ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 22, 2018 14:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากฐานที่สูง เนื่องมาจากในเดือนกันยายน 2560 อุตสาหกรรมสำคัญหลายตัวมีการขยายตัวในระดับสูง อาทิ รถยนต์ Hard Disk Drive การแปรรูปผักผลไม้ นอกจากนี้ในเดือนกันยายน 2561 การส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลียหดตัวค่อนข้างมากจากการเร่งส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นการปรับตัวลงในระยะสั้น เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบไม่รวมทองคำซึ่งเป็นดัชนีชี้นำการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวร้อยละ 7.1 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 106.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.6 ในเดือนสิงหาคม

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 5.0 เดือนกรกฎาคมร้อยละ 4.9 และเดือนสิงหาคมร้อยละ 0.8 ส่งผลให้ MPI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.9

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตามปกติ กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ -1.1 เดือนกรกฎาคมร้อยละ -2.8 และเดือนสิงหาคมร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลในรอบปี ที่ MPI จะชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมหลังจากการที่โรงงานส่วนใหญ่เร่งผลิตในเดือนพฤษภาคมเพื่อชดเชยการปิดทำการช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกันยายน 2561 หดตัว คือ
  • รถยนต์และเครื่องยนต์ ลดลงร้อยละ 3.89 จากการปรับตัวลดลงของเครื่องยนต์แก๊สโซลีน เครื่องยนต์ดีเซล และรถปิกอัพ ตามการส่งออกที่ชะลอตัว โดยลดลงจากตลาดโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ สำหรับการจำหน่ายในประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ลดลงร้อยละ 12.9 จากยางแผ่น เนื่องจากลูกค้าจีนยังมีสินค้าอยู่ใน สต๊อกเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้ลูกค้าจากจีนชะลอคำสั่งซื้อลง
  • มอเตอร์ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 34.0 จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนลดคำสั่งซื้อลง และผู้ผลิตเปลี่ยนแผนการผลิตเป็นผลิตตามคำสั่งซื้อแทนการผลิตเก็บสต๊อก
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกันยายน 2561 ขยายตัว คือ
  • น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 108.0 จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบไปเป็นน้ำตาลทรายขาว
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยเฉพาะ PCBA (แผ่นวงจรพิมพ์) และ integrated circuits (แผงวงจรรวม) ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • การกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามความต้องการของตลาดในประเทศในการขนส่ง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2561 จะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0 (ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.5) โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางประเทศที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐรวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่าง ๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนกันยายน 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนกันยายน 2561 มีมูลค่า 1,409.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ใช้ในการแปรรูปยาง หรือพลาสติก

+ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนกันยายน 2561 มีมูลค่า 7,199.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
  • จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 354 โรงงาน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 6.1 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.2 (%YoY)
  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 มีมูลค่ารวม 15,435.4 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 5.7 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 35.5 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกันยายน 2561 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (30 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรม การทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม (22 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2561 คือ อุตสาหกรรมการเกี่ยวกับการถลุง หล่อ หลอม รีด ดึง หรือผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า จำนวนเงินทุน 1,730 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการต้ม นึ่ง หรืออบพืชหรือเมล็ดพืช จำนวนเงินทุน 1,333 ล้านบาท"
  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนกันยายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 115 ราย ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 2.5 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 57.5 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนกันยายน 2561 มีมูลค่ารวม 1,607.9 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 21.9 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนกันยายน 2561 คือ อุตสาหกรรมการดูดทราย (11 โรงงาน) และอุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (10 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนกันยายน 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ มูลค่าเงินลงทุน 156 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม มูลค่าเงินลงทุน 137 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนกันยายน 2561

1. อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนกันยายน 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ น้ำตาลทราย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 111.0 (ตัน-%YoY) เพื่อรองรับการละลายน้ำตาลทรายดิบ เพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40-45 จากปีก่อน ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋องปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 (%YoY) จากความกดดันด้านราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าคลายตัว ทำให้ประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อมากขึ้น

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และนมพร้อมดื่ม การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 และ 3.0 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนกันยายน 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 (%YoY) เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนกันยายน 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.6 (%YoY) โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้า เช่น ทุเรียนสด น้ำตาลทรายดิบ แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวหอมมะลิ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.73 104.8 62.8 40.8 22.2 18.3 7.0 4.9 และ 3.0 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนตุลาคม 2561 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโอกาสขยายการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ กุ้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สุกรแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่าจีนจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากสหรัฐน้อยลงจากการขึ้นภาษี เพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ รวมทั้งสินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยบวกจากนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ยิ่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.16 และ 10.94 ตามลำดับ (%YoY) ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยคอลลาเจน เส้นใย อาระมิด และการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกลุ่มเครื่องแต่งกายบุรุษ ตามแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัว

  • ผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 14.79 (%YoY) เนื่องจากประกอบการทอผ้ารายใหญ่หยุดสายการผลิตบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุง ประกอบกับความต้องการผ้าทอจากฝ้ายของตลาดทั้งในและต่างประเทศลดลง
การจำหน่ายในประเทศ

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 3.56 และ 25.23 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการยูนิฟอร์มของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ

  • ผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 1.52 (%YoY) ในกลุ่มผ้าทอจากฝ้ายตามความต้องการในตลาดที่ลดลง
การส่งออก

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.62 และ 2.71 ตามลำดับ (%YoY) โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยที่มีสมบัติพิเศษ ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา บังคลาเทศ และกัมพูชา

  • ผ้าผืน มูลค่าลดลง ร้อยละ 8.55 (%YoY) โดยเฉพาะกลุ่มผ้าผืนที่ทำจากฝ้ายซึ่งไทยไม่มีวัตถุดิบ ในประเทศ สำหรับตลาดสำคัญที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ เวียดนาม และเมียนมา
คาดการณ์แนวโน้มเดือนตุลาคม 2561

แนวโน้มการผลิตเส้นใยสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออก โดยเป็นกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ และเสื้อผ้า ที่ผลิตจากเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ เช่น เสื้อผ้ากีฬา อย่างไรก็ตาม กลุ่มผ้าผืน อาจมีการผลิตและส่งออกชะลอตัวในกลุ่มผ้าฝ้าย ซึ่งไทยไม่มีวัตถุดิบในประเทศ ประกอบกับความต้องการผ้าฝ้ายของตลาดในประเทศลดลง

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนกันยายนปี 2561 มีจำนวน 183,191 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 1.08 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.72 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 88,706 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 2.18 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.32 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนมีการขยายตัว ผลผลิตสินค้าทางการเกษตร ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจและเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 104,163 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 1.61 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.67 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ชะลอตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ในเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงมาก รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม ปี 2561 จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกรถยนต์ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์
  • การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 165,551 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 4.07 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.80 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 140,500 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 10.43 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.67 (%YoY) จากการปรับลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 111-125 ซีซี และตั้งแต่ 400 ซีซีขึ้นไป
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 26,403 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 8.77 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.74 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเมียนมา
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 จะชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2560"

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 7.11 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 0.14 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.43 (%YoY) เพื่อรองรับการขยายตัวตามการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคภาครัฐ

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 2.87 ล้านตัน แม้จะลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 7.59 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.70 (%YoY) เนื่องจากขยายตัวตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐ และการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 0.95 ล้านตัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 24.46 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.51 (%YoY) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากจากตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ บังคลาเทศ (ในส่วนของปูนเม็ด) โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 351.61 รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อกลับมาจากประเทศกานาเพิ่มขึ้นมาก

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์รวมในเดือนตุลาคม ปี 2561 คาดว่าจะหดตัวลงกว่าเดือนนี้เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 3.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 0.66 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.27 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.85 ล้านตัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 8.23 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.49 (%YoY) โดยขยายตัวตามความคืบหน้าของการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐและการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน

  • การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีจำนวน 0.34 ล้านตัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2561 ร้อยละ 4.60 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 21.38 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักหลายตลาดปรับลดคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะบังคลาเทศไม่มีคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 รองลงมา คือ ศรีลังกาไม่มีคำสั่งซื้อติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนตุลาคม ปี 2561 คาดว่าจะหดตัวลงกว่าเดือนนี้เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝนซึ่งไม่เอื้อต่อการก่อสร้าง

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 96.5 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า สายไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และพัดลมตามบ้าน โดยลดลงร้อยละ 34.0 , 30.9 , 21.1 , 15.7 , 10.0 , 6.0 และ 0.8 โดยมอเตอร์ไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน พัดลมตามบ้าน และสายไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการในประเทศลดลง ส่วนสินค้าตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่สินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ และหม้อหุงข้าว โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 , 9.4 , 12.7 และ 3.1 ตามลำดับ โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดเวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 , 21.0 และ 16.1 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดตุรกีที่ถูกมาตรการตอบโต้ทางภาษีเครื่องปรับอากาศ รวมถึงความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนคอมเพรสเซอร์และหม้อหุงข้าวมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,979.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน และสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 173.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.3 ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 142.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.7 เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบมีมูลค่า 92.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 44.6 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 87.6 เนื่องจากมาตรการ "Safeguard สินค้าเครื่องซักผ้าที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทย ในขณะที่สินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 368 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 และเครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 154.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
"คาดการณ์การผลิตเดือนตุลาคม 2561 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น ในขณะที่เครื่องซักผ้ามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 113.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Printer, PCBA, Other IC, Semiconductor devices transistor (อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์) และ Monolithic IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1, 10.4, 6.5, 6.1 และ 3.1 ตามลำดับ ซึ่งเติบโตตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยเฉพาะ IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductor มากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ เช่น นาฬิกา จอ LED และโฟโต้เซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องถ่ายรูป ในขณะที่ HDD ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.6 เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่าย ทำให้มีการผลิต HDD ลดลง โดย HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage

  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,306.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน โดยสินค้าแผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 693.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.6 โดยลดลงในตลาดจีนถึงร้อยละ 50.8 เนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย ในขณะที่สินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,776.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5
"คาดการณ์การผลิตเดือนตุลาคม 2561 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีการผลิต ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีค่า 117.9 ลดลงร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 2.7 เป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ซึ่งลดลงร้อยละ 31.1 จากคำสั่งซื้อที่ลดลงของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ซึ่งลดลงร้อยละ 8.1 อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.46 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน 2561 ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 7.1 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อยลดลง ร้อยละ 23.3 รองลงมา ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น และเหล็กลวด โดยลดลงร้อยละ 21.4 และ 3.6 ตามลำดับ การผลิตเหล็กในเดือนกันยายนลดลงเป็นผลมาจากราคาสินค้าเหล็กที่ปรับลดลงทั้งในจีนและเอเชีย ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิต เพื่อรอดูทิศทางของตลาด

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีปริมาณ 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหล็กทรงยาว มีปริมาณการบริโภค 0.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.6 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.1 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 หลังจากลดลงติดต่อกันมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2561 ซึ่งขยายตัวตามแรงสนับสนุนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ สำหรับเหล็กทรงแบน มีปริมาณการบริโภค 0.9 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 4.4 โดยเหล็ก แผ่นรีดร้อนชนิดหนา ลดลงร้อยละ 28.0 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ซึ่งลดลง ร้อยละ 15.9 และ 9.9 ตามลำดับ

  • การนำเข้า ในเดือนกันยายน ปี 2561 มีปริมาณ 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.7 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ชนิดหนา ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 76.1 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดบาง ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 45.2 และ 22.1 ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้า เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดบาง ประเภท Stainless Steel และ Alloy Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 และ 16.6 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.2 รองลงมา ได้แก่ เหล็กลวด ประเภท Carbon Steel และเหล็กเส้น ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 และ 16.9 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนตุลาคม 2561 คาดการณ์ว่า การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และกลุ่มเหล็กทรงแบน จากคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมผลิตอาหารกระป๋อง รวมถึง การขยายตัวของการก่อสร้างที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็น ที่น่าติดตามเกี่ยวกับราคาสินค้าเหล็กที่ปรับลดลงทั้งในจีนและเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าเหล็กมากขึ้น โดยเฉพาะเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีจากจีน และเหล็กลวดจากเวียดนาม ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตสินค้าเหล็กภายในประเทศ"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ