ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2019 14:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2561 โดย MPI ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยการบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีแม้จะหดตัวในเดือนกันยายนซึ่งก็เป็นการปรับลดลงชั่วคราว แต่ก็กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม กล่าวคือ ในเดือนกันยายนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ -2.7 เดือนตุลาคมร้อยละ 5.8 และเดือนพฤศจิกายนร้อยละ 0.9 ส่งผลให้ MPI เฉลี่ยของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ MPI เฉลี่ยของปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนกันยายน เดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนเดือนกันยายนร้อยละ -1.9 ซึ่งตามฤดูกาลปกติ MPI จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน แต่ในเดือนกันยายนของปีนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงชั่วคราวของการส่งออก ส่วนเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2561 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 3.2 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนธันวาคม 2561 ขยายตัว คือ
  • รถยนต์และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.65 จากรถกระบะ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน โดยภาพรวมยังคงเติบโตจากตลาดในประเทศ โดยเฉพาะรถกระบะ และเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก รวมถึงผู้ผลิตมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปีอย่างต่อเนื่อง
  • น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.46 จากโรงงานส่วนใหญ่เปิดหีบอ้อย และโรงงานเพิ่มประสิทธิภาพ การหีบทำให้ผลิตได้ดีขึ้น
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.96 ตามการขยายตัวของสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก
  • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.43 จากน้ำอัดลม น้ำดื่มให้กำลังงาน น้ำชาและน้ำโซดา จากการเร่งผลิตหลังขยายกำลังการผลิต การเร่งผลิตหลังจากเปิดสายการผลิตใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาด
  • กระเป๋า เพิ่มขึ้นร้อยละ 189.74 จากสินค้ากระเป๋าถือ โดยเป็นการเร่งผลิตและส่งมอบเพื่อจำหน่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งในปีนี้ลูกค้าสั่งผลิตกระเป๋าขนาดเล็กราคาถูกจำนวนมาก และเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศ เป็นหลัก

ในปี 2562 คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จะขยายตัวเป็นบวกอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งจากผู้บริโภคและนักลงทุน แรงขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนสำคัญและการดำเนินงานภายใต้แผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนธันวาคม 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่า 1,391.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวจากการนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือขยายกำลังการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นการลงทุนในมาตรการพิเศษของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการก่อสร้างโครงการพื้นฐานของภาครัฐ

  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่า 6,339.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่มีการนำเข้าหดตัว เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) หลายรายการยังคงขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น โดยเป็นการนำเข้าเพื่อรองรับการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนธันวาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 338 โรงงาน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ร้อยละ 10.3 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.4 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่ารวม 146,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ร้อยละ 793.8 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 423.0 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนธันวาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (29 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (24 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ ซ่อมแซม เครื่องจักรต่าง ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยก ปั่นจั่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน รถบรรทุก รถแทรกเตอร์ รถพ่วงสำหรับใช้ในการอุตสาหกรรม จำนวนเงินทุน 122,777 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำชิ้นส่วน อุปกรณ์สำหรับรถยนต์จำนวนเงินทุน 2,881 ล้านบาท"

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนธันวาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 97 ราย ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ร้อยละ 24.8 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 56.5 (%YoY)

  • เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่ารวม 3,087.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ร้อยละ 56.6 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 371.8 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนธันวาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการสี ฝัด หรือขัดข้าว (8 โรงงาน) รองลงมาคืออุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน และอุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และอุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ (อุตสาหกรรมละ 7 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนธันวาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมทำชิ้นส่วน อุปกรณ์สำหรับรถยนต์ มูลค่าเงินลงทุน 876 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องสุขภัณฑ์เหล็กหรือโลหะเคลือบเครื่องทองเหลือง มูลค่าเงินลงทุน 662 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนธันวาคม 2561

1. อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ น้ำตาลทราย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 (ตัน-%YoY) เนื่องจากปีนี้เข้าสู่ ฤดูการเปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปีก่อน เพื่อป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างในไร่เหมือนปีก่อน ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูป และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.6 4.5 และ 0.4 ตามลำดับ (%YoY) จากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ นม พร้อมดื่ม น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 3.2 และ 0.3 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 (%YoY) เนื่องจากรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมบางพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ด้วยราคาสินค้าเกษตรบางรายการสำคัญที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อาทิ ข้าวและมันสำปะหลัง ประกอบกับผลผลิตปรับเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไม

  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ร้อยละ 4.2 (%YoY) ในสินค้าสำคัญ เช่น มันเส้น สับปะรดกระป๋อง ทุเรียนสด ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และแป้งมันสำปะหลัง โดยปรับตัวลดลง ร้อยละ 60.2 31.7 13.0 7.3 4.8 และ 2.1 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาบางส่วน แม้สินค้าสำคัญ อาทิ ข้าว (ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ) น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป ซาร์ดีนกระป๋อง และทูน่ากระป๋อง ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าของตลาดโลก

คาดการณ์แนวโน้ม อุตสาหกรรมอาหารเดือนมกราคม 2562 มีแนวโน้มดีขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยบวกจาก EU ปลดล็อคใบเหลือง IUU Fishing หนุนภาพลักษณ์ประมงไทย และการเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ไปอีก 90 วัน ของสหรัฐอเมริกา และจีน

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 5.97 และ 11.59 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ตุรกี บังคลาเทศ และเกาหลีใต้ เพื่อนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.40 (%YoY) จากการผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีเพื่อส่งออกให้แบรนด์ต่างประเทศ

การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 23.50 และ 7.44 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากมีการนำเข้าเส้นใยยาวคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา และผ้าผืนตกแต่งสำเร็จจากไต้หวัน และเวียดนาม เข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.57 (%YoY) เนื่องจากกิจกรรม "bike อุ่นไอรัก" ซึ่งมีการแจกเสื้อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว ครั้งที่ 2" ซึ่งมีการจำหน่ายเสื้อที่ระลึกงานดังกล่าว

การส่งออก
  • กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 9.20 และ 4.51 ตามลำดับ (%YoY) โดยการส่งออกกลุ่มเส้นใยสิ่งทอไปยังตลาดสำคัญลดลง ได้แก่ ตุรกี บังคลาเทศ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ในส่วนตลาดสำคัญของผ้าผืน ได้แก่ เวียดนาม และเมียนมา ลดลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้าและลงทุนในประเทศผู้ผลิตดังกล่าวชะลอตัวจึงสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยลดลง

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.74 จากการที่ไทยได้รับความไว้วางใจในการผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ ในลักษณะการรับจ้างออกแบบและผลิต

คาดการณ์แนวโน้มเดือนมกราคม 2562

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้า การลงทุนในตลาดดังกล่าวชะลอตัว มีผลต่อผู้ผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มที่รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศ

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 169,355 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 14.04 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.73 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 113,581 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 20.01 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.90 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้ง ดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 95,407 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 2.47 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.45 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนมกราคม ปี 2562 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ"
  • การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 148,791 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 21.56 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.31 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 137,300 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 5.72 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.39 (%YoY)จากการปรับเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 126-250 ซีซี, 251-399 และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 38,324 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 19.11 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.71 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เวียดนาม

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม ปี 2562 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ปี 2561"

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 7.13 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 26.06 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.33 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 2.84 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 2.08 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 2.96 (%YoY)

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 1.36 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 4.27 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.08 (%YoY) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากจากการส่งออกปูนเม็ดไปยังตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ศรีลังกา โดยเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 91.80

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมในเดือนมกราคม ปี 2562 จะยังสามารถขยายตัว ได้อีกเล็กน้อย

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 3.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 11.81 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.21 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 2.27 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 2.29 (%YoY)

  • การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีจำนวน 0.34 ล้านตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ร้อยละ 11.93 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกัน ของปีก่อน ร้อยละ 36.09 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักที่มีการผลิตในประเทศแล้วมีการปรับลดคำสั่งซื้อลง ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ร้อยละ 40.71 24.23 และ 23.91 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยได้ออกไปลงทุนผลิตในตลาดหลักเดิมในหลายประเทศแล้ว

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมกราคม ปี 2562 คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้อีกเล็กน้อยเช่นเดียวกัน

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 89.8 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สายไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ และตู้เย็น โดยลดลงร้อยละ 28.1 , 11.6 , 11.3 , 11.1 และ 5.8 ตามลำดับ โดยสายไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า และเตาไมโครเวฟมีการผลิตที่ลดลงจากตลาดในประเทศ ส่วนสินค้าตู้เย็นและเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามสินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต หม้อหุงข้าว พัดลมตามบ้าน และคอมเพรสเซอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 , 14.5 , 13.8 , 8.7 , 6.9 และ 0.7 ตามลำดับ ซึ่งสินค้ากระติกน้ำร้อนและเครื่องปรับอากาศมีการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย และญี่ปุ่น โดยเพิ่มในตลาดญี่ปุ่นเนื่องจากการเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปี 2020 ส่วนหม้อหุงข้าวและพัดลมมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,831.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและจีน โดยสินค้าแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามีมูลค่า 156.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.4 ตู้เย็น ตู้แช่และส่วนประกอบมีมูลค่า 127.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.7 ส่วนเครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้ง และส่วนประกอบมีมูลค่า 120.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.4 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริการ้อยละ 26.7 เนื่องจากมาตรการ Safeguard สินค้าเครื่องซักผ้าที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทย ในขณะที่เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่า 359.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 โดยเพิ่มขึ้นในตลาดอินเดียถึงร้อยละ 125.2
"คาดการณ์การผลิตเดือนมกราคม 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น และอาเซียนเพิ่มขึ้น"
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 101.6 ลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD และ Semiconductor devices transistor (อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์) โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 23.5 และ 11.3 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากประเทศฮ่องกงที่ลดลง ในขณะที่ PCBA, Printer, Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1, 12.2, 3.4 และ 2.6 ตามลำดับ โดยเติบโตตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,878.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,084.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.0 (HDD มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 26.9 ลดลงในตลาดจีนร้อยละ 49.2) แผงวงจรไฟฟ้า (IC) มีมูลค่าส่งออก 679.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.5 โดยลดลงในตลาดจีนและฮ่องกงร้อยละ 9.4 และ 13.5 เนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย
"คาดการณ์การผลิตเดือนมกราคม 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2561

6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิต ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีค่า 103.8 ลดลงร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็ก ทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 101.8 ลดลงร้อยละ 6.9 เป็นผล มาจากการลดลงของการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน ชนิดม้วน ซึ่งลดลงร้อยละ 27.9 เนื่องจาก (1) ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ตลาดสินค้าเหล็กชะลอตัว และทำให้ราคาสินค้าเหล็กปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจึงชะลอการสั่งสินค้าเพื่อรอดูทิศทางของตลาดและราคา และ (2) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ผู้ผลิตท่อเหล็กไร้ตะเข็บ มีการนำเข้าสินค้าเหล็กมากขึ้น เนื่องจากมีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เข้ามาทำตลาด เช่น สินค้าจากจีน และเวียดนาม ส่งผลให้การผลิตในประเทศลดลง และแผ่นเคลือบดีบุก ซึ่งลดลงร้อยละ 24.7 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 106.0 ลดลงร้อยละ 1.3 จากการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น ลดลงร้อยละ 25.3 รองลงมา ได้แก่ เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 18.9 และ 3.8 ตามลำดับ
  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.8 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 12.5 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลงร้อยละ 31.7 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (ทั้งแบบ HDG และ EG) ลดลงร้อยละ 9.4 และ 6.0 ตามลำดับ แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9
  • การนำเข้า ในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีปริมาณ 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณนำเข้า 0.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.6 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 32.1 จากประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน รองลงมา ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ และเหล็กแผ่นบางรีดเย็น ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 31.8 และ 20.9 ตามลำดับ แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Stainless Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 118.0 จากประเทศจีน และญี่ปุ่น รองลงมา ได้แก่ เหล็กเส้นกลม ประเภท Alloy Steel และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.7 และ 35.0 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมกราคม 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับการปรับลดราคาสินค้าเหล็กในตลาดโลก เนื่องจากจีนลดการบริโภคสินค้าเหล็ก ซึ่งผลจากการปรับลดราคาสินค้าเหล็กคาดว่าจะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเหล็กมากขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการประกาศใช้มาตรา 232 (Section 232) ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้หลายประเทศ ไม่สามารถส่งออกสินค้าเหล็กไปยังสหรัฐฯ ได้ และมีแนวโน้ม ส่งเข้ามายังไทยแทนมากขึ้น เช่น จีน และ เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตของไทย"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ