สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม ปี 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2022 13:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม ปี 2565 การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรม การกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 61.0

สาขาอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว

อุตสาหกรรมยานยนต์ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นจากรถบรรทุกปิคอัพ 1 ตัน รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก จากความต้องการสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามมาตรการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ ส่งผลให้ผลิตได้เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก เนื่องจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดำเนินกิจกรรม ทั้งการขนส่ง เดินทางและท่องเที่ยวมากขึ้น

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีต และปูนซีเมนต์ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน จากคอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีต และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 คลี่คลายลง ทำให้ความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตกลับมาผลิตและส่งมอบได้ตามปกติ สาขาอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว

อุตสาหกรรมHard Disk Drive ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 29.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจาก ผู้ผลิตรายใหญ่ปรับลดแผนการผลิตลงโดยปรับลดวันทำงาน ประกอบกับ ความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คลดลง จึงส่งผลกระทบต่อการผลิต Hard Disk Drive ที่ลดลง อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เป็นหลัก เนื่องจาก ความต้องการสินค้าลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศหลังราคาวัสดุก่อสร้างในตลาดปรับตัวสูงตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้การผลิตลดลง

อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จาก Polyethylene resin (PE) และ Ethylene เป็นหลัก เนื่องจาก การขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายปรับลดการผลิตให้สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลง

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ