สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2562 และแนวโน้ม ปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 20, 2020 15:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

บทสรุปผู้บริหาร
สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2562 และแนวโน้ม ปี 2563

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.8 ในขณะที่ปี 2561 ที่ MPI ขยายตัวร้อยละ 3.6 โดย อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในปี 2562 อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่ตลาดลดลงเนื่องจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด การชะลอตัวของตลาดจีน และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง ยานยนต์ เป็นการลดลงของตลาดในประเทศเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และตลาดส่งออกเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว เหล็กและเหล็กกล้า ลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่ลดลง เช่น เหล็กลวด ลวดเหล็ก และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม ก่อสร้าง โดยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ส่งผลให้ยอดจำหน่าย และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดลง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่ลดลง เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เนื่องจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในปี 2562 อาทิ เครื่องปรับอากาศ โดยเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา เภสัชภัณฑ์ มีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของยาเม็ดและยาผงที่ผู้ผลิตบางรายสามารถทำตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้มีการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น

แนวโน้ม ปี 2563

ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 โดยมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่น่าจะมีออกมาเป็นระยะ นักลงทุนมีการย้ายสายการผลิตมาลงทุนในประเทศไทยจากผลของสงครามการค้า แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญๆ รวมถึงการดำเนินงานภายใต้แผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.0-0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.62 เช่น การสนับสนุนเงินค่าผ่อนดาวน์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผลของมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

เครื่องใช้ไฟฟ้า จะมีการผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.5 และ 2.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของภาครัฐ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอัดฉีดทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับตัวในการหาตลาดใหม่ในการส่งออกเพิ่มขึ้น

อิเล็กทรอนิกส์ จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1.6 และ 1.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกทยอยปรับตัวดีขึ้นและคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในสินค้าหลัก เช่น HDD ผู้ประกอบการผลิต HDD มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยทำให้คำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น

รถยนต์ จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,050,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.50 โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,000,000 คัน และเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1,050,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55-60

รถจักรยานยนต์ คาดว่า การผลิตจะทรงตัว คิดเป็นปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 2,100,000 คัน ทั้งนี้ จากปริมาณการผลิตที่คาดการณ์ไว้ข้างต้นจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 10-15

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะขยายตัวได้ไม่มากนักอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ตลอดจนสิ่งพิมพ์ที่เป็นปฏิทิน สมุดจดบันทึก (ไดอารี่) และบัตรส่งอวยพรความสุข (ส.ค.ส.) เพื่อส่งมอบเป็นของขวัญในช่วงส่งท้าย ปีเก่า มีทิศทางที่ชะลอตัวจากปีก่อนเช่นกัน สำหรับการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ คาดว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์ยังมีตลาดใหม่ ๆ รองรับแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงก็ตาม

เซรามิก การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอานิสงค์จากการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐโดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า เป็นตัวกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจและภาคเอกชน อีกทั้งการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น จีน และอาเซียน แต่อย่างไรก็ดีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อาจจะขยายตัวได้ไม่สูงมากนัก เนื่องจากการประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย ทำให้ต้นทุนภาษีสูงขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ วันที่ 25 เมษายน 2563 จากสินค้าทั้งหมด 573 รายการ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จากเซรามิกรวมอยู่ด้วย

ปูนซีเมนต์ การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมเม็ด) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะยังสามารถขยายตัวได้จากความต้องการของตลาดในประเทศ เนื่องจากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น การก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เป็นต้น รวมถึงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนตามแนวรถไฟฟ้า

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในสินค้ากลุ่มเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดจีน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรม

ไม้และเครื่องเรือนไม้ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่คาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ในส่วนของมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ

ยา คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายาของไทย

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยาง คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.05 1.27 และ 3.04 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางแปรรูปขั้นปฐม และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางรถยนต์และถุงมือยางของไทย

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความต้องการใช้หนังในการผลิตเบาะรถยนต์ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดที่มีมูลค่าชะลอตัว เช่นเดียวกับการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตัวเองหันไปจ้างประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ผลิตแทน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางมีทิศทางขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งชาวต่างชาติมีความนิยมในผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และผลิตภัณฑ์หนัง Exotic เช่น หนังงู หนังปลากระเบน และหนังจระเข้ ของไทย

อัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมยังคงมีทิศทางทรงตัว หรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้มีกำลังซื้อในตลาดหลักยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะสินค้าที่มีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่นเดียวกับการส่งออกในภาพรวม คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัว จากการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกขยับตัวอยู่ในระดับสูงขึ้น

อาหาร คาดว่าดัชนีการผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารปี 2563 ขยายตัวเล็กน้อย จากปีก่อนร้อยละ 1.2-1.5 และ 2.7-3 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกจากความต้องการบริโภคของต่างประเทศเพิ่มขึ้นในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น เพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 และตลาดจีนที่เพิ่มคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยจีนให้การรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์สัตว์ปีกของไทยมากขึ้น แม้จะมีปัจจัยลบอย่างวัตถุดิบทางการเกษตรที่ลดลงด้วยผลกระทบจากภัยแล้ง อาทิ น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลัง กอปรกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า สหรัฐฯ - จีน และค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกอาจจะฟื้นตัวช่วงปีหน้าแต่อาจเป็นการฟื้นตัวแบบไม่ชัดเจน

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2562 และแนวโน้ม ปี 2563

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP สามไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอตัวลงจากสามไตรมาสแรกของปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.3

ในสามไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.4 ภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 การใช้จ่ายอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 การลงทุนรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ 5.0

GDP สาขาอุตสาหกรรม สามไตรมาสแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 0.4 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากสองไตรมาสแรกที่มีการขยายตัวร้อยละ 0.2 และหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยชะลอตัวจากการผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออก โดยขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า และส่งเสริมพัฒนาห่วงโซ่การผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม - ตุลาคม) ของปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 102.34 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 (105.73) ร้อยละ 3.20

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตยานยนต์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมเป็นต้น

สำหรับแนวโน้มปี 2563 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 เนื่องมาจากความต่อเนื่องในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เป็นต้น ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม - ตุลาคม) ของปี 2562 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 102.76 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 (105.10) ร้อยละ 2.22

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มปี 2563 คาดว่า ดัชนีการส่งสินค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ข้างต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ม.ค.-ต.ค. 2562 ขยายตัวร้อยละ 10.83 (%YoY)

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม -ตุลาคม) ของปี 2562 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 134.65 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 (121.50) ร้อยละ 10.83

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 อาทิ การผลิตยานยนต์ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มปี 2563 คาดว่า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ตามภาวะอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิต ม.ค.-ต.ค. 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 66.82

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม -ตุลาคม) ของปี 2562 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.82 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 (ร้อยละ 69.92)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 อาทิ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มปี 2563 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2562 เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลตะวันออก (EEC) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แบบไร้รอยต่อ และ การดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม
ม.ค. - ต.ค. อยู่ที่ระดับ 94.07

ในช่วงเดือน ม.ค. - ต.ค. (10 เดือนแรก) ของปี 2562 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 94.07 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 (91.24) และดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 103.13 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 (103.36)

สำหรับแนวโน้มในปี 2563 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากปี 2562 เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2563 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแรง และความต่อเนื่องในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขยายตัว อย่างต่อเนื่อง อาทิ รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เป็นต้น ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันอาจจะทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศด้วยเช่นกัน

การค้าต่างประเทศ
"มูลค่าการค้าต่างประเทศปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) หดตัวจากปี 2561 (ม.ค.-ต.ค.) โดยมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าหดตัวลง ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ปริมาณการค้าในตลาดโลกชะลอตัวลง โดยในภาพรวมดุลการค้าต่างประเทศยังคงเกินดุล 7,887.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ"

สถานการณ์การค้าต่างประเทศในปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 406,771.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 207,329.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 2.4 และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 199,441.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 4.1 อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ยังคงมีดุลการค้าเกินดุล 7,887.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 207,329.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.4 เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 18,425.8 เหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.91 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 165,894.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.4 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 7,466.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 19.0 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 15,542.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 1.4 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัวลง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 23,387.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.0) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 15,031.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.0) และเม็ดพลาสติก (มูลค่าการส่งออก 7,744.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 11.1) ขณะที่สินค้าบางรายการยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (มูลค่าการส่งออก 13,976.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 9,226.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 4,711.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9)

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักในปี 2562 (ม.ค.ต.ค.) ซึ่งได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) มีสัดส่วนการส่งออกคิดรวมเป็นร้อยละ 69.1 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกายังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.1 ขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน(9) สหภาพยุโรป(27) จีน และญี่ปุ่น มีอัตราการขยายตัวลดลง ร้อยละ 8.4 6.0 5.5 และ 0.3 ตามลำดับ

การนำเข้าในปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 199,441.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.1 เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 31,768.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.6 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้า 51,395.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.7 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า 78,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.5 สินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่าการนำเข้า 23,225.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีมูลค่าการนำเข้า 12,569.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และสินค้าหมวดอาวุธยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 2,472.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 295.0

แหล่งนำเข้า

ในปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ ประเทศจีน อาเซียน(9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(27 ประเทศ) และสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 70.0 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า แหล่งนำเข้าสำคัญของไทยที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และอาเซียน(9) โดยขยายตัวร้อยละ 18.6 และ 0.4 ขณะที่สหภาพยุโรป(27) ญี่ปุ่น และจีน อัตราการขยายตัวลดลง ร้อยละ 7.6 4.5 และ 0.4 ตามลำดับ

แนวโน้มการส่งออก

การส่งออกไทยในปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนชะลอตัวลงทั้งในภาพรวมและภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังคงยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งสร้างความวิตกกังวลในหลายประเทศทั่วโลก เป็นสาเหตุให้ปริมาณการค้าในตลาดโลกชะลอตัวลง สะท้อนได้จากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ อาเซียน(9) สหภาพยุโรป(27) จีน และญี่ปุ่น มีอัตราการขยายตัวลดลง อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยไปยังสหรัฐอเมริกายังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ภาพรวมการส่งออกไทยในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัวลงเกือบทุกภูมิภาค เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ การวางแผนการลงทุนในตลาดโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ย่อมส่งผลให้ต้นทุนทางการค้าสูงขึ้นจากกำแพงภาษี และการการค้าโลกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตชะลอตัวลง นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันภาวะเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ เช่น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีระดับแข็งค่าขึ้น อยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ฮ่องกง ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อาจส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตอยู่ในกรอบที่จำกัด

เศรษฐกิจโลก ปี 2562
"ภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีทิศทางชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการผลิต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับทรงตัว"

ปี 2562 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ลดลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2562 มีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่อง ตามปริมาณการค้าโลกที่หดตัวลง ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงอยู่ระหว่างการเร่งเจรจาหาข้อยุติ

ช่วงปลายปี 2562 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีมติลดระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.75-2.00% เป็น 1.50-1.75% โดยคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนสหรัฐฯ ในระยะต่อไป สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ เดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 61.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่มีระดับราคา 65.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สำหรับปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 63.38 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล หดตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 70.52 ดอลล่าร์สหรัฐฯ /บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2563 และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ จากแคนาดาไปยังสหรัฐฯ สามารถกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามทั้งการเผชิญกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่สร้างแรงกดดันกระจายไปทั่วโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวตามไปได้ อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ และจีน สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้เป็นผลสำเร็จ อาจเป็นตัวแปรหนุนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจกลับคืนมา ตลอดจนภาคการส่งออกและภาคการผลิตอาจมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปัจจัยบวกดังกล่าว

เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยรายสาขาปี 2562 และแนวโน้มปี 2563

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปี 2562* ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่ลดลง เช่น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่ลดลง เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก

ดัชนีผลผลิต

การผลิตปี 2562* คาดว่าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 95.5 ลดลงร้อยละ 10.3 (%YoY) ลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่ลดลง เช่น เหล็กลวด ลวดเหล็ก และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม ก่อสร้าง โดยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ส่งผลให้ยอดจำหน่าย และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดลง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่ลดลง เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เนื่องจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น

การจำหน่าย ปี 2562* คาดว่ามีปริมาณ 18.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.4 (%YoY) ลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่จำหน่ายลดลง เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่จำหน่ายลดลง เช่น เหล็กแผ่นบางรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และ เหล็กแผ่น เคลือบดีบุก

การนำเข้า ปี 2562* คาดว่ามีมูลค่า 10.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.7 (%YoY) ลดลง ทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่มีมูลค่านำเข้าลดลง เช่น เหล็กเส้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็กเพลาขาว และเหล็กลวด ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่มีมูลค่านำเข้าลดลง เช่น ท่อเหล็กมีตะเข็บ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ชนิด EG

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปี 2563

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2563 คาดการณ์ว่า การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.0-0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.62 เช่น การสนับสนุนเงินค่าผ่อนดาวน์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผลของมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น สำหรับการบริโภคเหล็กปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณ 18.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2562* ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากสินค้าเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และสายเคเบิ้ลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สินค้าเครื่องปรับอากาศมีการจำหน่ายในประเทศและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกของเครื่องใช้ไฟฟ้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ในปี 2562* มีมูลค่า 15,936.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 0.8 (%YoY) จากการนำเข้าของตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น จากการนำเข้าสินค้าแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2562* ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 95.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 (%YoY) ทั้งนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และสายเคเบิ้ล เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0, 8.0 และ 6.6 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ส่วนตู้เย็นและสายเคเบิ้ลมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่สินค้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน สายไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว พัดลมตามบ้าน คอมเพรสเซอร์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 27.6, 25.5, 23.2, 15.2, 9.9, 7.9, 5.5, 2.4 และ1.6 ตามลำดับ เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะเครื่องซักผ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และสายไฟฟ้า ที่มีการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่นลดลง

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ในปี 2562* มีมูลค่า 23,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.3 (%YoY) จากการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่สินค้าเครื่องซักผ้ามีมูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดจีน ญี่ปุ่น อาเซียน สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลง

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าของปี 2563

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในปี 2563 คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.5 และ 2.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของภาครัฐในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอัดฉีดทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับตัวในการหาตลาดใหม่ในการส่งออกเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2562* ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 โดยปรับตัวลดลงในสินค้า HDD, IC, Semiconductor PWB และ PCBA เป็นผลจากการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกชะลอลดลง และมีมูลค่าการส่งออกในตลาดหลักลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออก อิเล็กทรอนิกส์

การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2562* มีมูลค่า 35,799.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.6 (%YoY) โดยตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และวงจรรวม (IC) ลดลง

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2562* มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 96.5 ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 6.3 (%YoY) โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor, HDD, PWB, Other IC และPCBA ลดลงร้อยละ 18.3, 8.3, 6.5, 5.5 และ 2.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว รวมถึงสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ใน ปี 2562* มีมูลค่า 35,620.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 8.3 (%YoY) โดยตลาดส่งออกหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ทั้งอาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น โดยส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 24.9 และ วงจรรวม (IC) ลดลงร้อยละ 24.0 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง-สูงมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีค่อนข้างเร็วและการย้ายฐานการผลิตและการปิดตัวของกิจการที่เกิดจากต้นทุนสูง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวจากนโยบายกีดกันการค้าสหรัฐฯ - จีนผ่านห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2563

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2563 คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1.6 และ 1.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกลดความรุนแรงและคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในสินค้าหลัก เช่น HDD ผู้ประกอบการผลิต HDD มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยทำให้คำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2562 คาดว่า ปริมาณการผลิตชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของตลาดในประเทศเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว เป็นผลมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และตลาดส่งออกเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว

การผลิตรถยนต์

ปี 2562 คาดว่า มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 2,000,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิต 2,167,694 คัน ลดลงร้อยละ 7.74 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 42 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 56 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ร้อยละ 2

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ปี 2562 คาดว่า มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 1,000,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการจำหน่าย 1,041,739 คัน ลดลงร้อยละ 4.01 โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 41 รถ PPV และ SUV ร้อยละ 14 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 5

การส่งออกรถยนต์

ปี 2562 คาดว่า มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 1,000,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีปริมาณการส่งออก 1,140,640 คัน ลดลงร้อยละ 12.33

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์

ปี 2562 คาดว่า มีมูลค่า 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 9,980.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.81 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ปี 2562 คาดว่า มีมูลค่า 11,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีมูลค่า 11,984.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.62 ตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ปี 2563

ประมาณการจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คาดว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,050,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.50 โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,000,000 คัน และเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1,050,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55-60

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ปี 2562 คาดว่า การผลิตรถจักรยานยนต์จะชอลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกลดลง

การผลิตรถจักรยานยนต์

ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง ปี 2562 คาดว่า มีจำนวน 2,100,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการผลิตจำนวน 2,120,000 คัน ลดลงร้อยละ 0.94

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยปี 2562 คาดว่า มีจำนวน 1,750,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการจำหน่ายจำนวน 1,870,000 คัน ลดลงร้อยละ 6.42

การส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD)

ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยปี 2562 คาดว่า มีจำนวน 850,000 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 350,000 คัน และ CKD จำนวน 500,000 ชุด) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการส่งออกจำนวน 886,275 คัน ลดลงร้อยละ 4.09

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์

ปี 2562 คาดว่า มีมูลค่า 830 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีมูลค่า 765.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.43 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน

ปี 2562 คาดว่า มีมูลค่า 580 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีมูลค่า 578.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.18 ตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยานได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ปี 2563

การประมาณการจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คาดว่า การผลิตจะทรงตัว คิดเป็นปริมาณ การผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 2,100,000 คัน ทั้งนี้ จากปริมาณการผลิตที่คาดการณ์ไว้ข้างต้นจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 10-15

ตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ภาพรวมปี 2562 คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับ ปี 2561 โดยคาดว่าการส่งออกจะหดตัวร้อยละ 2.86 ดัชนีผลผลิตและการส่งออกหดตัว เนื่องจากตลาดภายในประเทศและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว และการนำเข้าคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 6.06

ดัชนีผลผลิต ปี 2562 คาดว่าดัชนีมีค่า 100.06 หรือ หดตัวร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับปี 2561 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตหดตัว เช่น ปุ๋ยเคมี หดตัวร้อยละ 22.46 สีน้ำมันหดตัวร้อยละ 5.47 และสีอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 2.35

ดัชนีการส่งสินค้า ปี 2562 คาดว่าดัชนีมีค่า 97.67 หรือหดตัวร้อยละ 4.42 เมื่อเทียบกับปี 2561 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวมากที่สุด ได้แก่ ปุ๋ยเคมี หดตัวร้อยละ 25.47 เนื่องจากเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ส่งผลให้ความต้องการภายในประเทศลดลง

การส่งออกผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ ปี 2562 คาดว่ามีมูลค่า 8,528.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับปี 2561 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว เช่น ปุ๋ยเคมี หดตัวร้อยละ 23.46 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ หดตัวร้อยละ 18.66 และเคมีภัณฑ์ อนินทรีย์ หดตัวร้อยละ 7.21

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ ปี 2562 คาดว่ามีมูลค่า 15,422.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.06 เมื่อเทียบกับปี 2561 การนำเข้าหดตัวเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นเครื่องสำอาง โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าหดตัวมากที่สุด ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ หดตัวร้อยละ 24.75

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปี 2563

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปี 2563 ดัชนีผลผลิตและการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2 - 3 เมื่อเทียบกับปี 2562 แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปี 2563 ขยายตัวจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเคมีชีวภาพ แต่ยังคงมีปัจจัยที่กระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เช่น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและการแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมปี 2562 คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวร้อยละ 2.89 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยคาดว่าการส่งออกจะหดตัวร้อยละ 2.45 และการนำเข้าจะหดตัวร้อยละ 0.88 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

ดัชนีผลผลิต ปี 2562 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 2.89 เมื่อเทียบกับปี 2561 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตหดตัว เช่น เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 15.10 กระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 11.61 และพลาสติกแผ่น หดตัวร้อยละ 10.61

ดัชนีการส่งสินค้า ปี 2562 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.83 เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้น ท่อและข้อต่อพลาสติก โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวมากที่สุด คือ เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 14.76

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่า 4,229.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.32 เมื่อเทียบกับปี 2561 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัวเช่น ใยยาวเดี่ยว (HS 3916) หดตัวร้อยละ 28.78 ของอื่น ๆ ทำด้วยพลาสติก (HS 3926) หดตัวร้อยละ 8.76 และเครื่องสุขภัณฑ์ (HS 3922) หดตัวร้อยละ 6.78

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่า 4,777.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับปี 2561 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าหดตัว เช่น ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (HS 3923) หดตัวร้อยละ 3.36 แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ชนิดยึดติดในตัว (HS 3919) หดตัวร้อยละ 2.30 และแผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (HS 3920) หดตัว ร้อยละ 1.80

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ปี 2563

อุตสาหกรรมพลาสติก ปี 2563 ดัชนีผลผลิตคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1 - 2 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 เมื่อเทียบกับปี 2562 แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ แต่ยังคงมีปัจจัยที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลาสติก เช่น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว การแข็งค่าของเงินบาท และการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ประเทศไทย

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภาพรวม ปี 2562 คาดว่าขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยดัชนีผลผลิตและดัชนีการส่งสินค้าขยายตัวร้อยละ 1.80 และ 1.89 เนื่องจากในปี 2561 มีการปิดซ่อมโรงงานผลิตเป็นเวลา 1 เดือน ส่วนราคาและมูลค่าการส่งออกยังคงได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า

ดัชนีผลผลิต ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 111.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ1.80 (%YoY) ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตขยายตัวส่วนใหญ่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น PET resin, EPS resin, PS resin และ PE resin เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ109.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี2561 ร้อยละ 1.89 (%YoY) ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าขยายตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น SAN resin, PS resin, EPS resin และ PET resin เป็นต้น

การส่งออกปิโตรเคมี ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ11,923.78 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 14.21 (%YoY) ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัวส่วนใหญ่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เช่น PE resin,PP resin และ PC resin เป็นต้น

การนำเข้าปิโตรเคมี ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ5,573.53 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 9.60 (%YoY)ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าหดตัวส่วนใหญ่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกและยางสังเคราะห์ เช่น PE resin, PP resin, BR rubber และSR rubber เป็นต้น ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าหดตัว เกิดจากการผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปี 2563

คาดว่าดัชนีผลผลิตและการส่งออกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2 - 4 เมื่อเทียบกับ ปี 2562 จากความต้องการปิโตรเคมีในแถบอาเซียนที่มีเพิ่มขึ้น รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่มุ่งเน้นการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางและมีสมรรถนะสูง ทำให้มีการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างต่อเนื่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตที่สำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2563

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

การผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ในปี 2562 ปรับตัวลดลงตามทิศทางของตลาดในประเทศในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษพิมพ์เขียน แต่สำหรับกระดาษคราฟต์ และกระดาษลูกฟูก เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษยังขยายตัวได้ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ตลอดจนธุรกิจ e-commerce

การผลิตกระดาษ ในปี 2562 คาดว่า ดัชนีฯ จะเพิ่มขึ้น (%YOY) จากกลุ่มกระดาษคราฟต์ กระดาษลูกฟูก และกล่องกระดาษลูกฟูก ร้อยละ 1.98 0.75 และ 2.37 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากการค้าในระบบออนไลน์ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษมีกระแสตอบรับที่ดี นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ตลอดจนธุรกิจ e-commerce มีความ ต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้กับสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นและจะขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปี 2562 คาดว่า จะมีมูลค่าส่งออกรวม 2,007.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.50 (%YOY) เป็นการลดลงในทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เยื่อกระดาษ คาดว่าจะลดลง ร้อยละ 34.98 ในชนิดเยื่อไม้เคมีละลายน้ำได้ไปยังประเทศคู่ค้าอย่างจีน และฝรั่งเศส สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะส่งออกลดลงร้อยละ 7.82 มีตลาดส่งออกหลัก อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย และจีน ในส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่าจะลดลง ร้อยละ 9.00 ในประเภทหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม สิ่งพิมพ์อื่น ๆ ภาพพิมพ์ภาพถ่าย และรูปลอก มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปี 2562 คาดว่า จะมีมูลค่ารวม 2,738.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.18 (%YOY) คาดว่าจะนำเข้าเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ ลดลงร้อยละ 9.09 และ 11.75 ตามลำดับ สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.10 โดยเฉพาะชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศในกลุ่มกระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับมาใช้ซ้ำ ในส่วนผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ร้อยละ 3.11 ตามปริมาณการใช้ในประเทศ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปี 2563

การผลิตกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษ และบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ ในปี 2563 คาดว่า จะขยายตัวได้ไม่มากนักอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ตลอดจนสิ่งพิมพ์ที่เป็นปฏิทิน สมุดจดบันทึก (ไดอารี่) และบัตรส่งอวยพรความสุข (ส.ค.ส.) เพื่อส่งมอบเป็นของขวัญในช่วงส่งท้ายปีเก่า มีทิศทางที่ชะลอตัวจากปีก่อน สำหรับการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ คาดว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์ยังมีตลาดใหม่ ๆ รองรับแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงก็ตาม

อุตสาหกรรมเซรามิก

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเซรามิกปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ และความต้องการที่เริ่มฟื้นตัวจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ การส่งออกลดลงจากยอดคำสั่งซื้อ ในตลาด CLMV สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

การผลิต ปี 2562 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 138.32 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.35 (%YoY) เนื่องจากการขยายตัวของของตลาดในประเทศ ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 7.51 ล้านชิ้น ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.38 (%YoY) จากการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

การจำหน่าย ปี 2562 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 166.53 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.06 (%YoY) เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีจำนวน 3.99 ล้านชิ้น ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 2.90 (%YoY)

การส่งออก ปี 2562 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีมูลค่าการส่งออก 91.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 2.38 (%YoY) จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาด CLMV โดยเฉพาะสปป.ลาวและกัมพูชา ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีมูลค่า 200.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 7.24 (%YoY) จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

แนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิก ปี 2563

การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ปี 2563 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอานิสงค์จากการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐโดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า เป็นตัวกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจและภาคเอกชน อีกทั้งการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น จีน และอาเซียน แต่อย่างไรก็ดีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อาจจะขยายตัวได้ไม่สูงมากนัก เนื่องจากการประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย ทำให้ต้นทุนภาษีสูงขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ วันที่ 25 เมษายน 2563 จากสินค้าทั้งหมด 573 รายการ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จากเซรามิกรวมอยู่ด้วย

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปี 2562 เมื่อเทียบกับกับปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายยังขยายตัวโดยได้แรงหนุนจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคและโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ การส่งออกมีมูลค่า เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน การนำเข้ามีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากปูนซีเมนต์ราคาถูกจาก สปป.ลาว

การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในปี 2562 มีปริมาณการผลิต 40.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 2.36 (%YoY) จากการขยายตัวของตลาดในประเทศและการเพิ่มคำสั่งซื้อจากประเทศกัมพูชาและเมียนมา

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในปี 2562 มีปริมาณ 34.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.55 (%YoY) จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของของภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนโดยเฉพาะตามการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการลงทุนในพื้นที่ EEC

การส่งออก-นำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในปี 2562 มีมูลค่า 338.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 15.14 (%YoY) จากการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศส่งออกหลักหลายตลาดของไทย เช่น เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ศรีลังกา และบังคลาเทศ เป็นต้น

ส่วนมูลค่าการนำเข้า มีมูลค่า 72.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 10.73 (%YoY)

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปี 2563

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในปี 2563 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมเม็ด) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จะคาดการณ์ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะที่ถดถอยมากขึ้นด้วยปัจจัยลบหลายประการ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การลดลงของการลงทุนภาคธุรกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็ยังสามารถขยายตัวได้จากความต้องการของตลาดในประเทศ เนื่องจากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น การก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เป็นต้น การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนตามแนวรถไฟฟ้า

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

สถานการณ์ปี 2562 คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะชะลอตัวตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า สำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปสุภาพบุรุษและสตรี ไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความสามารถในการยกระดับการผลิตและออกแบบของผู้ประกอบการไทยทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

การผลิต

ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะ ลดลง ร้อยละ 2.4 8.4 และ 5.88 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ตามทิศทางตลาดส่งออกที่ค่อนข้างชะลอตัวจากผลกระทบความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะ จีน และสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่ลดลง

การจำหน่ายในประเทศ

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะลดลง ร้อยละ 0.8 0.7 และ 1.2 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบ ทั้งเพื่อการส่งออกและการบริโภคในประเทศลดลง ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคสนใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นจากต่างประเทศทั้งในกลุ่มเสื้อผ้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีนและเวียดนาม

การส่งออก

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 12.3 และ 3.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตสินค้าลดลง อย่างไรก็ตาม เส้นใยประดิษฐ์ยังสามารถขยายตัวได้ในตลาดสหรัฐอเมริกา

เสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.9 เนื่องจากมีการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปสุภาพบุรุษและสตรี ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความสามารถในการยกระดับการผลิตและออกแบบ (ODM) ของผู้ประกอบการไทยทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2563

ภาพรวมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเส้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในสินค้ากลุ่มเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดจีน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะมีการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนการใช้วัตถุดิบในประเทศบางส่วน เช่น กลุ่มผ้าผืน เป็นต้น

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

ปี 2562 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.66 และ 6.54 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนตามลำดับ จากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.48 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกที่ลดลงในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 10.33 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.66 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน สาเหตุจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้น

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 1.63 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.54 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการกระตุ้นตลาดผ่านการจัดงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้ปริมาณการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2562

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 3,320.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.48 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็น เครื่องเรือนและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ไม้ และไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 920.44 147.47 และ 2,252.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.95 6.01 และ 8.56 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะความต้องการไม้แปรรูปที่ลดลงอย่างมากในตลาดจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนปี 2563

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2563 คาดการณ์ได้ว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่คาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ในส่วนของมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ

อุตสาหกรรมยา

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศ ปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ สำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา และสิงคโปร์

การผลิตยา ในปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 69,746.26 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.66 โดยเป็นการขยายตัวของการผลิตยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด ยาครีม และยาผง ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของยาเม็ดและยาผงที่ผู้ผลิตบางรายสามารถทำตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้มีการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตยาน้ำคาดว่าจะมีปริมาณลดลง เนื่องจากการจำกัดปริมาณการจำหน่ายในยาน้ำบางชนิด

การจำหน่ายยา ในปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 42,403.32 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.18 ในภาพรวมการจำหน่ายยาของผู้ผลิตในประเทศยังขยายตัวได้ มีเพียงการจำหน่ายยาน้ำและ ยาครีมที่คาดว่าจะปรับลดลง เนื่องจากถูกจำกัดปริมาณการจำหน่าย และมีคำสั่งซื้อลดลง เนื่องจากมีการนำยาไปใช้ผิดประเภทในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา

การส่งออกยาในปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่า 427.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 7.63 จากการขยายตัวที่ดีของตลาดเวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ เมียนมา และญี่ปุ่น สำหรับการนำเข้ายามีมูลค่า 1,689.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.18 โดยเป็นการนำเข้ายาต้นแบบจากสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เปอร์โตริโก และสหราชอาณาจักร และการนำเข้ายาชื่อสามัญราคาถูกจากอินเดีย ลดลง

แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ปี 2563

การผลิตยาในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.54 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายาของไทย

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

ปริมาณการผลิตยางรถยนต์และถุงมือยาง ปี 2562 ลดลงจากปีก่อนตามการชะลอตัวของตลาด Replacement และอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง สำหรับยางแปรรูปขั้นปฐมมีปริมาณการผลิตลดลงจากยางที่เข้าสู่ตลาดลดลงและการชะลอตัวของตลาดจีน

การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางในปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 1.86 ล้านตัน 73.07 ล้านเส้น และ 21,980.16 ล้านชิ้น ตามลำดับ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 15.45 0.44 และ 7.43 ตามลำดับ ตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่ตลาดลดลงเนื่องจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด การชะลอตัวของตลาดจีน การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางในปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 4.32 แสนตัน 44.87 ล้านเส้น และ 3,109.27 ล้านชิ้น ตามลำดับ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.23 2.37 และ 9.55 ตามลำดับ จากสถานการณ์ยางรถยนต์ในตลาดReplacement ที่ยังชะลอตัว การปรับลดลงของการผลิตรถยนต์ในประเทศ และการปรับเปลี่ยนนโยบายการตลาดของผู้ผลิตถุงมือยางบางรายไปเป็นการส่งออกโดยตรงมากขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางในปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่า 4,378.08 5,784.46 และ 1,233.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนการส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.86 จากการชะลอตัวของตลาดจีน ในขณะที่การส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.18 และ 3.76 ตามลำดับ ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดส่งออกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ปี 2563

การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.05 1.27 และ 3.04 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางแปรรูปขั้นปฐม และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางรถยนต์และถุงมือยางของไทย

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ปี 2562 การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีการผลิตชะลอตัว ร้อยละ 2.18 เนื่องจากความต้องการใช้หนังในการผลิตเบาะรถยนต์ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีการผลิตชะลอตัว ร้อยละ 4.20 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศทดแทนการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.83 จากความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ

การผลิต

การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปี 2562 มีดัชนีผลผลิตชะลอตัว ร้อยละ 2.18 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้หนังในการผลิตเบาะรถยนต์ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีการผลิตชะลอตัว ร้อยละ 4.20เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศทดแทนการผลิต

กระเป๋าเดินทาง* มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.83 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออก ปี 2562 มีมูลค่ารวม 1,886.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.41 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากมูลค่าการส่งออก เครื่องใช้สำหรับเดินทางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.65 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสวิตเซอร์แลนด์

การนำเข้า ปี 2562 มีมูลค่ารวม 2,165.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.22 จากการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก กระเป๋า และรองเท้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.89 6.52 และ 21.01 ตามลำดับ โดยมีตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เดนมาร์ก อาร์เจนตินา อิตาลี ฝรั่งเศส จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2563

การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2563 คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความต้องการใช้หนังในการผลิตเบาะรถยนต์ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดที่มีมูลค่าชะลอตัว เช่นเดียวกับการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตัวเองหันไปจ้างประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ผลิตแทน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางมีทิศทางขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งชาวต่างชาติมีความนิยมในผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และผลิตภัณฑ์หนัง Exotic เช่น หนังงู หนังปลากระเบน และหนังจระเข้ ของไทย

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

การผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2562 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 9.83 และ 10.56 ในเชิงปริมาณ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ประกอบกับ การปรับโมเดลธุรกิจของผู้ประกอบการจากการผลิตจำนวนมาก มาเป็นการผลิตแบบ Customization ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

การผลิต การจำหน่าย และการส่งออก

การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม ปี 2562 ลดลง ร้อยละ 9.83 ในเชิงปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ประกอบกับการปรับโมเดลธุรกิจของผู้ประกอบการจากการผลิตจำนวนมาก มาเป็นการผลิตแบบ Customization ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

การจำหน่าย อัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2562 หดตัว ร้อยละ 10.56 ในเชิงปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมานิยมสวมใส่สินค้าเครื่องประดับแบบน้อยชิ้นแต่มีมูลค่าสูง (minimal but high value)

การส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ปี 2562 ขยายตัว ร้อยละ 8.22 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลายแห่งที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เช่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ มีมูลค่าการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 246.38 จากมูลค่า 286.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2561 เป็นมูลค่า 990.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 และเมื่อพิจารณาการส่งออกในภาพรวม พบว่า ขยายตัว ร้อยละ 38.83 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 92.15 ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2563

ปี 2563 คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมยังคงมีทิศทางทรงตัว หรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้มีกำลังซื้อในตลาดหลักยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะสินค้าที่มีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่นเดียวกับการส่งออกในภาพรวม คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัว จากการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกขยับตัวอยู่ในระดับสูงขึ้น ด้านการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัว โดยจะมีการนำเข้าเพชร พลอย และเครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น จากทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับดี และความต้องการบริโภคสินค้าหรูเพื่อแสดงฐานะทางสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการนำเข้าในภาพรวม

อุตสาหกรรมอาหาร

ดัชนีการผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2562 หดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน จากกำลังซื้อในประเทศค่อนข้างทรงตัว จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภค กอปรกับวัตถุดิบที่ลดลงด้วยผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาไม่จูงใจ และฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน อาทิ น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง และกะทิ อีกทั้งตลาดต่างประเทศชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่า

การผลิตอาหาร ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 108.9 หดตัวเล็กน้อยจาก ปี 2561 ร้อยละ 1.1 (%YoY) จากวัตถุดิบที่ลดลงด้วยผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาไม่จูงใจ กอปรกับฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน อาทิ น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง และกะทิ อีกทั้งตลาดต่างประเทศชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แม้ดัชนีการผลิตปาล์มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์สำเร็จรูป รวมทั้งเครื่องดื่มยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การจำหน่ายอาหารในประเทศ ปี 2562 มีปริมาณ 255.9 ล้านตัน หดตัวเล็กน้อยจากปี 2561 ร้อยละ 0.5 (%YoY) จากการจำหน่ายในกลุ่มน้ำมันรำข้าว ผงชูรส อาหารสุกรสำเร็จรูป และอาหารกุ้งสำเร็จรูปตามภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังซื้อในประเทศค่อนข้างทรงตัว จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภค

การส่งออกปี 2562 มีมูลค่า 30,538.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวเล็กน้อยจาก ปี 2561 ร้อยละ 2.8 (%YoY) จากการส่งออกที่ลดลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง (มันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง น้ำตาลทรายขาว จากมูลค่าการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ อาเซียน CLMV และสหภาพยุโรป ด้วยปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออกไทยลดลง

การนำเข้าปี 2562 มีมูลค่า 14,089.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเล็กน้อยจาก ปี 2561 ร้อยละ 0.5 (%YoY) จากปริมาณการเมล็ดพืชน้ำมัน (ถั่วเหลือง) เพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการของอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ขยายตัวในปี 2562 และการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมและอาหารอื่นๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการนำเข้ากาแฟ ชา เครื่องเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมกาแฟ

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2563

คาดว่าดัชนีการผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารปี 2563 ขยายตัวเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 1.2-1.5 และ 2.7-3 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกจากความต้องการบริโภคของต่างประเทศเพิ่มขึ้นในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น เพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 และตลาดจีนที่เพิ่มคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยจีนให้การรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์สัตว์ปีกของไทยมากขึ้น แม้จะมีปัจจัยลบอย่างวัตถุดิบทางการเกษตรที่ลดลงด้วยผลกระทบจากภัยแล้ง อาทิ น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลัง กอปรกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า สหรัฐฯ - จีน และค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกอาจจะฟื้นตัวช่วงปีหน้าแต่อาจเป็นการฟื้นตัวแบบไม่ชัดเจน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ