สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก

ในไตรมาส 4 ปี 2558 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ 41.2 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ 74.6 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559) อยู่ที่ 30.89 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะน้ำมันล้นตลาด และกลุ่มประเทศ OPEC ยังคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบในระดับเดิม

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2558 ชะลอตัว อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคชะลอตัว การจ้างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัว ร้อยละ 3.2 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 96.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.7

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 105.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 104.7

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 10.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 6.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 1.3 อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.5 อัตราการว่างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.50 Fed ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4 ปี 2558 ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าปลีกและการลงทุนในสินทรัพย์ชะลอตัว การส่งออกหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของจีน ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 11.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 11.7 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 10.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 103.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 104.9

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.6

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 5.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 11.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 1.6

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เท่ากับไตรมาส 4 ของปี 2557 อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่ากับไตรมาส 4 ปี 2557

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 4.35 ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินผ่านธุรกกรม Reverse Repo ประมาณ 1.5 แสนล้านหยวน เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัว อันเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนในภาคก่อสร้าง และในไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 1.5 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่หดตัว ร้อยละ 12.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 41.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 37.3

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 97.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.2

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 4.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 13.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.5 อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ -0.1 เพื่อให้สถาบันการเงินเพิ่มการปล่อยกู้ กระตุ้นการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และลดการออมเงินของภาคประชาชนเพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 3 ปี 2558 ยังคงขยายตัว เนื่องจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัว แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงและไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 การบริโภคไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 105.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.7 สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 106.4 และ 106.1 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 1.5 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม หดตัวร้อยละ 2.0 และพฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 1.8 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 1.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคมหดตัวร้อยละ 0.2 และเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 4.6

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เท่ากับไตรมาส 4 ปี 2557 อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 9.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.4 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.05 และขยายช่วงเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง6

เศรษฐกิจฮ่องกง ในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยการบริโภคภายใน ประเทศยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตามภาคการลงทุน การส่งออกสินค้าที่แท้จริง และภาคการท่องเที่ยวหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากภาคการลงทุน การส่งออกสินค้าที่แท้จริง และภาคการท่องเที่ยวที่หดตัว อย่างไรก็ตามการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวได้

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิต อุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 97.4 หดตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.4

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 137,351 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ56.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) หดตัวร้อยละ 4.8 หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 4.6 และ 7.0 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 146,762 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.2 ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 ภาพรวมการค้าฮ่องกงขาดดุลการค้า 9,411 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ฮ่องกงเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557

เศรษฐกิจเกาหลีใต้

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศทั้งของภาคเอกชนและรัฐบาลที่ขยายตัว ประกอบกับการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงอ่อนแรง

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ใน ไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคภายในประเทศทั้งของเอกชนและรัฐบาลที่ขยายตัว ประกอบกับการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงอ่อนแรง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 111.0 ขยายตัวได้เล็กน้อยร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 110.9 โดยแม้ดัชนีฯ จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ของ ปี 2557 แต่อัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 130,153 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 11.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.9 การส่งออกของเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2558 จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) หดตัวร้อยละ 10.5 ขณะที่การส่งออกไป สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.9 ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 106,294 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 2.8 ภาพรวมการค้าเกาหลีใต้เกินดุลการค้า 23,859 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลงในอัตราชะลอลง อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 1.50 เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา

เศรษฐกิจสิงคโปร์

เศรษฐกิจสิงคโปร์ ในไตรมาส 4 ปี 2558 ตัวเลข GDP คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยภาคการผลิตหดตัวร้อยละ 6.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ห้า จากการผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมขนส่ง และกลุ่มวิศวกรรมเครื่องมือวัดที่ลดลง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการก่อสร้าง และภาคการบริการ

ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในไตรมาส 4 ปี 2558 ตัวเลข GDP คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 2.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 เศรษฐกิจสิงคโปร์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ตามภาคการผลิตที่หดตัวร้อยละ 6.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ห้า จากการผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมขนส่ง และกลุ่มวิศวกรรมเครื่องมือวัดที่ลดลง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากกิจกรรมการก่อสร้างของรัฐบาลที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 3.2 ตามการเติบโตของภาคการค้าปลีก ค้าส่ง และภาคการเงินและการประกันภัย

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 98.6 หดตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 105.6

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 85,603 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.2 โดยการส่งออกไปตลาดหลักหดตัวในหลายตลาด อาทิจีน ฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หดตัวร้อยละ 10.4 13.7 22.3 และ 26.9 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2558 หดตัวร้อยละ 12.8 และ 15.0 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 74,741 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 4.5 สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2558 หดตัวร้อยละ 20.5 และ 13.4 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในช่วงตุลาคม และพฤศจิกายน 2558 สิงคโปร์เกินดุลการค้า 9,204 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 ติดลบร้อยละ 0.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.04 ทั้งนี้สิงคโปร์เผชิญภาวะเงินฝืดติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ห้า โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2558 ติดลบร้อยละ 0.6 จากราคาเชื้อเพลิง ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงราคาค่าขนส่งที่ยังคงปรับตัวลดลง ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ทรงตัวยังอยู่ในระดับต่ำ

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย

เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 เศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 เศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงหดตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 126.6 ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 121.6 ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2558 ขยายตัวร้อยละ 6.6 และ 6.5 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 35,120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 11.0 การส่งออกหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 34,751 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 20.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 5.3 ภาพรวมการค้าอินโดนีเซียเกินดุลการค้า 369 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 7.25 จากเดิมร้อยละ 7.50 เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

เศรษฐกิจมาเลเซีย

เศรษฐกิจมาเลเซีย ในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศ การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง

ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 โดยการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง ถึงแม้ในส่วนของการส่งออกและนำเข้าจะหดตัวลงแต่มูลค่าการส่งออกยังคงมากกว่ามูลค่าการนำเข้าอยู่

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 121.0 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่อยู่ที่ระดับ 115.8 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 และในส่วนของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2558 อยู่ที่ระดับ 126.6 และ 120.7 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 49,285 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากตลาดส่งออกสำคัญที่มีการหดตัว ได้แก่ สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง ที่หดตัวร้อยละ 21.1 5.3 27.0 0.8 และ 22.0 ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้แก่ เวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 0.6 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2558 หดตัวร้อยละ 10.4 ด้านการนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 43,911 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 สำหรับการนำเข้าเดือนตุลาคม 2558 หดตัวร้อยละ 23.5 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 3 ปี 2558 มาเลเซียเกินดุลการค้า 5,374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 4 ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 114.5 ขยายตัวร้อยละ 2.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่อยู่ที่ระดับ 111.6 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ แอลกอฮอลล์ แอลกอฮอลล์ ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และเครื่องนุ่งห่มขยายตัว ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่งหดตัว

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ธนาคารกลางมาเลเซียยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2558 เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินในขณะนี้ยังคงผ่อนคลายและยังคงเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจถึงแม้ว่าการลดการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชน

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 เป็นผลมาจากภาคเกษตรที่หดตัว ประกอบกับการส่งออกไปยังประเทศสำคัญหดตัวเช่นกัน

ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 โดยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 6.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ในขณะที่าคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 และภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 0.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 177.8 หดตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2557 ที่อยู่ที่ระดับ 189.2 โดยดัชนีฯ ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2558 อยู่ที่ระดับ 197.6 และ 207.1 ตามลำดับ หด

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 15,394 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญหดตัวได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และสิงคโปร์ ที่หดตัวร้อยละ 21.3 4.8 7.7 และ 21.0 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดประเทศไทยขยายตัวที่ร้อยละ 15.9 สำหรับการส่งออกในเดือนเดือนตุลาคม 2558 หดตัวร้อยละ 15.6 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 19,277 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2558 ขยายตัวร้อยละ 10.8 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 3 ปี 2558 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 3,883 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 4 ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 142.2 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่มขยายตัว ส่วนค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้าและประปาหดตัว

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทข้ามคืนไว้ที่ร้อยละ 4.0 เนื่องจากปรากฎการณ์เอล นินโญอาจจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของประเทศ

เศรษฐกิจอินเดีย

เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 7.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล

ภาวะเศรษฐกิจของอินเดีย ในไตรมาส 3 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 7.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้การส่งออกและการนำเข้าจะหดตัวก็ตาม

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 178.5 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2557 ที่อยู่ที่ระดับ 170.3 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 66,301 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2557 จากการส่งออกที่หดตัวในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร จีน และซาอุดิอาระเบีย ที่หดตัวร้อยละ 7.8 5.4 19.8 7.1 19.3 และ 39.8 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2558 หดตัวร้อยละ 24.7 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 101,984 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2557 สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2558 หดตัวร้อยละ 25.5 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 3 ปี 2558 อินเดียขาดดุลการค้า 35,683 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 150.3 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2557 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่ม ค่าใช้จ่ายภายในบ้านขยายตัว

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 ธนาคารกลางอินเดียได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.25 เมื่อเดือนมิถุนายน ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.75 และมีผลทันที จากภาวเศรษฐกิจที่ซบเซาและระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ