รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประจำเดือนตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 19, 2009 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน 2552
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2552 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งขยายตัวเป็นเดือนแรกหลังจากหดตัวมาตลอดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เป็นต้นมา โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และอุตสาหกรรมสำคัญ คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ มีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 14.7 ซึ่งติดลบน้อยลงกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ที่การผลิตติดลบร้อยละ 20.2
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.2 หากพิจารณาเป็นรายสาขาอุตสาหกรรมจะพบว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนตุลาคม 2552

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เนื่องจากการส่งออกในตลาดหลักเริ่มปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกา
  • อย่างไรก็ตามเครื่องนุ่งห่มสามารถขยายตัวได้อีกในตลาดญี่ปุ่น ปัจจัยสำคัญเนื่องจากภาษีที่ลดลงเป็นร้อยละ 0 ตามข้อตกลง JTEPA และ AJCEP ซึ่งญี่ปุ่นเองต้องการที่จะลดการนำเข้าจากประเทศจีนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและการส่งมอบ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย และคาดว่าในไตรมาสที่ 4 การส่งออกจะขยายตัวในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • เดือนตุลาคม แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10 เนื่องจากการปรับลดลงของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเป็นหลักในตลาดส่งออกหลักเช่น ตลาดอียู และญี่ปุ่น แต่จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
  • ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวสูงมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2552

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 174.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (158.5) ร้อยละ 10.2 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (184.9) ร้อยละ 5.5

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ อิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์สี เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 12.8 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ Hard Disk Drive เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 58.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 53.9) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (ร้อยละ 62.7)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเล อาหารกระป๋อง การปั่นเส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ การปั่นเส้นใยสิ่งทอ เบียร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 54.7 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 (ร้อยละ 64.7) โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive การปั่นเส้นใยสิ่งทอเหล็ก เป็นต้น

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2552 - 2553

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2552 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 8.5 จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9

ในปี 2553 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกโดยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 6.0 — 8.0

ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในช่วงปลายปี 2552 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี และแนวโน้มในปี 2553 กลับมาขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนมาตรการกระตุ้นต่างๆ จากภาครัฐเริ่มมีผล ทำให้การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นเป็นลำดับ หากพิจารณารายไตรมาสพบว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เป็นจุดต่ำสุดพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 22.0 ไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 10.7 และไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 5.5 ไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ทั้งนี้หลายอุตสาหกรรม ได้รับปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสิ่งทอต้นน้ำ โดยเฉพาะ Hard disk drive ที่ยังคงขยายตัวได้ดีรวมไปถึงการผลิตรถยนต์ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตจะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการฟื้นตัวที่ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ส.ค. 52 = 169.5

ก.ย. 52 = 186.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
  • เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ส.ค. 52 = 56.9

ก.ย. 52 = 60.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2552 มีค่า 186.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 (169.5) ร้อยละ 10.1 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (184.8) ร้อยละ 1.0
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เบียร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เหล็ก เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 (ร้อยละ 56.9) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 61.1)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ การปั่นเส้นใยสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ยาง เบียร์ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2552

  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2552 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 343 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 346 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 0.87 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 13,701 ล้านบาท ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการลงทุน17,867 ล้านบาท ร้อยละ 23.32 แต่การจ้างงานรวมมีจำนวน 10,568 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,151 คน ร้อยละ 47.78
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 519 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 33.91 การจ้างงานรวมลดลงจากเดือนกันยายน 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 13,551 คน ร้อยละ 22.01 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีการลงทุน 11,526 ล้านบาท ร้อยละ 18.86
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2552 คือ อุตสาหกรรม ขุด ตักดิน ทราย สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 27 โรงงาน และอุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 20 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2552 คืออุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้า เงินลงทุน 2,646 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น หมูหยอง หมูยอ กุนเชียง แหนม ไส้กรอก เงินลงทุน 994.85 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2552 คืออุตสาหกรรม ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 2,750 คน รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น หมูหยอง หมูยอ กุนเชียง แหนม ไส้กรอก จำนวนคนงาน 827 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2552 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 87 ราย น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 92 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.43 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการจำนวน 1,579 ล้านบาท มากกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 360 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,669 คน มากกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งเลิกจ้างงานจำนวน 972 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 229 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.01 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2551 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 8,205 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนกันยายน 2551 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 8,465 คน
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2552 คืออุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 9 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป จำนวน 7 ราย
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2552 คืออุตสาหกรรมทำปุ๋ย สารป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ เงินทุน 410 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมถลุง ผสม ทำให้บริสุทธิ์ หลอม รีด ผลิตโลหะในขั้นต้นเงินทุน 400 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2552 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์คนงาน 497 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมพิมพ์ ทำแฟ้มเก็บเอกสาร เย็บเล่ม ทำปกตบแต่งสิ่งพิมพ์ คนงาน 94 คน
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในช่วงเดือนมกราคม — กันยายน 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 687 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 799 โครงการ ร้อยละ 14.02 และมีเงินลงทุน 176,000 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 268,800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.52
  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-กันยายน 2552
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)        มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%              226                     56,8000
          2.โครงการต่างชาติ 100%             250                     59,500
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       211                     59,600
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม-กันยายน 2552 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 66,800 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 43,900 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สำหรับการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 10.4 และ 6.8แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น สับปะรดกระป๋องปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 59.9 และ 7.1 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อของต่างประเทศที่ชะลอตัวลง

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์มและถั่วเหลือง มีปริมาณการกลั่นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.9 และ 9.7 เนื่องจากความต้องการใช้ที่ชะลอตัวลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกันยายน สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.9 เนื่องจากราคาน้ำมันมีความผันผวนทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยด้านอื่นๆ ลง

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาท (ไม่รวมน้ำตาล) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 1.5 เนื่องจากราคาสินค้าอาหารส่วนใหญ่ในตลาดโลกปรับลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกปรับลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูปและสับปะรดกระป๋อง ร้อยละ 14.8 20.3 และ 5.5ตามลำดับ แต่หาก เปรียบเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ6.9 พิจารณาได้จากความต้องการที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพื่อรองรับในเทศกาลต่างๆ ในช่วงปลายปี สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยที่จะเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“ภาวะการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก และผ้าทอ”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ในเดือนกันยายน 2552 ลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และ 4.2 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตยังติดลบ แต่ติดลบในสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ผลิตไว้จำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปี

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนกันยายน 2552 มีทิศทาง การขยายตัวที่ดีเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งเส้นใยสิ่งทอฯ เสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะเสื้อเชิ้ต/เบลาส์สตรีและเด็กหญิงขยายตัวร้อยละ 3.4 ซึ่งยังมีความต้องการบริโภคค่อนข้างสูง อีกทั้งมีการนำเข้าค่อนข้างมากจากประเทศจีน แต่การจำหน่ายโดยรวมยังติดลบเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก เดือนกันยายน 2552 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.6 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ลดลง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม (-6.3%) เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-7.8%) ผ้าปักและผ้าลูกไม้ (-24.3%) ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผ้าผืน (+3.4%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (+7.2%) เส้นใยประดิษฐ์ (+6.3%) เป็นต้น ซึ่งการส่งออกปรับตัวลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา (-4.8%) แต่เพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป (+1.4%) ญี่ปุ่น(+4.2%) และอาเซียน (+8.1%) ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 12.5

3. แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่าจะขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เนื่องจากการส่งออกในตลาดหลักเริ่มปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตามเครื่องนุ่งห่มสามารถขยายตัวได้อีกในตลาดญี่ปุ่น ปัจจัยสำคัญเนื่องจากภาษีที่ลดลงเป็นร้อยละ 0 ตามข้อตกลง JTEPA และ AJCEP ซึ่งญี่ปุ่นเองต้องการที่จะลดการนำเข้าจากประเทศจีนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและการส่งมอบ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยและคาดว่าในไตรมาสที่ 4 การส่งออกจะขยายตัวในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ประเทศผู้ส่งออกเหล็กชั้นนำของโลกต่างประสบปัญหาความต้องการเหล็กที่ซบเซาในช่วงต้นปี 2009 โดยปริมาณส่งออกเหล็กของโลกได้ลดลงถึง 31% ลงมาเหลือ90 ล้านตัน จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 130 ล้านตันในต้นปี 2009 โดยตัวเลขที่นำมาคำนวนทั้งหมดได้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กทรงยาว เหล็กทรงแบน และท่อ
  • จีนซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกเหล็กมากเป็นอันดับ 1 ในต้นปี 2008 ได้มีการส่งออกที่ลดลงมากถึง 68% และตกอันดับมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 7 ในต้นปี 2009 ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกเหล็กที่สำคัญอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรปญี่ปุ่น รัสเซีย และยูเครนต่างมีการส่งออกเหล็กที่ลดลงในระดับ 2 หลัก โดยมีเพียงเกาหลีใต้ ตุรกี และไต้หวันเท่านั้นที่มีการส่งออกลดลงน้อยกว่า 10%

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.48 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 127.83 เมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์จะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.46 และ 48.50 ตามลำดับ รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลวดเหล็ก และเหล็กลวด ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.56 14.24 และ8.92 ตามลำดับ โดยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มเหล็กทรงยาวเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารประเภทคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้เส้นทางของรถไฟฟ้าที่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างในอนาคตอันใกล้นี้ สำหรับเหล็กแผ่นนั้นเป็นผลมาจากการเลื่อนส่งมอบสินค้าจากเดือนสิงหาคมมาเป็นเดือนกันยายนเนื่องจากเรือที่ขนส่งเกิดขัดข้อง

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนตุลาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กสำคัญที่มีการปรับตัวลดลง คือ เหล็กแท่งบิลเล็ต ลดลงจาก 445 เป็น 411 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 7.64 เหล็กเส้น ลดลงจาก 475 เป็น 456 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 4.00 เหล็กแท่งแบน ลดลง จาก 400 เป็น 380 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 5.00 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 560 เป็น 529 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 5.54 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงเล็กน้อย จาก 629 เป็น 624 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.79 ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาเหล็กทุกตัวมีการปรับตัวลดลงในช่วงเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กภายในประเทศในเดือนตุลาคม 2552 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะอาคารสูงอย่างเช่นคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้เส้นทางของรถไฟฟ้า จะมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ เช่น ยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะนี้ก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับราคาเหล็กในตลาดโลกคาดว่าจะทรงตัว

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ พบว่า มีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน สำหรับข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน มีดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 103,390 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีการผลิต 123,834 คัน ร้อยละ 16.51 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ร้อยละ 22.83 ซึ่งเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง, รถยนต์ปิกอัพขนาด 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์)
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 48,649 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 47,881 คัน ร้อยละ 1.60 โดยเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ร้อยละ 12.48
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 49,351 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีการส่งออก 74,738 คัน ร้อยละ 33.97 แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ร้อยละ 14.49
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2552 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2552 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 52 และส่งออกร้อยละ 48

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 146,162 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีการผลิต 171,860 คัน ร้อยละ 14.95 และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ร้อยละ 8.14
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 129,112 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 147,530 คัน ร้อยละ 12.48 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ร้อยละ 6.40
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 7,467 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีการส่งออก 11,374 คัน ร้อยละ 34.35 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2552 ร้อยละ 11.08 อย่างไรก็ดี มีการส่งออกรถจักรยานยนต์ในลักษณะชิ้นส่วนครบชุด (CKD)เพิ่มขึ้นในตลาดแถบเอเชีย เช่น เวียดนาม เป็นต้น
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2552 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2552 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 94 และส่งออกร้อยละ 6
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการส่งออกถึงแม้ว่าจะเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศตลาดส่งออกหลักของไทยก็ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกันยายน 2552 ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 6.10 และ 9.17 ตามลำดับ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างแต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.78 และ 2.97 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนกันยายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.34 ซึ่งเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศบังคลาเทศ เวียดนาม และ เมียนมาร์ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 18.42

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนตุลาคม 2552 แนวโน้มไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน สำหรับในเดือนพฤศจิกายน 2552 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลก่อสร้าง และธุรกิจการก่อสร้างยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่รัฐบาลมีแผนการดำเนินการ ส่วนใหญ่อาจเริ่มก่อสร้างได้จริงประมาณต้นปี 2553 หากรัฐบาลมีการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้นสำหรับการส่งออก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวแต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียน ยังคงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ เนื่องจากมีกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10 เนื่องจากการปรับลดลงของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเป็นหลักในตลาดส่งออกหลัก เช่น ตลาดอียู และญี่ปุ่น แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวสูงมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการ

ส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ย. 2552

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์            มูลค่า         %MoM       %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                 1,669.07        11.56      3.96
          IC                               707.54        14.13     10.09
          เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ                   177.97        14.50    -24.93
          เครื่องปรับอากาศ                    177.29        -8.08    -12.57
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์    4,306.52        11.51     -1.31

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกันยายน 2552 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 393.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.31 และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.94 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ HDD และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น พัดลม สายไฟฟ้า และหม้อหุงข้าว เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.06 สำ หรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.46 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.86

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 11.51 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.31 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,306.52 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ(เครื่องล้างจาน, ลิฟต์, บันไดเลื่อน, ไฟฉาย, เครื่องให้สัญญาณไฟ) มีมูลค่าการส่งออก 177.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดคือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 1,669.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนกันยายน 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 10.46 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 9.01 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 1,511.51 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2552 มีมูลค่า 2,795.01 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.08 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.43

3. แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10 เนื่องจากการปรับลดลงของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเป็นหลักในตลาดส่งออกหลัก เช่น ตลาดอียู และญี่ปุ่น แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวสูงมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ