สศอ. ร่วม ม.หอการค้า เผยผลสรุปการเสวนาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเป็นที่น่าพอใจพร้อมเห็นโอกาสบรรลุผลตามเป้าหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 8, 2017 13:49 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสรุปการเสวนาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเป็นที่น่าพอใจ พร้อมเห็นโอกาสที่อุตสาหกรรมไทยจะสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องมีการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นตลอด 20 ปี

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดการเสวนา Morning TaIk ภายใต้โครงการ InteIIigence Unit ในหัวข้อ "ส่องอนาคต 10 อุตสาหกรรม S-Curve" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบจากงบประมาณใช้จ่ายของรัฐในแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพปี 2560 และปี 2561 รวมถึงคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใน 20 ปีข้างหน้าตามที่รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้าเพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและก้าวเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2575 โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 .5 ต่อปี การลงทุนเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.0 ต่อปี มูลค่าการส่งออกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.0 ต่อปี ผลิตภาพรวม (TFP) เติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 ต่อปี และสร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ (New Warrior 4.0) จำนวน 150,000 ราย ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จำเป็นต้องมีการเตรียมการเพื่อแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เพื่อต่อยอด S-Curve เดิมที่กำลังจะถึงจุดอิ่มตัว ให้มีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง และสร้าง S-Curve ใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้มากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมศักยภาพที่จะใช้ผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เผยว่า ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีแผนพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพที่เน้นพัฒนาผลิตภาพอุตสาหกรรม ผลิตภาพแรงงาน ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยปี 2560 มีงบประมาณทั้งสิ้น 1,192 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.12 ของค่าใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแผนที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยงบประมาณข้างต้นถ้านำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยใช้แบบจำลองเมตริกซ์บัญชีสังคม พบว่าจากงบประมาณดังกล่าวจะส่งผลให้ในปี 2560 GDP ของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19 ส่วนในปี 2561 GDP ของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.81 และเมื่อพิจารณาผลกระทบแยกตามอุตสาหกรรมเป้าหมายพบว่า อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นมากที่สุดจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ส่วนแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นมากที่สุดจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น เหล็กและปูนซีเมนต์

นายศิริรุจ กล่าวต่อว่า การประเมินทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในอนาคตจากการพัฒนา 10 อุตสาหกรรม S-Curve ผ่านแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกพบว่าถ้ารัฐบาลมีงบประมาณพัฒนาเพิ่มขึ้นตลอด 20 ปี (พ.ศ. 2561-2579) จะสามารถทำให้อุตสาหกรรมไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยในช่วง 10 ปีแรก (พ.ศ. 2561-2569) GDP ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 4.3 ต่อปี GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปี การลงทุนขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 10.0 ต่อปี และการส่งออกอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 9.1 ต่อปี สำหรับใน 10 ปีหลัง (พ.ศ. 2570-2579) ถ้ารัฐบาลยังคงมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ GDP ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปี GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 8.1 ต่อปี การลงทุนขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 13.5 ต่อปี และการส่งออกอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 12.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลของแผนบูรณาการอื่น ๆ ของภาครัฐ เช่น การพัฒนา SMEs เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ซึ่งถ้ารวมผลในส่วนนี้อาจส่งผลให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายมากขึ้น นอกจากนี้ถ้าผลิตภาพรวม (TotaI Factor Productivity : TFP) ภาคอุตสาหกรรมสามารถบรรลุเป้าหมายโดยโตร้อยละ 2 ต่อปีตลอดระยะเวลา 20 ปี จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสในการบรรลุเป้าหมายมากขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องมีงบประมาณพัฒนาอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 20 ปี โดยในช่วง 10 ปีแรก GDP ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 5.1 ต่อปี GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 6.4 ต่อปี การลงทุนขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 11.9 ต่อปี และการส่งออกอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 10.8 ต่อปี สำหรับ 10 ปีหลัง GDP ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 6.6 ต่อปี GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 8.9 ต่อปี การลงทุนขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 15.3 ต่อปี และการส่งออกอุตสาหกรรมขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 14.0 ต่อปี ซึ่งจากการขยายตัวทางสถิติต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าถ้า TFP มีการขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี และมีการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นตลอด 20 ปี จึงจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมไทยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ตลอด 20 ปี

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ