OIE FORUM 2021 ชูแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่ เติบโตแข็งแกร่งยุค Next Normal

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 17, 2021 14:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงาน OIE FORUM 2021 Thailand Industry Beyond Next Normal : อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล สู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน พร้อมชูแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวไปสู่โลกวิถีใหม่อย่างแข็งแกร่ง มุ่งพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ ยกระดับความสามารถการแข่งขัน ควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน

          วันนี้ (16 ธันวาคม 2564) นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หรือ OIE Forum ปี 2564 ในหัวข้อ "Thailand Industry Beyond Next Normal : อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล สู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน" ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา            (โควิด-19) ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การจำหน่าย และการส่งออก ขณะเดียวกันการดำเนินชีวิตของทุกคนทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อก้าวสู่วิถีต่อไปในการดำรงชีวิต (Next Normal) เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ที่มีการปรับสายการผลิตสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน อีกทั้งการเกิดโอกาสใหม่ในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์ รวมถึงมาตรการสำคัญต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางของกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดประเด็นในการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปรับทิศทางภาคการผลิตจากเดิม ส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ พร้อมมุ่งเน้นอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตเพื่อตอบรับทิศทางการพัฒนาของตลาดยานยนต์โลก รวมทั้งการไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ไขปัญหามลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สะท้อนจากการตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Zero Emission Vehicles หรือ ZEV จำนวน 725,000 คันต่อปี หรือร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยมีมาตรการที่สำคัญ อาทิ จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าใน            ปี 2564 จะประกาศมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และมาตรฐานการประจุไฟฟ้าได้รวม 97 มาตรฐาน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพที่มีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง ด้านสาธารณสุขของประเทศ สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub อีกทั้งตอบสนองนโยบาย BCG Model โดยมุ่งเป้าหมายระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570

          ด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 ขับเคลื่อนผ่าน                  3 กลไกหลัก คือ การกระตุ้นและส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ การพัฒนาผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ พัฒนา System Integrator (SI) ในประเทศ และการจัดตั้ง Center of Robotic Excellence หรือ CoRE เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  อุตสาหกรรมชีวภาพ กำหนดเป้าหมายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 เน้นให้เกิดการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ              และชีวเภสัชภัณฑ์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก  รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนวิธีการกำกับดูแลสถานประกอบการที่สะท้อนแนวคิดตามโมเดล BCG เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดงานประจำปี OIE Forum ในปี 2564 นี้ จัดภายใต้หัวข้อ "Thailand Industry Beyond Next Normal : อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล สู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน" โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย กิจกรรม Executive Talks "ส่องเส้นทางอุตสาหกรรมยุคใหม่ ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน" และการเสวนาในหัวข้อ "อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล สู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน" ขณะเดียวกันถือเป็นครั้งแรกกับการจัดนิทรรศการรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงหรือ Virtual Exhibition ที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถรับชมบูทนำเสนอภารกิจของ สศอ.ได้ทั้ง 10 บูท โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 800 คน

"นอกจากการนำเสนอการดำเนินงานและแนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว สศอ. มุ่งหวังให้การจัดงานครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาและยกระดับความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง พร้อมก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบรับกับชีวิตวิถีใหม่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต" ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวปิดท้าย

16 ธันวาคม 2564

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ