สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่1 (มกราคม—มีนาคม) พ.ศ.2552(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 12, 2009 15:58 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2552 มีปริมาณ 7,264.9 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 10.9 และ 0.7 ตามลำดับ โดย ยาน้ำ เป็นยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีความต้องการมากขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตทำการวางแผนการผลิตที่แตกต่างไปจากปีก่อน โดยเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก ก่อนเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต สำหรับสาเหตุที่ผู้ผลิตให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมยามีสูง เพราะยาที่ผู้ผลิตในประเทศผลิตได้เป็นยาสามัญ ซึ่งมีคู่แข่งจำนวนมาก

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2552 มีปริมาณ 6,779.7 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 10.7 และ 0.5 ตามลำดับ ซึ่งยาน้ำเป็นประเภทสินค้าที่มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตต่ำ จึงจำหน่ายได้ง่ายกว่ายาชนิดอื่น

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2552 มีมูลค่า 9,244.2 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 18.2 และ 6.7 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,083.6 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44.2 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ยารักษาหรือป้องกันโรคที่นำเข้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสิทธิบัตร ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก นอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญ ที่เป็นคู่แข่งกับผู้ผลิตในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย บริษัทผู้นำเข้ายังคงให้ความสำคัญกับแผนการตลาด เช่น การให้ความรู้เรื่องสุขภาพ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คือ แพทย์ เภสัชกร และร้านขายยา รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อกระตุ้นตลาดให้มีการใช้จ่ายและจดจำตราสินค้า ทั้งนี้บริษัทผู้นำเข้าให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวในการสั่งซื้อจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2552 มีมูลค่า 1,286.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.7 ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 917.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 71.3 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด อย่างไรก็ตามการขยายตลาดส่งออก ยังมีปัญหาบ้างในเรื่องความสะดวกและความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยาในประเทศคู่ค้า รวมถึงการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งขัน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 6.9 ทั้งนี้เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอการนำเข้าสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดการต่าง ๆ ลง

5. นโยบายภาครัฐ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 โดยกำหนดให้สินค้า จำนวน 38 รายการ และบริการ จำนวน 1 รายการ รวม 39 รายการ เป็นสินค้าควบคุมในปี 2552 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งยารักษาโรค เป็น 1 ในรายการสินค้าควบคุม ภายในหมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ด้วย

6. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ยาน้ำ เป็นยาที่มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีความต้องการมากขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตทำการวางแผนการผลิตที่แตกต่างไปจากปีก่อน โดยเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก ก่อนเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และการที่ยาน้ำมีต้นทุนในการผลิตต่ำ จึงจำหน่ายได้ง่ายกว่ายาชนิดอื่น ด้านมูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร นอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้บริษัทผู้นำเข้าได้ให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวในการสั่งซื้อจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยตลาดหลัก คือ อาเซียน

สำหรับในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 คาดว่าการผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้โครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา โดยเฉพาะยานำเข้า และสนับสนุนให้มีการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ แทนยานำเข้ามากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การผลิตและจำหน่ายยาในประเทศยังคงเติบโตได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ด้านมูลค่าการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญมากขึ้น นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยจากต่างประเทศเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยลดลง ทำให้ยอดสั่งซื้อยานำเข้าจากโรงพยาบาลเอกชนชะลอลงด้วย สำหรับมูลค่าการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากสามารถสร้างความมั่นใจด้านมาตรฐานให้กับประเทศคู่ค้าได้

ตารางที่ 1 ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในประเทศแยกตามรายผลิตภัณฑ์

หน่วย : ตัน

                 ประเภท                                   ไตรมาส
                                               Jan-51      Apr-51      Jan-52
ยาเม็ด                                        1,477.30    1,518.50    1,484.40
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                  -2.2
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                            0.5
ยาน้ำ                                         3,210.40    4,217.80    4,332.00
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   2.7
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           34.9
ยาแคปซูล                                         198.8       193.1       174.8
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                  -9.5
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                          -12.1
ยาฉีด                                            111.1       122.3       115.3
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                  -5.7
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                            3.8
ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน                                  30        30.2        26.3
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                 -12.9
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                          -12.3
ยาครีม                                           533.6       537.4       558.6
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   3.9
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                            4.7
ยาผง                                            989.6       595.1       573.5
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                  -3.6
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                            -42
รวม                                          6,550.80    7,214.40    7,264.90
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   0.7
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           10.9

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 31 โรงงาน (ยาเม็ด 28 โรงงาน ยาน้ำ 27 โรงงาน ยาแคปซูล 25 โรงงาน

ยาฉีด 8 โรงงาน ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน 4 โรงงาน ยาครีม 16 โรงงาน และยาผง 15 โรงงาน)

: ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เป็นค่าประมาณการณ์

ตารางที่ 2 ปริมาณการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในประเทศแยกตามรายผลิตภัณฑ์

หน่วย : ตัน

                 ประเภท                                   ไตรมาส
                                               Jan-51      Apr-51      Jan-52
ยาเม็ด                                        1,445.00    1,545.40    1,367.30
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                 -11.5
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           -5.4
ยาน้ำ                                         3,891.20    4,355.50    4,561.20
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   4.7
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           17.2
ยาแคปซูล                                         174.1         216       209.5
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                    -3
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           20.3
ยาฉีด                                             83.6        90.7        85.4
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                  -5.8
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                            2.2
ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน                                27.7        31.6        24.4
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                 -22.8
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                          -11.9
ยาครีม                                           387.4       376.3       396.3
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   5.3
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                            2.3
ยาผง                                            115.6       127.5       135.6
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   6.4
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           17.3
รวม                                          6,124.60    6,743.00    6,779.70
        เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   0.5
        เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           10.7

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 31 โรงงาน (ยาเม็ด 28 โรงงาน ยาน้ำ 27 โรงงาน ยาแคปซูล 25 โรงงาน

ยาฉีด 8 โรงงาน ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน 4 โรงงาน ยาครีม 16 โรงงาน และยาผง 15 โรงงาน)

: ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เป็นค่าประมาณการณ์

ตารางที่ 3 มูลค่าการนำเข้า — ส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค*
               มูลค่า (ล้านบาท)                                ไตรมาส
                                                 Jan-51      Apr-51      Jan-52
มูลค่าการนำเข้า                                   7,824.00    8,660.80    9,244.20
          เทียบกับไตรมาสก่อน                                                   6.7
          เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           18.2
มูลค่าการส่งออก                                   1,162.30    1,382.60    1,286.80
          เทียบกับไตรมาสก่อน                                                  -6.9
          เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                                           10.7

ที่มา : กรมศุลกากร

หมายเหตุ : รวบรวมจาก HS 3003 และ 3004

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ