สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม – กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2557 การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้น การส่งออกทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมีการขยายตัวของการส่งออกเยื่อกระดาษประเภทเยื่อไม้เคมีชนิดละลายได้ของผู้ผลิตไทย สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทแผนที่ไปยังฮ่องกงเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าขยายตัวเช่นกันจากการจัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ดังระดับโลกในประเทศไทย

การผลิต
          ไตรมาส 3  ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน    กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.28  1.99  3.19  และ 1.90 ตามลำดับ  เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้       บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศมีมากขึ้น  นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี  สำหรับเยื่อกระดาษ มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 6.90 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกมีการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นและยังมีปริมาณสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ประกอบกับการส่งออกเยื่อกระดาษในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า กระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตทรงตัว กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.61 9.33 และ 3.15 ตามลำดับ เป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน มีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับเยื่อกระดาษ มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 2.83 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากไม้ยูคาลิปตัสมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษภายในประเทศ

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 42.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้า เช่น ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มีมูลค่าลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.55 เป็นผลมาจากมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเยื่อกระดาษประเภทเยื่อไม้เคมีชนิดละลายได้มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเยื่อไม้เคมีชนิดละลายได้ของบริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด นอกจากนี้ยังมีการส่งออกเยื่อกระดาษรีไซเคิลไปยังประเทศแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 415 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกในภาพรวม 419.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ในภาวะทรงตัว โดยที่กระดาษคราฟท์ กระดาษแข็ง และผลิตภัณฑ์กระดาษ สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.43 1.27 และ 6.65 ตามลำดับ ส่วนกระดาษพิมพ์เขียนอยู่ในภาวะทรงตัว สำหรับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และเกาหลีใต้

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.20 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน มีแนวโน้มดีขึ้น โดยกระดาษ ประเภทกระดาษและกระดาษแข็งไม่เคลือบที่ใช้สำหรับเขียน พิมพ์ หรือทำกราฟฟิก มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 22.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยหนังสือ และแผ่นพับ มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ส่วนสิ่งพิมพ์ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวมากที่สุด คือ สิ่งพิมพ์ประเภทแผนที่ แผนภูมิ โดยเป็นการส่งออกไปยังฮ่องกงสูงที่สุด

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 7.68 เนื่องจากความต้องการของตลาดในภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลดลง โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ประเภทแปลน และภาพลายเส้น

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 165.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.70 และ 3.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวประเภทเยื่อเคมีมากที่สุด ซึ่งมีตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ แคนาดา และสหรัฐฯ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผสมในการผลิตกระดาษต่อไป นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าเยื่อกระดาษชนิดเยื่อไม้บดจากฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นมาก

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 369.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.33 ซึ่งอยู่ในภาวะทรงตัว แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 10.09 เนื่องจากกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่ผลิตในประเทศสามารถรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ

3. สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 63.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ และภาพถ่าย มากที่สุด เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมีการจัดงานแฟชั่นโชว์ และการประกวดภาพยนตร์ของแบรนด์ต่างประเทศ ได้แก่ งาน ELLE Fashion Film Festival 2014 และ ELLE Fashion Week 2014 แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 4.73 เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และประชาชนยังคงลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

ความเคลื่อนไหวในการกำหนดมาตรการป้องกันการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนปริมาณมากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต เยื่อกระดาษ และกระดาษของประเทศไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของอุตสาหกรรม เยื่อกระดาษและกระดาษทั้งหมด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยกเว้น กระดาษลูกฟูกที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงของการผลิตเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญช่วงปลายปี ในส่วนเยื่อกระดาษ มีดัชนีผลผลิตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับมีการนำเข้าเยื่อกระดาษบางส่วนจากต่างประเทศ

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น จีน เวียดนาม สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีการขยายการส่งออกเยื่อกระดาษประเภทเยื่อไม้เคมีชนิดละลายได้ของบริษัทผลิตกระดาษรายใหญ่ของไทย ทำให้การส่งออกมีทิศทางดีขึ้น สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทแผนที่และแผนภูมิเพิ่มขึ้นมาก

การนำเข้าเยื่อกระดาษ และเศษกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2557 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาว และเยื่อไม้บดมากขึ้น สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ส่วนสิ่งพิมพ์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการจัดกิจกรรม ELLE Fashion Film Festiva l 2014 และ ELLE Fashion Week 2014 แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ประชาชนยังระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัว โดยภาคการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน จะยังคงมีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากต่างประเทศซึ่งราคาต่ำกว่า มาทดแทนกระดาษที่ผลิตภายในประเทศ

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษประเภทต่าง ๆ ขยายตัวตามไปด้วย ในส่วนของหนังสือและสิ่งพิมพ์อาจจะชะลอตัว และต้องมีการปรับตัวจากการเข้ามาแทนที่ของสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะในธุรกิจพิมพ์เขียน

การนำเข้าเยื่อกระดาษ คาดว่า จะปรับตัวลดลง สวนทางกับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี เพื่อรองรับความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ส่วนสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น จากการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลคริสมาสต์ และส่งท้ายปีเก่า

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ