สศอ.เผยผลการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตภาคอุตฯ ตามแผนแม่บทฯ คาดผลิตภาพการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.73

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 4, 2018 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 – 2564 ร่วมกับสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม 9 สถาบัน คาดผลิตภาพการผลิตของธุรกิจที่ในอุตสาหกรรมหลัก 8 อุตสาหกรรม ตามแผนแม่บทฯ จะขยายตัวร้อยละ 1 อย่างไรก็ดีหากมีการพัฒนาผลิตภาพของธุรกิจทั้งหมดใน 8 อุตสาหกรรมนี้ ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทฯ คาดว่าจะทำให้ผลิตภาพการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.73

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนและกำกับการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ 2560 ภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 – 2564 จำนวน 21 โครงการ ร่วมกับสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม 9 สถาบัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. การยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงร้อยละ 10 และมีการพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตในอุตสาหกรรม โดยมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมเข้าโครงการฯ จำนวนกว่า 532 โรงงาน

2. การยกระดับผลิตภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะรอบด้านสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านการฝึกอบรมสัมมนา โดยมีบุคลากรที่ได้รับ การพัฒนาแล้วรวมทั้งสิ้น 2,892 คน โดยแบ่งออกเป็น แรงงานที่มีทักษะมากกว่า 1 อย่าง (Multi-skill) จำนวน 489 คน จากเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 450 คนต่อปี และผู้ที่ผ่านการถ่ายทอดความรู้ 2,403 คน จากเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อปี

3. การพัฒนาศักยภาพของปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพที่นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการรวมกลุ่มเครือข่ายของกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีความเข้มแข็งจำนวน 3 กลุ่ม รวมถึงสร้างฐานข้อมูลสำหรับการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ในอนาคต แบบจำลองในการวิเคราะห์อนาคต (Foresight framework) และสร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคต (Scenarios) เพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์

นายศิริรุจ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลกระทบโครงการต่อการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตและผลิตภาพแรงงานของภาคอุตสาหกรรม โดยมีผลการประเมินโครงการที่เป็นการประเมินผลสำเร็จรายสาขาอุตสาหกรรม เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรมในด้านการเพิ่มขึ้นของปริมาณและมูลค่าผลผลิต ซึ่งได้ใช้การวิเคราะห์เศรษฐมิติเพื่อประกอบการประเมิน โดยแบ่งออกเป็น 8 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลาสติก อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าและโลหะ และอุตสาหกรรมการแพทย์

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ในภาพรวมของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม การดำเนินโครงการฯ อาจทำให้มีอัตราการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.73 ในขณะที่การประเมินผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพแรงงาน พบว่า ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลาสติก จะมีการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานที่ร้อยละ 0.89 เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.95 สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก 6 สาขา จะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.89

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ