สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 10:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 1 ปี 2559 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจีน อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ 30.7 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 อยู่ที่ 52.5 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2559) อยู่ที่ 43.65 USD/Barrel ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เช่น ความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด โดยประเทศตะวันออกกลางรวมถึงอิหร่านและอิรักเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เบรนท์จากทะเลเหนือในเดือนมิถุนายนอาจจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ปี 2559 ชะลอตัว อันเนื่องมาจากการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว การจ้างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใน ไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัว ร้อยละ 3.3 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 96.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 101.3

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 102.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 101.7

การส่งออกและนำเข้า การส่งออก ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 6.9 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 4.8 การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 4.9 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัว ร้อยละ 1.9

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ -0.1 อัตราการว่างงานไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.8 อัตราการว่างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.50 Fed ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของตลาดแรงงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ปี 2559 ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในสินทรัพย์ชะลอตัว และการส่งออกหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของจีน ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 10.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 10.2 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 10.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 102.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 107.5

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8

การส่งออกและนำเข้า การส่งออก ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 9.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 13.3 หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ หดตัวร้อยละ 17.8

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.2 อัตราการว่างงานไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.1

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 4.35 ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดในเดือนเมษายน 2559 โดยผ่านทางโครงการเงินกู้ระยะกลางประมาณ 1.6 แสนล้านหยวน รวมทั้งการซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 2.5 แสนล้านหยวน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2558 ยังคงขยายตัว อันเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนในภาคก่อสร้าง และในไตรมาส 1 ปี 2559 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 1.0 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 1.2 หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 2.1 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 15.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 40.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.8

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 96.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.3

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 7.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 15.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 9.4

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 อัตราการว่างงานไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5

สถานการณ์ด้านการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ -0.1 เพื่อให้สถาบันการเงินเพิ่มการปล่อยกู้ กระตุ้นการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และลดการออมเงินของภาคประชาชนเพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2 นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายในการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านการซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 4 ปี 2558 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคและการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงและไตรมาส 1 ปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 การบริโภคไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 106.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 104.7 สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 108.3 และ 107.5 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 สำหรับการส่งออกในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ หดตัวร้อยละ 4.2 และหดตัวร้อยละ 0.8 ตามลำดับ การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 สำหรับการนำเข้าในเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ หดตัวร้อยละ 4.4 และ หดตัวร้อยละ 1.7 ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.03 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.3 อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 9.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.5 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.05 และยังคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ประมาณ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง

เศรษฐกิจฮ่องกง ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.9 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากการบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ภาคการลงทุน การส่งออกสินค้าที่แท้จริง และภาคการท่องเที่ยวหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากภาคการลงทุน การส่งออกสินค้าที่แท้จริง และภาคการท่องเที่ยวที่หดตัว ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 95.1 หดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.4

การส่งออกและนำเข้า การส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 137,351 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) หดตัวร้อยละ 4.8 หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 4.6 และ 7.0 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนมกราคม 2559 หดตัวร้อยละ 7.2 ด้านการนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 146,762 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัว ร้อยละ 0.7 สำหรับการนำเข้าในเดือนมกราคม 2559 หดตัวร้อยละ 12.2 ภาพรวมการค้าในเดือนมกราคม 2559 ฮ่องกงขาดดุลการค้า 1,857 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ฮ่องกงเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากราคาอาหาร และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558

เศรษฐกิจเกาหลีใต้

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคของภาครัฐที่ขยายตัว ประกอบกับการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ตามการลงทุนในสิ่งเอื้ออำนวย และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการส่งออกสินค้าที่แท้จริงกลับหดตัวในไตรมาสนี้

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ใน ไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคของภาครัฐที่ขยายตัว ประกอบกับการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ตามการลงทุนในสิ่งเอื้ออำนวย และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการส่งออกสินค้าที่แท้จริงกลับหดตัวในไตรมาสนี้

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 104.4 หดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 105.2 โดยดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

การส่งออกและนำเข้า การส่งออก ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 115,615 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 13.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งหดตัวร้อยละ 3.0 การส่งออกของเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2558 จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.7 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) หดตัวร้อยละ 15.7 ขณะที่การส่งออกไป สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.3 ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 93,558 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 15.6 ภาพรวมการค้าเกาหลีใต้เกินดุลการค้า 22,057 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลงในอัตราเร่ง อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.6

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 1.50 เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาและทางด้านการเงิน

เศรษฐกิจสิงคโปร์

เศรษฐกิจสิงคโปร์ ในไตรมาส 1 ปี 2559 ตัวเลข GDP คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 1.8 ตามภาคการผลิตที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการก่อสร้าง และภาคการบริการที่ขยายตัว

ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในไตรมาส 1 ปี 2559 ตัวเลข GDP คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 เศรษฐกิจสิงคโปร์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ตามภาคการผลิตที่หดตัวร้อยละ 2.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่หก จากการผลิตใน กลุ่มวิศวกรรมขนส่ง กลุ่มวิศวกรรมเครื่องมือวัด และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากกิจกรรมการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัว ขณะที่ภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 1.9 ตามการเติบโตของภาคการค้าปลีก ค้าส่ง และภาคการเงินและการประกันภัย

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 98.1 หดตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.0

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 83,801 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 7.1 โดยการส่งออกไปตลาดหลักหดตัวในหลายตลาด อาทิจีน ฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หดตัวร้อยละ 10.1 12.9 17.0 และ 28.9 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2559 หดตัวร้อยละ 20.8 และ 6.5 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 71,367 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 9.2 สำหรับการนำเข้าในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2559 หดตัวร้อยละ 19.4 และ 1.4 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในช่วงมกราคม และกุมภาพันธ์ 2559 สิงคโปร์เกินดุลการค้า 6,272 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2559 ติดลบร้อยละ 0.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.3 ทั้งนี้สิงคโปร์เผชิญภาวะเงินฝืดติดต่อกันเป็นไตรมาสที่หก โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2559 ติดลบร้อยละ 1.0 จากราคาเชื้อเพลิง ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงราคาค่าขนส่งที่ยังคงปรับตัวลดลง ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.8 อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ทรงตัวยังอยู่ในระดับต่ำ

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย

เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากแรงสนับสนุนจากการการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 เศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงหดตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 129.9 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 123.7 ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.7 และ 2.9 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 33,585 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 11.8 การส่งออกหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 31,938 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 13.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 15.0 ภาพรวมการค้าอินโดนีเซียเกินดุลการค้า 1,647 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.5 อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2558 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 โดยราคาอาหารยังมีความผันผวนตามปริมาณผลผลิต ขณะที่ราคาสาธารณูปโภคปรับตัวลดลงทั้งค่าไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง เป็นต้น

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 6.75 เพื่อให้สอดคล้องกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย (ปี 2016 ธนาคารกลางอินโดนีเซียกำหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายไว้อยู่ในช่วงร้อยละ 3 ถึง 5) รวมถึงรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจมาเลเซีย

เศรษฐกิจมาเลเซีย ในไตรมาส 4 ปี

2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 4 .5เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุปสงค์ภายในประเทศ การใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งดุลการค้าเกินดุล

ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ถึงแม้ในส่วนของการส่งออกและนำเข้าจะหดตัวลงแต่มูลค่าการส่งออกยังคงมากกว่ามูลค่าการนำเข้าอยู่

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 124.8 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่อยู่ที่ระดับ 121.3 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ในส่วนของการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน หดตัวร้อยละ 2.4 ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 123.4 และ 114.9 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 49,454 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 4.5 จากตลาดส่งออกสำคัญที่มีการหดตัว ได้แก่ สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ไทย และฮ่องกง ที่หดตัวร้อยละ 17.4 7.0 26.7 12.9 10.7 และ 20.6 ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้แก่ เยอรมันนี ขยายตัวร้อยละ 1.0 สำหรับการส่งออกในเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2559 หดตัวร้อยละ 19.7 และ 8.1 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 42,295 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 สำหรับการนำเข้าเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2559 หดตัวร้อยละ 14.6 และ 12.6 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในไตรมาส 4 ปี 2558 มาเลเซียเกินดุลการค้า 7,159 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 1 ปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 114.3 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่อยู่ที่ระดับ 110.5 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ แอลกอฮอลล์ ขยายตัวร้อยละ 4.5 ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ค่าไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 2.9 ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่งหดตัวร้อยละ 1.5

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ธนาคารกลางมาเลเซียยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2558 เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินในขณะนี้ยังคงผ่อนคลายและยังคงเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจถึงแม้ว่าการลดการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชน

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 เป็นผลมาจากภาคเกษตรที่หดตัว ประกอบกับการส่งออกไปยังประเทศสำคัญหดตัวเช่นกัน

ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 โดยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 6.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 และภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 0.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 198.7 หดตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบไตรมาส 4 ปี 2557 ที่อยู่ที่ระดับ 206.8 โดยดัชนีฯ ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 196.9 และ 155.1 ตามลำดับ ขยายตัวร้อยละ 25.8 และ 2.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 14,369 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญหดตัวได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และสิงคโปร์ ที่หดตัวร้อยละ 5.7 2.6 26.3 และ 10.0 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดฮ่องกงขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 สำหรับการส่งออกในเดือนเดือนมกราคม 2559 หดตัวร้อยละ 3.9 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 16,685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 สำหรับการนำเข้าในเดือนมกราคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 30.8 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 4 ปี 2558 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 2,318 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 1 ปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 142.7 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ ขยายตัวร้อยละ 1.5 ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 1.8 ส่วนค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้าและประปา หดตัว ร้อยละ 1.0

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทข้ามคืนไว้ที่ร้อยละ 4.0 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ไม่สูงและเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง เพราะได้แรงหนุนจากการบริโภคที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ดีดตัวขึ้น

เศรษฐกิจอินเดีย

เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 8.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล

ภาวะเศรษฐกิจของอินเดีย ในไตรมาส 4 ปี 2558 GDP ขยายตัวร้อยละ 8.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคครัวเรือน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 177.1 ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบไตรมาส 4 ปี 2557 ที่อยู่ที่ระดับ 174.4 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่มลดลง

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 62,990 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบไตรมาส 4 ปี 2557 จากการส่งออกที่หดตัวในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร จีน และซาอุดิอาระเบีย ที่หดตัวร้อยละ 9.6 16.4 21.5 6.9 33.1 และ 38.9 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2559 หดตัวร้อยละ 14.0 และ 6.8 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 94,692 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบไตรมาส 4 ปี 2557 สำหรับการนำเข้าในเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2559 หดตัวร้อยละ 11.6 และ 5.7 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในไตรมาส 4 ปี 2558 อินเดียขาดดุลการค้า 31,702 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 153.1 ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบไตรมาส 4 ปี 2557 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่ม ค่าใช้จ่ายภายในบ้านขยายตัวในทุกรายการ

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ธนาคารกลางอินเดียได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 6.75 ลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.50 จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ