องมือและอุปกรณ์จำนวนเงินทุน 4,725.25 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2556 คืออุตสาหกรรม ผลิตและประกอบแผงวงจรอิเล็คทรอนิคส์ จำนวนคนงาน 1,831 คนรองลงมาคือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์และพ่นสีรถยนต์ จำนวนคนงาน 390 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2556 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 110 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 63 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.6 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,677.45 ล้านบาท มากกว่าเดือนเมษายน 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 233.93 ล้านบาท แต่มีการเลิก จ้างงาน จำนวน 2,645 คน น้อยกว่าเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,881 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 86 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 27.91 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,542.86 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2555 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,432 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำ นวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2556 คืออุตสาหกรรมซ่อมแซมรถยนต์ จำนวน 10 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 8 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2556 คืออุตสาหกรรมทำกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษใช้ในการก่อสร้าง แผ่นกระดาษไฟเบอร์เงินทุน 500 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์เงินทุน 239.06 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2556คือ อุตสาหกรรมทำกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษใช้ในการก่อสร้าง แผ่นกระดาษไฟเบอร์จำนวนคนงาน 514 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์จำนวนคนงาน 280 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 919 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 779 โครงการ ร้อยละ 17.97และมีเงินลงทุน 564,800 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 330,900 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 70.69

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2556
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%              354                       166,800
          2.โครงการต่างชาติ 100%             334                       102,300
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       231                       295,800
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2556 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 260,100 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 136,100 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากการที่ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับการจับจ่ายใช้สอย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำ คัญ (ไม่รวมน้ำ ตาล) เดือนพฤษภาคม 2556 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 12.5 แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.8 ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 26.9 จากคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มดี และราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับตัวลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในเดือนก่อนและหากพิจารณาสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเช่น กุ้ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 63.3 เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ส่งผลให้ต้องพักบ่อเพื่อกักกันโรค ซึ่งทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานลดลงกลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.1 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 304.1 เป็นผลจากซ่อมบำรุงและชะลอผลิตในเดือนก่อน ส่วนอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลง เนื่องจากมีการชะลอการเลี้ยงไก่และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2556 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 17.8 และ 2.6 ตามลำดับ

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2556 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 11.6 แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.1 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า และระดับราคาสินค้าหลายอย่างในตลาดโลกปรับตัวลดลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากข่าวการปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลทางจิตวิทยาไปยังเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา ทำให้แนวโน้มของคำสั่งซื้อปรับชะลอตัวลง แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงสำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลง จากการที่ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับการจับจ่ายใช้สอย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัวจากคำสั่งซื้อทั้งจากตลาดเอเซีย และอาเซียน เพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปตลาดอื่น ๆ...”

1. การผลิต

การผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ผ้าลูกไม้ และสิ่งทออื่น ๆ (ยางยืด)ร้อยละ 8.3 10.0 6.9 7.0 และ 22.7 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และผ้าลูกไม้ ลดลงร้อยละ 4.6 4.0 และ 2.6 ตามลำดับ ในขณะที่เส้นใยสิ่งทอ และสิ่งทออื่น ๆ (ยางยืด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 และ 24.5 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูป ประกอบกับมีคำสั่งซื้อทั้งจากตลาดเอเซีย และอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย ส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มสูงขึ้น

  • การผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และ 15.5 ตามลำดับ จากความต้องการบริโภคในประเทศโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากผ้าทอ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลงร้อยละ 10.4 และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลงร้อยละ 7.1 เป็นผลจากคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ลดลง

2. การจำหน่าย

  • ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ยกเว้นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักลดลงร้อยละ 3.4 ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการส่งออกเป็นหลัก
  • มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และ 29.1 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มูลค่าของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ในขณะที่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ลดลงร้อยละ 1.8 เนื่องจากคำสั่งซื้อชะลอตัวจากความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

3. แนวโน้ม

  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัวจากคำสั่งซื้อทั้งจากตลาดเอเซีย และอาเซียน เพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปตลาดอื่น ๆ
  • การผลิต การจำหน่าย และการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังชะลอตัว อาจส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลง
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามาเลเซีย (MISIF) แสดงความเห็นว่า ผู้ผลิตภายในประเทศจำเป็นต้องควบรวมกิจการกัน (M&A) เพื่อสร้างบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขนาด 5 ล้านตันต่อปีในแต่ละแห่ง ทั้งนี้ เนื่องจาก โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กของมาเลเซียตั้งกระจัดกระจาย ซึ่งหากสามารถควบรวมกันได้ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเหล็กในมาเลเซียได้

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 126.88 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.09 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.91 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.49 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.61 เนื่องจากการกลับมาผลิตของผู้ผลิต 1 โรงงาน ซึ่งได้กลับมาผลิตและจำหน่ายอีกครั้งหลังจากได้หยุดดำเนินการไปสักพักหลังจากประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่าผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.23 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.33 และลวดเหล็กแรงดึงสูง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.66 โดยเป็นการกลับมาผลิตเพิ่มเพื่อรักษาระดับปริมาณสินค้าให้คงเดิมหลังจากยอดการผลิตลดลงไปเนื่องจากวันหยุดเทศกาลสงกรานต์เมื่อเดือนก่อน ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.44 โดยเหล็กทรงยาวมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.79 และเหล็กทรงแบนมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.86

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกชนิดมีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง โดยเหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 111.62 เป็น 104.65 ลดลง ร้อยละ 6.24 เหล็กแผ่นรีดเย็นลดลงจาก 125.23 เป็น117.75 ลดลง ร้อยละ 5.97 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 115.79 เป็น 110.56 ลดลง ร้อยละ 4.52 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 121.22 เป็น 117.88 ลดลง ร้อยละ 2.76 เหล็กเส้น ลดลงจาก 121.80 เป็น 120.21 ลดลงร้อยละ 1.31 เนื่องจากความต้องการจากหลายภูมิภาคของโลกลดลง เช่น ประเทศจีน เนื่องจากปริมาณการใช้เหล็กสำหรับงานก่อสร้างยังคงตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีรายงานการใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 300 เมืองของจีน อยู่ที่ 25.6 ล้านตารางเมตร ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน นอกจากนี้ เป็นผลมาจากการลงทุนที่ชะลอตัวและโครงการก่อสร้างรางรถไฟที่ล่าช้า อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านการเงิน

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนมิถุนายน 2556 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการผลิตทั้งเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาวจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากราคาเหล็กมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการใช้เท่านั้น จะไม่สต๊อกไว้ในปริมาณมาก

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2556 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยมีข้อมูลสภาวะ อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้

1. การผลิตรถยนต์

จำนวน 231,101 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 202,834 คัน ร้อยละ 13.94 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ร้อยละ 35.58 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2. การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 110,267 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 115,943 คัน ร้อยละ 4.90 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากผู้บริโภคที่จองรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกได้ทยอยรับรถยนต์เรียบร้อยแล้ว แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ร้อยละ 0.54 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง

3. การส่งออกรถยนต์

จำนวน 86,577 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 85,988 คัน ร้อยละ 0.68 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบโอเชียเนียแอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ร้อยละ 27.99 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2556 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 สำหรับการผลิตรถยนต์ใน เดือนมิถุนายน 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 56 และส่งออกร้อยละ 44

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยมีข้อมูลสภาวะ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนพฤษภาคม ดังนี้

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 217,076 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 238,574 คัน ร้อยละ 9.01 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น จากเดือนเมษายน 2556 ร้อยละ 21.78 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 189,535 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 214,811 คัน ร้อยละ 11.77 โดยเป็นการปรับลดลงของ รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ร้อยละ 12.13 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 30,373 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 30,615 คัน ร้อยละ 0.79 ซึ่งลดลงในประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ร้อยละ 46.67 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2556 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 สำหรับการผลิต รถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 85 และส่งออกร้อยละ 15

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้น จะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ชะลอการส่งออกลง เพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศต่อไป”

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.09 และ19.60 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.56 และ 11.61 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดีโดยปริมาณการผลิตและยอดการจำหน่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีอยู่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเร่งการก่อสร้างก่อนเข้าสู่ฤดูฝน อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร รวมถึงต้นทุนการขนส่งและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อราคาปูนซีเมนต์ในระยะต่อไป โดยใน ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์บางแห่งได้ปรับขึ้นราคาปูนซีเมนต์เป็นการชั่วคราวแล้ว

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.81 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.28

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าเงินบาทส่งผลให้ไทยต้องเสียตลาดบางส่วนไป เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของราคาได้ และแนวโน้มความต้องการ ใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยหลายรายชะลอการส่งออกลง ทั้งนี้ เพื่อสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศต่อไป

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของภาคเอกชน ยังคงเป็นปัจจัย สำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย ตามปริมาณการผลิตที่จะลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะทำให้บริษัทผู้ผลิตยังคงสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม มีการปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดหลักชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนและสหภาพยุโรป

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน พ.ค. 2556

เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์               มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)          %MoM           %YoY
อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์              1,465.2                   1.5          -24.6
วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี                     558.6                   6.0           -5.2
เครื่องปรับอากาศ                               356.8                   0.0          -11.0
กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่งวีดีโออื่นๆ   198.8                   5.4          -22.8
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์               4,559.6                   5.9          -12.1
ที่มา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

          1.การผลิต
          ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 253.01 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 19.7 ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับนโยบายของภาครัฐและตลาดส่งออกชะลอตัวลง แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 โดยขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการที่ในเดือนพฤษภาคมมีจำนวนวันทำงานที่มากกว่าเดือนเมษายน
          2. การส่งออก
          มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2556 มีมูลค่า 4,559.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.1 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 2,026.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 8.2 ซึ่งการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทุกตลาดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 23.6 และ 10.6 ยกเว้นตลาดอาเซียนที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 356.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในภาวะทรงตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือกล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 198.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,533.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 14.9 ซึ่งตลาดหลักทั้งหมดมีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะจีนและสหภาพยุโรปลดลงถึงร้อยละ 44.1 และ 20.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าส่งออก 1,465.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 1.5 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 24.6 สำหรับวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีมีมูลค่าส่งออก 558.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 6.0 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.2
          3. แนวโน้ม
          ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมิถุนายน 2556 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังไม่ฟื้นตัว และมีสัญญาณการชะลอตัวของการนำเข้าส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแสดงว่าการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตจะยังไม่เพิ่มขึ้น

          --สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ