รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 18, 2013 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคม 2556
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2556 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 3.3 และลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนเครื่องประดับเพชรพลอย
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.6 ลดลงจากร้อยละ 64.9 ในเดือนมิถุนายน 2556
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนสิงหาคม 2556
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่าจะขยายตัวได้ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืน โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศจีน และลดความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและการส่งมอบ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 4 การส่งออกจะขยายตัวมากขึ้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม 2556 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังไม่ฟื้นตัว และมีสัญญาณการชะลอตัวของการนำเข้าส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดการณ์ว่าการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตจะยังไม่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

มิ.ย. 56 = 181.0

ก.ค. 56 = 174.9

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มิ.ย. 56 = 64.9

ก.ค. 56 = 64.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • แปรรูปผลไม้และผัก

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2556 มีค่า 174.9 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 (181.0) ร้อยละ 3.3 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2555 (183.3) ร้อยละ 4.5

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน น้ำตาล เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.6 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 (ร้อยละ 64.9) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2555 (ร้อยละ 67.9)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive แปรรูปผลไม้และผัก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง อาหารสัตว์สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2556

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 452 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 402 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากว่า ร้อยละ 12.44 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 23,497.54 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีการลงทุน 54,470.35 ล้านบาท ร้อยละ 56.86 และมีการจ้างงานจำนวน 8,579 คน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,319 คน ร้อยละ 16.86

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 382 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 18.32 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการลงทุน 11,789.72 ล้านบาท ร้อยละ 99.31 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,357 คน ร้อยละ 2.66

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2556 คืออุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จและผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต จำนวน 41 โรงงานรองลงมาคือ อุตสาหกรรม ขุดตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 37 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2556 คือ อุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิกส์ จำนวนเงินทุน 3,539.17 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตไม้ เอ็มดีเอฟ ลังไม้ และไม้รองรับสินค้า จำนวนเงินทุน 2,618.00 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2556 คือ อุตสาหกรรม ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 786 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 731 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 82 ราย น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 88 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.82 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,730.12 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 6,631.8 ล้านบาท แต่มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,318 คน น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 1,819 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 73 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 12.33 มีการเลิกจ้างมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2555 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,236 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,891.8 ล้านบาท

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และพ่นสีรถยนต์ จำนวน 11 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 10 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และพ่นสีรถยนต์ เงินทุน 362.7 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบเครื่องใช้ในการกีฬา การบริหารร่างกาย การเล่นบิลเลียด จำนวน 258.57 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำ เร็จรูป จำ นวนคนงาน 1,750 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำยางแผ่นรมควัน ยางเครป ยางแท่ง ยางน้ำ ยางให้เป็นรูปแบบอื่น จำนวนคนงาน 282 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 1,192 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,184 โครงการ ร้อยละ 0.68 และมีเงินลงทุน 664,200 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 516,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.65

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2556
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%               444                     219,100
          2.โครงการต่างชาติ 100%              445                     124,500
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ        303                     320,700
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2556 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 316,900 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2556 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 และ 19.1 ตามลำดับ แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงจากเดือนก่อนร้อยละ 9.6 เนื่องจากชะลอตัวตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และหากพิจารณาสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น กุ้ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 51.2 เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ส่งผลให้ต้องพักบ่อเพื่อกักกันโรค ซึ่งทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานลดลง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 7.4 และ 10.5 ตามลำดับ เนื่องจากมีสต็อกอยู่ในปริมาณสูง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มี ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 125.9 เป็นผลจากการซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเดือนก่อน ส่วนอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อนรอ้ ยละ 28.9 เนื่องจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลงจากการที่บริษัท สหฟาร์ม ได้หยุดโรงงานแปรรูปไก่ และชะลอการเลี้ยงไก่ เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2556 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.8

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2556 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 และ 13.4 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า และระดับราคาสินค้าหลายอย่างในตลาดโลกปรับตัวลดลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากข่าวการปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลทางจิตวิทยาไปยังเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา ทำให้แนวโน้มของคำสั่งซื้อปรับชะลอตัวลง แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงสำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอคาดว่าจะขยายตัวได้ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืน โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศจีนและลดความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและการส่งมอบ...”

1. การผลิต

  • การผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และผ้าลูกไม้ ร้อยละ 3.0 0.3 5.8 และ 5.1 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงค่อนข้างมากจากเวียดนาม พม่า กัมพูชาและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในผลิตภัณฑ์เดียวกัน ร้อยละ 2.1 8.4 3.5 และ 15.9 ตามลำดับ
  • การผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลง 5.5 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอลดลง ร้อยละ 2.2 และ 0.1 ตามลำดับ จากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักทั้งอาเซียนและสหภาพยุโรปลดลง

2. การจำหน่าย

  • ปริมาณการจำหน่ายของผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอในประเทศส่วนใหญ่ลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการผลิต ในส่วนการจำหน่ายกลุ่มเครื่องนุ่งห่มในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักลดลง ร้อยละ 1.9 และจากผ้าทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงทั้งผ้าถักและผ้าทอ
  • มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกกลุ่มสิ่งทอลดลง ร้อยละ 1.2 แต่กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.8 เป็นการเพิ่มขึ้นของผ้าผืน เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์และสิ่งทออื่น ๆ ขณะที่กลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 4.7 เป็นผลจากคำสั่งซื้อชะลอตัวตามความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักในกลุ่มสหภาพยุโรปและอาเซียน

3. แนวโน้ม

  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่าจะขยายตัวได้ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืน โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศจีน และลดความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและการส่งมอบ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 4 การส่งออกจะขยายตัวมากขึ้น
  • การผลิต การจำหน่าย และการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อล่วงหน้าของคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และการปรับตัวด้านการตลาด โดยการขยายตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน หรือตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่า ในอนาคตจะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญ สำหรับไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ได้มีมติให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ 3 รายการ ได้แก่ (1) เหล็กแผ่นรีดร้อนที่นำเข้าจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยประกาศผลการทบทวนอัตราอากรการทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายร้อยละ 13.58- 58.85 ของราคาซีไอเอฟ (2)เหล็กแผ่นรีดเย็นที่นำเข้าจากจีน เวียดนาม และไต้หวัน โดยขยายระยะเวลาเรียกเก็บหลักประกันอากรตอบโต้การทุ่มตลาดออกไป 4 เดือน จากเดิมวันที่ 10 ส.ค. 2556 เป็น 10 ธ.ค. 2556 โดยสินค้าที่นำเข้าจากจีนเรียกเก็บอากร ร้อยละ 11.76 ของราคาซีไอเอฟ นำเข้าจากเวียดนามเรียกเก็บอากร ร้อยละ 11.86 ของราคาซีไอเอฟและนำเข้าจากไต้หวันเรียกเก็บอากร ร้อยละ 8.76 (3) เหล็กลวดคาร์บอนสูง เรียกเก็บอากรชั่วคราวในอัตรา ร้อยละ 16.14- 33.98

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2556 ชะลอตัวลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 125.15 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่าการผลิตลดลง ร้อยละ 5.16 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 13.73 รองลงมาคือ ลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 11.27 และลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 7.45 เนื่องจากเมื่อเดือนก่อนมีคำสั่งซื้อในปริมาณที่มาก ทำให้พ่อค้าคนกลางยังคงมีสะสมอยู่ในสต๊อก นอกจากนี้เป็นผลมาจากเข้าสู่ฤดูฝนจึงทำให้การก่อสร้างชะลอตัวลง สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 4.74 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 25.05 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 14.67 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 12.59 เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และก่อสร้างที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 6.30 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 11.89 แต่เหล็กทรงยาวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.16

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 104.46 เป็น 119.78 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.67 เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 115.05 เป็น 119.29 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.69 สำหรับเหล็กแผ่นรีดร้อนมีดัชนีราคาที่ทรงตัว คือ 108.71 แต่เหล็กชนิดที่มีดัชนีราคาลดลง คือ เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 101.16 เป็น 100.69 ลดลง ร้อยละ 0.46 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 111.21 เป็น 110.84 ลดลง ร้อยละ 0.33 เนื่องจากสภาวะตลาดเหล็กโลกยังคงชะลอตัวอยู่ ประกอบกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงไม่ได้แก้ไข ทำให้คาดว่าการชะลอตัวของตลาดเหล็กมีแนวโน้มว่าจะนาน ซึ่งส่งผลให้ราคาเหล็กบางชนิดอาจฟื้นตัวยาก

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนสิงหาคม 2556 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการผลิตทั้งเหล็กทรงแบนจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โดยในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นรีดเย็นการผลิตอาจจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลทางบวกจากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด แต่แนวโน้มการผลิตโดยรวมจะขยายตัวเล็กน้อยเนื่องจากราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะจูงใจให้ลูกค้านำเข้าเหล็กที่มีราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีน มาแย่งตลาดของผู้ผลิตในประเทศ

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้

1. การผลิตรถยนต์

จำนวน 201,481 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 215,331 คัน ร้อยละ 6.43 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์กระบะ 1 ตัน และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 7.20 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน

2. การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 98,258 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 131,646 คัน ร้อยละ 25.36 โดยเป็นการปรับลดลงของการ จำหน่ายรถยนต์นั่ง และ รถยนต์กระบะ 1 ตัน และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 7.32 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

3. การส่งออกรถยนต์

จำนวน 82,710 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 96,167 คัน ร้อยละ 13.99 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 14.01 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2556 คาดว่าจะทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 สำหรับการผลิตรถยนต์ใน เดือนสิงหาคม 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 49 และส่งออกร้อยละ 51

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนกรกฎาคม ดังนี้

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 196,231 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 239,886 คัน ร้อยละ 18.20 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 6.26 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 176,862 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 187,775 คัน ร้อยละ 5.81 โดยเป็นการปรับลดลงของ รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 7.08 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 34,385 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 25,953 คัน ร้อยละ 32.49 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร และมีป ริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 17.46 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2556 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 สำหรับการผลิต รถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 85 และส่งออกร้อยละ 15

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชะลอการส่งออกลง เพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศต่อไป”

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.95 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.28 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 และ 7.49 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดีโดยปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคาปูนซีเมนต์ที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายปรับขึ้นราคาขายโครงการที่พัฒนาขึ้นใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.47 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 19.24

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาทิ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศและลาว ยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกัมพูชา ที่มีปริมาณและ มูลค่าการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยมากที่สุดในรอบ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดทั้งปี จะส่งผลให้ บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยชะลอการส่งออกลง เพื่อสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศต่อไป

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างในต่างจังหวัด จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาจส่งผลทำให้บริษัทผู้ผลิตยังคงสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่นที่มีการชะลอตัวลง

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ค. 2556

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)          %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์                1,495.0                  6.6           -4.5
          วงจรรวมและไมโครแอส แซมบลี                      627.7                -13.3           16.0
          เครื่องปรับอากาศ                                 314.0                 -9.5            6.6
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ    168.5                  4.6          -32.6
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์                4,507.8                  0.1           -0.8
          ที่มา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2556 ลดลงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 5.9 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับนโยบายของภาครัฐและตลาดส่งออกชะลอตัวลง ยกเว้นสายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศ

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและลดลงร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน นอกจากนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของเท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบ็คลดลง ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรม HDD ของไทยชะลอตัวลงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดโลกว่า ในปี 2556 ความต้องการ HDD อยู่ที่ 32.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.17 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่า 36.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2556 มีมูลค่า 4,507.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.8 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,869.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 ซึ่งการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทุกตลาดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีนปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 19.1 และ 15.5 ยกเว้นตลาดอาเซียนที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 314.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 168.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,638.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 มาจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 และ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่จีนและญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 26.7 และ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม2556 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังไม่ฟื้นตัว และมีสัญญาณการชะลอตัวของการนำเข้าส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดการณ์ว่าการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตจะยังไม่เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ