สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2558 (กรกฎาคม - กันยายน 2558)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 24, 2015 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อ พบว่า การผลิต เพิ่มขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของภาครัฐ การส่งออกเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น สวนทางกับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ ซึ่งลดลงตามความต้องการและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว เช่นเดียวกับการนำเข้าเยื่อกระดาษ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสวนทางกับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ ที่มีมูลค่าลดลง

การผลิต

ไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.76 0.62 และ 8.12 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ เช่น เครื่องสำอาง กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของภาครัฐ สำหรับกระดาษลูกฟูกมีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.60 เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เช่นเดียวกับกระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งมีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.88 จากความต้องการของผู้บริโภคลดลง

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.45 3.37 และ 1.42 เนื่องจากความต้องการกระดาษ และบรรจุภัณฑ์กระดาษที่จะส่งมอบช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่เพิ่มขึ้นในส่วนกระดาษพิมพ์เขียนมีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 1.77 เนื่องจากการใช้งานเอกสารในรูปแบบกระดาษลดลง ประกอบกับความนิยมของสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ลดลง เช่นเดียวกับกระดาษคราฟท์ ซึ่งดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 1.47 เนื่องจากมีสินค้าคงคลังจากการผลิตช่วงไตรมาสก่อน

ไตรมาส 3 ปี 2558 มีการขออนุญาตประกอบกิจการ ประเภทโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ จำนวน 14 แห่ง และขยายกิจการ 2 แห่ง ขณะที่ยกเลิกกิจการ จำนวน 9 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ยังคงขยายตัวในส่วนโรงพิมพ์มีการขออนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 8 แห่ง ขยายกิจการ 5 แห่ง และยกเลิกกิจการ จำนวน 6 แห่ง โดยโรงพิมพ์ยังคงเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ปรับตัวสู่การรับจ้างผลิตแบบ Small lot เพื่อสนองตอบความต้องการของกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1.เยื่อกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 47.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนพบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.40 และ 14.48 ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของคู่ค้าในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปฝรั่งเศสจากความต้องการเยื่อกระดาษของโรงงานผลิตกระดาษของผู้ประกอบการไทยในฝรั่งเศส

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 399.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนพบว่า ลดลง ร้อยละ 4.71 และ 4.46 ตามลำดับ จากการส่งออกกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษไปยังตลาดสำคัญในเอเชีย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 16.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่า ลดลง ร้อยละ 25.06 จากการส่งออกลดลงทั้งในตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และ เอเชีย เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยสิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัว แผ่นปลิว หนังสือภาพ สมุดวาดเขียนหรือระบายสีสำหรับเด็ก และภาพพิมพ์และภาพถ่าย มีการส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าว ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.91 ซึ่งสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ โบรชัว แผ่นปลิว วารสารและนิตยสาร เพื่อรองรับเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี ประกอบกับมีการส่งออกสมุดเช็ค และใบสต๊อกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้น

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 175.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนพบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.52 และ 3.52 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สนจากยุโรป เพื่อรองรับการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่จะส่งมอบในช่วงปลายปี

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 359.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนพบว่า ลดลง ร้อยละ 2.69 และ 4.81 ตามลำดับ โดยกระดาษที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษคราฟท์ และกระดาษแข็ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตในประเทศสามารถรองรับความต้องการภายในได้เพียงพอ

          3.สิ่งพิมพ์ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 55.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 12.05 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร นิตยสาร แผนที่ และไปรษณียบัตร มีการนำเข้าลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าว         ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.74 โดยสิ่งพิมพ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ภาพพิมพ์และภาพถ่าย ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากการจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกในประเทศไทย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การผลิต การดำเนินธุรกิจ และการอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำกิจกรรมผ่านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างครบวงจร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่าง ๆ จากการแข่งขันเชิงราคา ไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service Innovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุดดังนั้น ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ที่ผสมผสานสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทยที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัสที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากความต้องการ บรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศซึ่งขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของภาครัฐ สำหรับกระดาษลูกฟูกและกระดาษพิมพ์เขียน มีดัชนีผลผลิตลดลงจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ ชะลอตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากความต้องการกระดาษ และบรรจุภัณฑ์กระดาษที่จะส่งมอบช่วงเทศกาล คริสมาสต์ และปีใหม่เพิ่มขึ้น สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน มีดัชนีผลผลิตลดลง จากการใช้งานเอกสารในรูปแบบกระดาษลดลง ประกอบกับความนิยมของสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ลดลง เช่นเดียวกับกระดาษคราฟท์ ซึ่งลดลง จากการมีสินค้าคงคลังจากการผลิตช่วงไตรมาสก่อน

การส่งออกเยื่อกระดาษมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนสอดคล้องกับการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังโรงงานผลิตกระดาษของผู้ประกอบการไทยในฝรั่งเศสส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษมีมูลค่าการส่งออกลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญในเอเชีย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวสำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์มีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าว ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนพบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ตามการส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี

เดียวกันของปีก่อนการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสและไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สนจากยุโรปสำหรับผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษมีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตในประเทศสามารถรองรับความต้องการภายในได้เพียงพอสำหรับสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าลดลง จากความนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอลแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าภาพพิมพ์และภาพถ่าย ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากการจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกในประเทศไทย

แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2558

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจขยายตัวตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปีและเพื่อการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนและส่งเสริมจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

การส่งออก คาดว่า เยื่อกระดาษ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตกระดาษ อาจขยายตัวได้ในภูมิภาคเอเชียและบางประเทศในยุโรปส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ อาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนของประเทศคู่ค้า

การนำเข้า คาดว่า เยื่อกระดาษ จะขยายตัวตามการนำเข้าเยื่อใยยาวที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศส่วนการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจทรงตัวเนื่องจากการผลิตภายในประเทศเพียงพอต่อความต้องการในส่วนสิ่งพิมพ์คาดว่า จะทรงตัวเช่นเดียวกัน โดยผู้ประกอบการอาจต้องปรับตัวไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์เพื่อรับมือกับการเข้ามาแทนที่ของสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะในธุรกิจพิมพ์เขียน หรือการปรับตัวสู่การรับจ้างผลิตแบบ Small lot เพื่อสนองตอบความต้องการของ SMEs ที่มีจำนวนมากในขณะนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ