รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 27, 2009 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคม 2552

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2552 เนื่องจากเดือนเมษายนมีจำนวนวันหยุดมากและเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงลดลงต่อเนื่องคือ ลดลงร้อยละ 12.4 อย่างไรก็ตามยังมีสัญญาณในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการติดลบน้อยลงเรื่อยมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 โดยอุตสาหกรรมสำคัญยังคงมีการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 51.9 , ร้อยละ 20.7 และร้อยละ 22.0 ตามลำดับ
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.95 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ หากพิจารณาเป็นรายสาขาอุตสาหกรรมจะพบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 แต่เริ่มมีการปรับตัวกระเตื้องสูงขึ้นบ้างในหลายอุตสาหกรรม
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมิถุนายน 2552

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

-การผลิตและการจำหน่าย คาดว่าจะทรงตัวหรือติดลบน้อยลง เนื่องจากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกา จะยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการควรบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย โดยจะต้องรักษาและพัฒนาคุณภาพสินค้า การผลิตและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาสิ่งทอเทคนิคที่มีคุณภาพพิเศษ (Technical Textile) รวมทั้งติดตามทิศทางของตลาด ความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการส่งมอบให้ตรงเวลา

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

  • สถานการณ์เหล็กในเดือนมิถุนายน 2552 คาดว่าในส่วนของการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอยู่ แต่อาจมีปัจจัยบวกในเรื่องการส่งออกไปยังประเทศเวียดนามซึ่งยังคงมีความต้องการใช้เหล็กทรงยาวอยู่บ้าง ในขณะที่เหล็กทรงแบนเมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อนคาดว่าการผลิตจะทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังคงชะลอตัวอยู่ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณสต๊อกเริ่มลดลงบ้างแล้ว ซึ่งถ้าความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลับมาอีกครั้งอาจมีผลให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มการผลิตมากขึ้น

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนมิถุนายน 2552 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เป็นต้น แต่มีแนวโน้มในการปรับตัวลดลงในอัตราที่น้อยลงสำหรับกลุ่มชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่ ส่วนประกอบ HDD ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 4.66 แต่ในส่วนของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น IC และ Semiconductor ยังคงปรับตัวลดลง
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

เม.ย. 52 = 145.9

พ.ค. 52 = 159.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • อาหารทะเล ปลากระป๋อง
  • ยานยนต์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

เม.ย. 52 = 51.0

พ.ค. 52 = 54.95

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • อาหารทะเล ปลากระป๋อง
  • เส้นใยสิ่งทอ
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรม อาหาร คาดว่าจะลดลงจากเดือนก่อนตามค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้น สำหรับการจำหน่ายในประเทศจะชะลอตัวจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ลดลง จากปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.6 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 5.6 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น แป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 64.5 เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการรับจำนำของภาครัฐ และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากคำสั่งซื้อของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าสับปะรดกระป๋องและปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 50.2 และ 3.5

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์มและถั่วเหลือง มีปริมาณการกลั่นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 10.9 และ 6.7 เนื่องจากปริมาณในสต็อกอยู่ในเกณฑ์สูง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤษภาคม สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 1.3 และ 2.0 เนื่องจากผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนพฤษภาคม มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาท (ไม่รวมน้ำตาล) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 6.3 เนื่องจากสินค้าที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก ยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เช่น ปลาทูน่ากระป๋องและสับปะรดกระป๋อง ส่งออกลดลงร้อยละ 22.5 และ 27.0 แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกโดยรวมยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้น และยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

...ผู้ประกอบการควรบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย โดยจะต้องรักษาและพัฒนาคุณภาพสินค้า การผลิตและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออก...

1. การผลิต

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในเดือนพฤษภาคม 2552 ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์เนื่องจากจำนวนวันทำงานมากกว่าเดือนก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ (+15.2%), ผ้าทอ(+10.2%), ผ้าขนหนูและเครื่องนอนฯ (+9.0%), เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก (+10.4%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (+3.1%) แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว อาทิ เส้นใยสิ่งทอฯ (-12.6%) ผ้าผืน (-18.4%) ผ้าขนหนูและเครื่องนอนฯ (-14.9%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก (-28.5%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ(-17.0%) สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวลดลง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อและลดปริมาณนำเข้าสินค้าที่มีตราสินค้า (Brand name)ลง โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะเสื้อเชิ้ต/เบลาส์สตรีและเด็กหญิง ยังมีความต้องการบริโภคสูงมาก เนื่องจากมีการนำเข้าค่อนข้างมากจากประเทศจีนและเวียดนาม แต่การจำหน่ายโดยรวมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออก เดือนพฤษภาคม 2552 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 7.2 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (+10.6%) ผ้าผืน (+3.4%) ผ้าปักผ้าลูกไม้ (+2.5%) ด้ายฝ้าย (+1.9%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (+7.9%) และเส้นใยประดิษฐ์ (+11.9%) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งออกลดลงร้อยละ 18.8 ซึ่งปรับลดลงในตลาดส่งออกหลักทุกตลาด โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกามากที่สุด (- 37.1%) ญี่ปุ่น (-23.0%) สหภาพยุโรป (-16.1%) และอาเซียน (-4.5%)

3. แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่าย คาดว่าจะทรงตัวหรือติดลบน้อยลงเนื่องจากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาจะยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการควรบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย โดยจะต้องรักษาและพัฒนาคุณภาพสินค้า การผลิตและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาสิ่งทอเทคนิคที่มีคุณภาพพิเศษ (Technical Textile) รวมทั้งติดตามทิศทางของตลาดความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการส่งมอบให้ตรงเวลา

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

Ministry of International Trade and Industry (MITI)ของมาเลเซียได้ประกาศมาตรการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กหลายมาตรการ เช่น สามารถยื่นขออนุญาตในการผลิตเหล็กโดยไม่มีข้อจำกัดภาษีนำเข้าจะได้รับการยกเว้นสำหรับเหล็กทรงแบนที่ใช้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปสำหรับส่งออก หรือสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ หรือสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเลิกการควบคุมราคาเหล็กแผ่นม้วนรีดร้อน เป็นต้น

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤษภาคม 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวขึ้น ร้อยละ 12.49 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.82 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 180.20 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.31 เนื่องจากมีการส่งออกไปยังประเทศเวียดนามเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับผลจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งรวมไปถึงการออก package สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคาร ส่งผลให้กำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงมีผลทำให้มีการนำเข้าจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.03 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 18.23 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 6.81 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงถึง ร้อยละ 33.69 โดยเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 28.71 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 32.93 และเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 31.16 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 36.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 61.06 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 56.78 อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นโดยข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยพบว่า ความต้องการใช้เหล็กในประเทศในเดือนพฤษภาคม ลดลง ร้อยละ 52.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุดคือ เหล็กแผ่นเคลือบลดลง ร้อยละ 66 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 60.4

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น จาก 410 เป็น 463 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.80 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 358 เป็น 403 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.66 และเหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น จาก 310 เป็น 319 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.01 ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาทรงตัว คือ เหล็กแท่งเหล็กบิลเล็ต 365 เหรียญสหรัฐต่อตัน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีราคาลดลงคือ เหล็กเส้น ลดลงจาก 432 เป็น 415 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 3.86

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนมิถุนายน 2552 คาดว่าในส่วนของการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอยู่ แต่อาจมีปัจจัยบวกในเรื่องการส่งออกไปยังประเทศเวียดนามซึ่งยังคงมีความต้องการใช้เหล็กทรงยาวอยู่บ้าง ในขณะที่เหล็กทรงแบนเมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อนคาดว่าการผลิตจะทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังคงชะลอตัวอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณสต๊อกเริ่มลดลงบ้างแล้ว ซึ่งถ้าความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลับมาอีกครั้งอาจมีผลให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มการผลิตมากขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

  • อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และตลาดส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้
  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 61,752 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 125,862 คัน ร้อยละ 50.94 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ร้อยละ 15.11
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 40,539 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 54,910 คัน ร้อยละ 26.17 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ร้อยละ 2.08
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 31,913 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 70,913 คัน ร้อยละ 54.69 ซึ่งเป็นการลดลงในทุกตลาดส่งออก แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ร้อยละ 11.34
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2552 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 สำ หรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 52 และส่งออกร้อยละ 48

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 อย่างไรก็ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่งผลให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2552 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 121,704 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 182,137 คัน ร้อยละ 33.18 แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ร้อยละ 6.43
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 135,369 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 150,126 คัน ร้อยละ 9.83 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ร้อยละ 28.84
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป จำนวน 9,083 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 11,530 คัน ร้อยละ 21.22 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนเมษายน 2552 ร้อยละ 33.49
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2552 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 94 และส่งออกร้อยละ 6
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงซบเซาสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สำหรับการส่งออกถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศแถบอาเซียนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.48 และ 12.37 ตามลำดับ เนื่องจากในเดือนเมษายนมีช่วงหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 4.98 และ 12.10 ตามลำดับ ตามภาวะของธุรกิจการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ส่วนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 และ 3.93 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ บังคลาเทศ กัมพูชาพม่า ลาว เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ เนื่องจากมีกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคม 2552 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนยังคงชะลอการลงทุน

สำหรับการส่งออก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวแต่ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.03 โดยปรับตัวลงในอัตราที่น้อยลงเนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา โดยยังคงมีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลงในอัตราที่สูงมาก ซึ่งแตกต่างจากส่วนประกอบ HDD ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน พ.ค. 2552
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์          มูลค่า            %MoM            %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์              1,255.77           10.47           -17.20
          IC                            569.28           21.92            -5.18
          เครื่องปรับอากาศ                 198.63           -3.54           -33.69
          เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ                149.65           32.14             8.13

รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า

          และอิเล็กทรอนิกส์               3,401.21           12.25           -16.76

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2552 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 304.00 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.03 ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.94 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลง ร้อยละ 25.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 106.14 และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.70 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.02โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 416.22 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.97

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 12.25 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 16.76 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,404.21 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัย โรงงาน มีมูลค่าการส่งออก 198.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดคือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 1,225.77 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนมิถุนายน 2552 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เป็นต้น แต่มีแนวโน้มในการปรับตัวลดลงในอัตราที่น้อยลง สำหรับกลุ่มชิ้นส่วนและส่วนประกอบเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่ส่วนประกอบ HDD ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 4.66 แต่ในส่วนของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น IC และ Semiconductor ยังคงปรับตัวลดลง

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2552 มีค่า 159.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 (145.9) ร้อยละ 9.2 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (181.8) ร้อยละ 12.4
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเล ปลากระป๋อง ยานยนต์
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องแต่งกาย อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.95 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 (ร้อยละ 51.0) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 66.0)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเล ปลากระป๋อง เส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กลวด เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2552

  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2552 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 296 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนเมษายน 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 263 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 12.55 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,488.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ซึ่งมีการลงทุน 4,878.07 ล้านบาท ร้อยละ 94.51 และการจ้างงานรวมมีจำนวน 8,440 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 4,934 คน ร้อยละ 71.06
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 296 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 23.51 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีการลงทุน 15,767.50 ล้านบาท ร้อยละ 39.82 และมีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 12,515 คน ร้อยละ 32.56
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดิน 22 โรงงาน และอุตสาหกรรม ซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวน 20 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2552 คือ อุตสาหกรรม ผลิตสุรา กลั่นสุรา เงินทุน 1,500 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แก้ว เงินลงทุน 1,260.71 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2552 คือ อุตสาหกรรม ผลิตถุงพลาสติกและกระสอบพลาสติก จำนวนคนงาน 2,072 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตอุปกรณ์เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 746 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2552 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 104 ราย น้อยกว่าเดือนเมษายน 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 114 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.77 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการจำนวน 6,343.66 ล้านบาท มากกว่าเดือนเมษายน 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,309.28 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,844 คน มากกว่าเดือนเมษายน 2552 ซึ่งเลิกจ้างงานจำนวน 2,905 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.91 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2551 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,490.59 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2551 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,813 คน
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2552 คืออุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 13 รายรองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิมซั่ม ปูนปลาสเตอร์ จำนวน 12 ราย
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2552 คืออุตสาหกรรมผลิตแก้ว เส้นใยแก้ว ผลิตภัณฑ์แก้ว เงินทุน 4,970 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ เงินทุน
624 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมผลิตแก้ว เส้นใยแก้ว ผลิตภัณฑ์แก้ว คนงาน 1,388 คน รองลงมาคืออุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 520 คน
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2552 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 53 โครงการ น้อยกว่าเดือนเมษายน 2552 ที่มีจำนวน 71 โครงการร้อยละ 25.35 และมีเงินลงทุน 4,700 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนเมษายน 2552 ที่มีเงินลงทุน 35,900 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 86.91
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2551 ที่มีจำนวน 94 โครงการ ร้อยละ 43.62 และมีเงินลงทุนน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2551 ที่มีเงินลงทุน 26,500 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 82.26
  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2552
            การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)           มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                 107                     29,7000
          2.โครงการต่างชาติ 100%                134                     14,900
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ           96                     28,300
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2552 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 26,600 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 17,000 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ