สรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2020 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรมการผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยาง และการซ่อมสร้างยาง อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 65.3

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรมการผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยาง และการซ่อมสร้างยาง

อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 18.9เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสงครามการค้า ส่วนตลาดในประเทศ ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 36.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบมีลดลง โรงงานใช้กำลังการผลิตไม่ครบ 24 ชั่วโมง และมีโรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อยแล้ว 27 แห่ง

อุตสาหกรรมการผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยาง และการซ่อมสร้างยางดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 23.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากยางนอกรถยนต์นั่ง รถบรรทุก รถโดยสาร และรถกระบะเป็นหลัก ซึ่งมีผู้ผลิตบางรายปิดสายการผลิตบางส่วนตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 40.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากผู้ผลิตขาดวัตถุดิบเพื่อผลิตในเดือนก่อนจึงเร่งผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าในเดือนนี้แทน รวมถึงปัญหาเครื่องจักรชำรุดในปีก่อนทำให้ผลิตได้น้อยกว่าปกติ

อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะปลาแช่แข็งและเนื้อปลาบด จากความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดโลกเริ่มมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น หลังจากผ่านช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมมาหลายปี อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ