สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม – กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม จากคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน และตลาดสหภาพยุโรปที่มีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก และการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากในผลิตภัณฑ์ประเภทชุดกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันในกีฬาประเภทต่าง ๆ เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการตัดเย็บ และคุณภาพวัตถุดิบผ้าที่ได้มาตรฐานสากล

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนสอดคล้องกับการจำหน่าย ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.51 ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ เพื่อนำไปผลิต เป็นผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่มต่อไป แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 2.05 ในขณะที่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 5.15 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อที่ลดลงจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอจากไทย

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 3 ปี 2557 การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลัก ส่งผลให้การจำหน่ายขยายตัวใน 2 ตลาดนี้ ในส่วนการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 4.35 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคภายในประเทศระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.41 ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) การผลิต และการจำหน่าย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.30 และ 7.66 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.30 การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 0.91 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการส่งออก ในขณะที่การบริโภคในประเทศเริ่มกระเตื้องขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 3 ปี 2557 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,901.13 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ อยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 4) เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน ขยายตัว โดยเฉพาะตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ มีความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,169.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.35 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.32 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.51 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 612.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.68 ประกอบด้วย ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 374.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 237.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 52.40 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ โดยมีประเทศเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2) เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 194.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.14 และ 2.32 ตามลำดับ เนื่องจาก ปริมาณคำสั่งซื้อลดลงจำนวนมากจากประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน จากราคาเส้นใยฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า โดยมีประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

3) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 80.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 0.16 โดยมีประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

4)สิ่งทออื่นๆ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 176.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.15 และ 14.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมีประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 731.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.50 และ 1.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.49 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 635.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.48 และ 1.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม กระแสการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกได้รับความนิยมมากขึ้น อาจส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะชุดกีฬาขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการส่งออกในกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

การนำเข้า

ไตรมาส 3 ปี 2557 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นมูลค่า 1,193.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 1.58 โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 1,018.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.15 และ 3.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึง ร้อยละ 85.38 ของมูลค่าการ นำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 236.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบ กับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.47 และ 5.58 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และจีน

2) ด้ายทอผ้าและเส้นด้าย มีมูลค่านำเข้า 197.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.8 เนื่องจากราคาที่นำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ อินโดนีเซีย

3)ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 431.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.58 และ 3.16 ตามลำดับ เนื่องจากในประเทศมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นและใช้ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ้าผืนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้

4)ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 105.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 1.55 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 174.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.63 และ 7.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย พิจารณาได้จากมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนและเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 14.62 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรณีสหรัฐอเมริกาปรับลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยลงไปอยู่ใน Tier 3 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่ามีสินค้าไทย 5 รายการ ที่ใช้ แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็น 1 ใน 5 สินค้า แม้จะยังไม่มีผลกระทบด้านการค้าของไทยกับสหรัฐอเมริกา แต่อาจมีผลกระทบด้านจิตวิทยาของผู้บริโภคในเรื่องภาพลักษณ์และสินค้าส่งออกจากไทย โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ คาดว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยไทยควรเร่งดำเนินการต่อกรณีดังกล่าวโดยเร็ว

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.05 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.51 แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง 2.05 และการจำหน่ายลดลง 5.15 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศลดลง ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาสนี้เป็นช่วงการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มสิ่งทอต้นน้ำจากต่างประเทศ

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.43 และ 12.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก สำหรับมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดสหภาพยุโรปและอาเซียนชะลอตัว

แนวโน้ม

ไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่า ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเข้าสู่ทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทย โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าหลายรายเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้าบางรายเริ่มมีคำสั่งซื้อกับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในส่วนปริมาณการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีสัดส่วนสำหรับการส่งออก ร้อยละ 50 และใช้ภายในประเทศ ร้อยละ 50 ดังนั้น ถ้าการบริโภคในประเทศยังมีสัญญาณของการฟื้นตัวไม่มากนัก ขณะที่ปัจจัยบวกด้านตลาดส่งออกยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ภายหลังจากการส่งมอบเสื้อกีฬาสำหรับใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกเสร็จสิ้นไปแล้ว อาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในระยะต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ