ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนพฤศจิกายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2019 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม 2561 โดย MPI ขยายตัวร้อยละ 0.98 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยการบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.4

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีแม้จะหดตัวในเดือนกันยายนซึ่งก็เป็นการปรับลดลงชั่วคราว แต่ก็กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม กล่าวคือ ในเดือนสิงหาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 0.8 เดือนกันยายนร้อยละ -2.7 และเดือนตุลาคมร้อยละ 5.8 ส่งผลให้ MPI ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.2

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนสิงหาคม เดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนสิงหาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 0.2 เดือนกันยายนร้อยละ -1.9 ซึ่งตามฤดูกาลปกติ MPI จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน แต่ในเดือนกันยายนของปีนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงชั่วคราวของการส่งออก ส่วนเดือนตุลาคม 2561 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 3.2

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว คือ
  • รถยนต์และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.13 จากเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์แก๊สโซลีน และรถกระบะ ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลัก จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ผลิต
  • น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 236.44 จากการเปิดหีบเร็วกว่าปีก่อน 10 วัน (20 พ.ย.61) ตามปริมาณผลผลิตอ้อยที่มีมากเพื่อป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างเหมือนปีก่อน
  • การกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.24 จากแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลเป็นหลัก ตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการคมนาคมและการขนส่งในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.45 ตามการขยายตัวของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในประเทศและตลาดโลก
  • เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.74 จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้ผลิต และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก และประหยัดพลังงาน รวมถึงปริมาณการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่ปรับเพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2561 จะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0 (ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.5) โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่การท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ทยอยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต่อเนื่อง

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนพฤศจิกายน 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่า 1,678.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวจากการนำเข้า เครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ โดยมีการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการผลิตที่มีแนวโน้มเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี

+ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่า 7,461.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้า เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการใช้วัตถุดิบผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองตลาดในประเทศและการส่งออกสินค้าบางรายการ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 377 โรงงาน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2561 ร้อยละ 1.3 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 (%YoY)

  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่ารวม 16,360.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนตุลาคม 2561 ร้อยละ 50.0 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.5 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤศจิกายน 2561 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์ คอนกรีต คอนกรีตผสมยิปซั่ม ปูนปลาสเตอร์ (33 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน (21 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำไม้วีเนียร์ หรือไม้อัดทุกชนิด จำนวนเงินทุน 3,197 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรม ผลิต ประกอบ ซ่อมแซม เครื่องสูบน้ำ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น จำนวนเงินทุน 1,310 ล้านบาท"
  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 129 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2561 ร้อยละ 14.2 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.2 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่ารวม 1,971.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนตุลาคม 2561 ร้อยละ 0.2 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 95.4 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤศจิกายน 2561 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (14 โรงงาน) และอุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และอุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ (อุตสาหกรรมละ 7 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2561 คือ อุตสาหกรรมการหมัก คาร์บอไนซ์ สาง หวี รีด ปั่น อบ หรือย้อมสีเส้นใย มูลค่าเงินลงทุน 401 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้า มูลค่าเงินลงทุน 277 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนพฤศจิกายน 2561

1.อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ น้ำตาลทราย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 365 (ตัน-%YoY) เนื่องจากปีนี้เข้าสู่ฤดูการเปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปีก่อน ที่เปิดหีบ 1 ธ.ค. 60 ป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างในไร่เหมือนปีก่อน ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.8 และ 5.4 ตามลำดับ (%YoY) จากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ นมพร้อมดื่ม น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันถั่วเหลือง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.0 4.6 และ 2.1 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 2.3 (%YoY) เนื่องจากรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมหดตัวจาก ทั้งด้านราคา เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ ประกอบกับผลผลิตปรับลดลงจากปัญหาฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ เช่น ข้าวหอมมะลิ สับปะรด ปาล์มน้ำมัน
  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 8.4 (%YoY) ในสินค้าสำคัญ เช่น มันเส้น ลำไยสด น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว สับปะรดกระป๋อง ข้าวขาว และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยปรับตัวลดลง ร้อยละ 42.5 32.0 37.0 27.7 27.7 7.8 และ 6.1 ตามลำดับ (%YoY) อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญ อาทิ แป้งมันสำปะหลัง ซาร์ดีนกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูป และข้าวหอมมะลิ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าของตลาดโลก

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนธันวาคม 2561 มีแนวโน้มดีขึ้นสอดคล้องกับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากต่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง รวมทั้งสินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยบวกจากการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.89 (%YoY) ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยคอลลาเจน เส้นใยอาระมิด

  • ผ้าผืน และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 1.95 และ 2.4 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงงานทอผ้ายกเลิกการผลิตผ้าฝ้าย ซึ่งความต้องการของตลาดในประเทศและส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิต ผ้าทอใยสังเคราะห์ยังคงขยายตัวรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงในกลุ่มชุดชั้นในสตรี ซึ่งมีการนำเข้าจากจีนมาทดแทนการผลิตในประเทศ แต่ในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรียังขยายตัวได้ตาม
การจำหน่ายในประเทศ

+ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 8.64 และ 5.38 ตามลำดับ (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรม "bike อุ่นไอรัก" ซึ่งจะมีเสื้อให้สำหรับผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

  • กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ลดลง ร้อยละ 3.48 (%YoY) เนื่องจากมีการนำเข้าเส้นใยยาวคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก
การส่งออก

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.44 (%YoY) จากการที่ไทยได้รับความไว้วางใจในการผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิต

  • กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 8.30 และ 14.49 ตามลำดับ (%YoY) โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา และจีน
คาดการณ์แนวโน้มเดือนธันวาคม 2561

การผลิตและส่งออกเส้นใยสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัว โดยกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ขยายตัวตามความต้องการของตลาดสำคัญ เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวในกลุ่มที่รับจ้างผลิตให้กับ แบรนด์ต่างประเทศ ในส่วนการผลิตและส่งออกผ้าผืน อาจชะลอตัวในกลุ่มผ้าผืนใยสังเคราะห์ทั่วไปเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับจีน และเวียดนามได้

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 197,020 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 0.09 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.49 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิต รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 94,643 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 8.87 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 21.21 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน

  • การส่งออกรถยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 93,108 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 0.25 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.64 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรปและอเมริกาเหนือ
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนธันวาคม ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 189,690 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 13.37 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.43 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 145,633 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 4.55 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.85 (%YoY) จากการปรับลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 111-125 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 32,174 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 16.61 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.87 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเมียนมา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม ปี 2561 จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2560"

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม
  • การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 5.66 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 17.78 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.37 (%YoY) เนื่องจากลดการผลิตปูนเม็ดลง

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 2.87 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 2.39 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.59 (%YoY) โดยยังได้ปัจจัยบวกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐ

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 1.42 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 16.32 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.30 (%YoY) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากจากการส่งออกปูนเม็ดไปยังตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ บังคลาเทศ โดยเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 573.84

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนธันวาคม ปี 2561 ยังสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 3.10 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 2.62 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.48 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.77 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 2.90 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.80 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีจำนวน 0.38 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ปี 2561 ร้อยละ 4.94 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.59 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักที่มีการผลิตซีเมนต์ในประเทศแล้วมีการปรับลดคำสั่งซื้อลง ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยปรับลดลง ร้อยละ 26.08 21.35 และ 17.92 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนธันวาคม ปี 2561 คาดว่า จะยังสามารถขยายตัวได้เช่นกัน

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 103.5 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สายไฟฟ้า เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว ตู้เย็น มอเตอร์ไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์ และเตาไมโครเวฟ โดยลดลงร้อยละ 22.2 , 18.5 , 15.8 , 13.6 , 10.7 , 7.6 และ 6.8 โดยสินค้าสายไฟฟ้า หม้อหุงข้าว มอเตอร์ไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์ และเตาไมโครเวฟ ลดลงจากการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง ส่วนสินค้าตู้เย็นและเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่สินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต และพัดลมตามบ้าน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 , 13.4 , 7.0 และ 5.5 ตามลำดับ โดยสินค้ากระติกน้ำร้อน พัดลมตามบ้าน และเครื่องปรับอากาศมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายในประเทศและคำสั่งซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม เนื่องจากความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,951.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลงได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียน โดยตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 125.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.5 เครื่องซักผ้ามีมูลค่า 94.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 37.6 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 99.2 เนื่องจากมาตรการ Safeguard สินค้าเครื่องซักผ้าที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทยในขณะที่สินค้าเครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 328.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่าส่งออก 117.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.8 โดยเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
"คาดการณ์การผลิตเดือนธันวาคม 2561 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 108.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ PCBA, Semiconductor devices transistor (อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์), Printer และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2, 8.4, 5.7 และ 2.8 ตามลำดับ โดยเติบโตตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก ในขณะที่ HDD และMonolithic IC ลดลงร้อยละ 8.0 และ 1.4 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่ลดลง

  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,176.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนจากตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป โดยสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าส่งออก 1,273.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.8 HDD มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.9 ลดลงในตลาดจีนร้อยละ 36.5 วงจรรวมมีมูลค่าส่งออก 682.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.7 โดยลดลงในตลาดจีนและฮ่องกงร้อยละ 20.6 และ 14.6 เนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย
"คาดการณ์การผลิตเดือนธันวาคม 2561 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิต ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีค่า 117.7 ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ โดยเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 109.7 ลดลงร้อยละ 3.3 เป็นผลจากการลดลงของการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ซึ่งลดลงร้อยละ 18.7 และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนซึ่งลดลงร้อยละ 9.8 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีปัญหาด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กเคลือบสังกะสีในเดือนพฤศจิกายน มีการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ และเหล็กเคลือบสังกะสีเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 (โดยเพิ่มขึ้นทั้งเหล็กชนิดกัลวานีล (GA) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรม ก่อสร้าง) สำหรับเหล็กทรงยาว มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 124.2 ลดลงร้อยละ 1.9 จากการผลิตเหล็กเส้นกลมซึ่งลดลงร้อยละ 26.8 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น และเหล็กเส้นข้ออ้อยซึ่งลดลงร้อยละ 6.7 และ 6.5 ตามลำดับ

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีปริมาณ 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 1.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 จากเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.8 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 เป็นผลมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 แต่การจำหน่ายเหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 20.1 จากการลดลงของเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ซึ่งลดลงร้อยละ 20.8

  • การนำเข้า ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 มีปริมาณ 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณนำเข้า 0.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Stainless Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 138.4 จากประเทศไต้หวัน มาเลเซีย และญี่ปุ่น รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 118.5 110.1 และ 61.4 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.5 จากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และตุรกี รองลงมา ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Stainless Steel เหล็กเส้นกลม ประเภท Carbon Steel และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.0 43.8 และ 42.0 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนธันวาคม 2561 คาดการณ์ว่า การผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับราคาสินค้าเหล็กที่ปรับลดลงทั้งในจีนและเอเชีย โดยเฉพาะราคาเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนจากจีนซึ่งปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากการลดลงของราคาภายในประเทศ รวมถึงผลจากนโยบายเพิ่มอัตราการคืนภาษีสินค้าของจีน ซึ่งมีรายการสินค้าเหล็กรวมอยู่ด้วย เช่น เหล็กเคลือบสังกะสี คาดว่าผลจากมาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้า ของจีนมีการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอุตสาหกรรมเหล็กไทย"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ