สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 16:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ปี 2559 คาดว่าการผลิต เยื่อกระดาษและกระดาษ จะขยายตัวจากความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคภายในและเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นการส่งออกเยื่อกระดาษ คาดว่า จะลดลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่ส่งผลให้การลงทุนภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษและหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะขยายตัวโดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และฮ่องกง สำหรับการนำเข้า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษคาดว่า จะลดลงจากการผลิต ที่เพียงพอต่อความต้องการภายในประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทที่เป็นปัจจัยทำให้การนำเข้าลดลง ส่วนสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าภาพถ่ายภาพพิมพ์ ซึ่งมีราคาสูงจากเกาหลีใต้ เนื่องจากศิลปินและนักร้องจากเกาหลีใต้ เข้ามาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยจำนวนมาก

การผลิต

การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษปี 2559คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.84 0.65 11.90 3.48 และ 0.07 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอางปูนซีเมนต์ ที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคภายในที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับเหตุการณ์สำคัญที่กระตุ้นให้ความต้องการกระดาษประเภทต่าง ๆ ขยายตัว เช่นการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น รวมถึงเป็นการขยายการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัว

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

1.เยื่อกระดาษคาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ154ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.8 (ตารางที่ 2) เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนส่วนหนึ่งจากการชะลอการส่งออกเยื่อกระดาษของผู้ประกอบการไทยไปยังโรงงานในประเทศฝรั่งเศส ประกอบกับการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป และเอเชีย ที่ลดลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ค่อนข้างผันผวนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ทำให้การลงทุนภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,625ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.73 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนโดยเป็นการส่งออกกระดาษและกระดาษแข็งที่ไม่เคลือบ และบรรจุภัณฑ์กระดาษประเภท กล่อง ซอง ถุง ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญที่มีการขยายตัว ได้แก่ เวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ส่งผลให้มีการนำเข้าบรรจุภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้น

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.83 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการขยายตัวของการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือและโบรชัว รูปลอก และสิ่งพิมพ์โฆษณาไปยังตลาดอินโดนีเซีย และฮ่องกงซึ่งมีภาวะเศรษฐกิจขยายตัว

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษคาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 643 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.66 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่3)เนื่องจากการผลิตในประเทศเพียงพอต่อความต้องการภายใน ประกอบกับการส่งออกเยื่อกระดาษที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความต้องการเยื่อใยยาวจากต่างประเทศลดลง

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษคาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 1,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.55 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนจากความต้องการกระดาษแข็ง และบรรจุภัณฑ์กระดาษจากต่างประเทศลดลง โดยเป็นการใช้กระดาษที่ผลิตได้ภายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการนำเข้าลดลง

3.สิ่งพิมพ์คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ333 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ54.70 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพถ่ายและภาพพิมพ์ ซึ่งมีราคาสูงจากเกาหลีใต้ เนื่องจากความนิยมศิลปินเกาหลี และมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินและนักร้อง จากเกาหลีใต้ ในประเทศไทยจำนวนมากในช่วงต้นปี

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  • กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการสร้างมูลค่าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสินค้า นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลจึงเป็นโอกาส และความท้าทายของผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
  • มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนขยายตัวตามไปด้วย

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

สถานการณ์อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ปี 2559 คาดว่าการผลิต เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก จะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคภายในที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับเหตุการณ์สำคัญที่กระตุ้นให้ความต้องการขยายตัว เช่น การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น รวมถึงผลิตเพื่อรองรับการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัว

การส่งออก ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า เยื่อกระดาษ จะมีการส่งออกลดลง จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ทำให้การลงทุนภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษและหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะขยายตัวจากการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น เวียดนาม ซึ่งมีการขยายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าบรรจุภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือและโบรชัว รูปลอก และสิ่งพิมพ์โฆษณา ไปยังตลาดอินโดนีเซีย และฮ่องกง

การนำเข้า ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษจะมีการนำเข้าลดลง จากการผลิตในประเทศเพียงพอต่อ ความต้องการภายในประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีการนำเข้าลดลง สำหรับสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพถ่ายและภาพพิมพ์ ซึ่งมีราคาสูงจากเกาหลีใต้ เนื่องจากมีความนิยมศิลปินเกาหลี และการจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินและนักร้องจาก เกาหลีใต้ ในประเทศไทยจำนวนมากในช่วงต้นปี

แนวโน้มปี 2560

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2560 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ในภาพรวมจะสามารถขยายตัวได้จากเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีทิศทางขยายตัว ยกเว้นกระดาษพิมพ์เขียน ที่คาดว่า จะมีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากเอกสาร หนังสือ สื่อโฆษณาในรูปแบบกระดาษถูกแทนที่ด้วยระบบดิจิทัล ส่งผลให้การผลิตกระดาษพิมพ์เขียนลดลง ประกอบกับการนำเข้ากระดาษดังกล่าวส่วนหนึ่งจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน

การส่งออกเยื่อกระดาษ คาดว่า จะลดลงจากความต้องการที่ลดลงของประเทศคู่ค้าสำคัญ สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะขยายตัวได้จากการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ในส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากความนิยมสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัล

การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวตามความต้องการกระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเช่นเดียวกัน สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะชะลอตัวจากการผลิตภายในประเทศ ที่สามารถรองรับความต้องการภายในได้เพียงพอ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ