สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 15:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -2.8 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 (-7.1) และไตรมาสที่ 2 (-4.9) ของปี 2552 แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวหดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา คือ การใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่องสำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนในประเทศหดตัวน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 1 ของรัฐบาลและอัตราการว่างงานเริ่มลดลงทำให้กำลังซื้อของประชาชนเริ่มสูงขึ้น ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -5.9 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 (-14.4) และไตรมาสที่ 2 (-8.7) ของปี 2552 แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมวัตถุดิบ (โรงกลั่นน้ำมัน เคมีและเคมีภัณฑ์) และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี (เครื่องจักรสำนักงาน ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์) เริ่มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมเบา (อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม หนังและเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ) หดตัวต่อเนื่อง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ -3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2551

สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 พบว่า มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉพาะ ยานยนต์ Hard Disk Drive เป็นต้น และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 19.6 (ม.ค. — ต.ค. 2552) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งใน 10 เดือนแรกของปี 2552 สินค้าอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกหดตัวลงอย่างมาก คือ ยานยนต์ และพลาสติก นอกจากนี้ การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลัก มีการส่งออกหดตัวลงในทุกตลาด ทั้งในตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับตลาดใหม่ที่มีมูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวลงมาก คือ ละตินอเมริกา เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน มีการปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 เช่นกัน อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี2551 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มีการปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551และเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นโดยติดลบน้อยลงในต้นปี 2552 โดยทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี2553 คงต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย

  • การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นวงกว้าง และถูกขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ภาคเอกชนมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกและภาคการผลิตของไทยปรับตัวดีขึ้น
  • การดำเนินการขยายการลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะที่การขยายตัวของภาคการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
  • แรงส่งจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งในด้านการจ้างงาน ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ การใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะมีความต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553
  • FTA ไทย-อาเซียน เพิ่มโอกาสทางการส่งออกของไทยในอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ26 ของการส่งออกรวมในปัจจุบัน

ปัจจัยเสี่ยง

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในปี 2552 แต่การฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ยังมีข้อจำกัดจากการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ
  • ความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการภาครัฐและพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการขับเคลื่อนมาตรการลงทุนภาครัฐ และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ
  • การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เนื่องจากการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. และความต้องการเก็งกำไร และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในปี 2553 รวมทั้งความต้องการเงินทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว
  • ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องตามแนวโน้มการอ่อนตัวเป็นวงกว้างของค่าเงินดอลลาร์สรอ. เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก รวมทั้งค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย
  • รายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 ยังมีข้อจำกัดจากภาษีรายได้ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานรายได้ปี2552 การลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าเพิ่มขึ้น การชะลอลงของราคาน้ำมันเทียบกับราคาในปัจจุบัน ซึ่งมีผลของการเก็งกำไรในช่วงแรก ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่มาก

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 — 4.0 เป็นการขยายตัวภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรักษาความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ และการดูแลแก้ไขปัญหาการลงทุนภาคเอกชน

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าใน ช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 ดัชนีผลผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ประมาณร้อยละ 11.6 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2552 มีค่า 161.8 และในปี 2551 มีค่า 183.1 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ Hard Disk Drive เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 มีค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551

สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมได้รับผลดีจากปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางการเมือง ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองของไทยและราคาพลังงานยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี2551 ประมาณร้อยละ 12.4 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในช่วงปี 2552 มีค่า 160.2 และในปี 2551 มีค่า 182.9 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์สี Hard Disk Drive เหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 มีค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551

สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่าดัชนีการส่งสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยการส่งออก การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ประมาณร้อยละ 2.2 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี 2552 มีค่า 183.4 และในปี 2551 มีค่า 187.5 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive โทรทัศน์สี เส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สายไฟฟ้า เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551

สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมมีการเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังที่เหลืออยู่ในระดับต่ำ เพราะได้มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายบ้างแล้ว ส่งผลให้มียอดคำสั่งซื้อเพื่อไปปรับระดับสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 55.3 และในปี 2551 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.3 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ เหล็ก โทรทัศน์สี เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551

สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นบ้างแล้ว จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตามทิศทางของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 73.7 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 (78.4) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต(ตารางที่ 2) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 และยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เนื่องจาก ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์ทางการเมือง ค่าครองชีพที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และปัญหาการระงับการลงทุนในมาบตาพุด ที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อยู่ที่ระดับ 75.4 จากเดือนกันยายน 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 75.6

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 เฉลี่ยมีค่า 66.6 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีค่า 71.4 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดี และขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 เฉลี่ยมีค่า 65.8 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีค่า 71.6 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโอกาสในการหางานทำอยู่ในระดับที่ไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 เฉลี่ยมีค่า 88.6 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีค่า 92.3 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของตนเองยังไม่ดีนัก

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) เดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี2552 มีค่า 43.5 และในปี 2551 มีค่า 42.7 การที่ค่าดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 คือ การผลิต

สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เนื่องจาก แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น สถานการณ์ทางการเมือง ราคาพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยน ยังคงเป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาในเชิงลบของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index: TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม2552 ดัชนีเฉลี่ยมีค่า 81.3 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีค่า 79.3 การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เชื่อว่าสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีมีค่า 104.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน2552 (95.9) ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าดัชนีที่มีค่าเกิน 100 เป็นเดือนแรกนับจากเดือนมีนาคม 2549 (42 เดือนมาแล้ว) โดยเป็นผลมาจากองค์ประกอบดัชนีทุกตัวปรับสูงขึ้น ทั้งยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ซึ่งยอดคำ สั่งซื้อและยอดขายในภาคอุตสาหกรรม ได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจภายในของประเทศคู่ค้าอย่างประเทศจีนและจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีคำสั่งซื้อเพื่อรองรับการขายในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ปกติของช่วงสุดท้ายของปี ส่วนปัจจัยบวกในประเทศมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างและยานยนต์ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวดังกล่าวด้วย

คาดว่าในปี 2553 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากในปี 2553 ปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนต่างๆ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ ขอให้รัฐช่วยหามาตรการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบและแรงงานในประเทศ รวมถึงสนับสนุนการจัดหาแรงงานฝีมือ เร่งแก้ปัญหาการเมือง เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพและทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างโลจิสติกส์อย่างจริงจังรวมถึงดูแลเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันแข็งค่าเกินไป และขอให้รัฐดำเนินมาตรการที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index: LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 119.6 ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2552 (119.8) ร้อยละ 0.2 ตามการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดัชนีราคาส่วนกลับน้ำมันดิบ และมูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index: CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 117.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2552 (117.2) ร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI)ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และมูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2552มีค่า 126.5 และในปี 2551 มีค่า 131.4 ทั้งนี้ เครื่องชี้สำคัญที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 คือปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ (ตารางที่ 5)

สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552เนื่องจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ระยะที่ 2 ที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นต่างๆ ที่ดีขึ้น จะส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2552 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2552 มีค่า 154.0 และในปี 2551 มีค่า 178.4

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ทั้งปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551

สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือและเอื้อต่อการลงทุน จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลปัญหามาบตาพุด ปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมือง ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุน

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน มีค่า 104.3 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 (105.9) ร้อยละ 1.5 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาในหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนาและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 ดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน มีค่า 149.5 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 (159.2) ร้อยละ 6.1 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551

สำหรับแนวโน้มปี 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตน่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูง

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนในปี 2552 (ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนธันวาคมซึ่งเป็นตัวเลขประจำเดือนกันยายน 2552) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.36 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.80 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.54 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.458 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 1.19)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2552 มีจำนวน 5.71 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.11 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2552 นั้นในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2552 การค้าของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 230,707.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.4 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 124,113.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 106,593.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 19.6 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 31.2 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 17,520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา และกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งอออกทั้งปี 2552 จะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 13-15 เมื่อเทียบกับปี 2551คิดเป็นมูลค่า 151,000-154,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม—ตุลาคม) ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 95,127.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 76.65) สินค้าเกษตรกรรม 13,034.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นร้อยละ 10.50) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 9,247.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.45) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 6,705.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.40)

เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วนั้นมูลค่าการส่งออกของสินค้าส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตที่ลดลงในทุกหมวดจากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 17.79 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 7.11 สินค้าเกษตรร้อยละ 26.98 และสินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 38.19 สำหรับสินค้าอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมากถึงร้อยละ 96.07

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2552 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 12,822.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 8,780.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณี และเครื่องประดับ 8,774.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 5,213.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 4,381.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 4,179.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 4,080.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 3,649.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 3,603.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์ยาง 3,588.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 59,072.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ตลาดส่งออก

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 54.17 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งหมดหดตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 26.11 ตลาดญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 25.82 ตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 22.09 ตลาดสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 27.41 และตลาดอื่นๆ ลดลงร้อยละ 11.17

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2552 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบมีมูลค่าสูงสุด 42,663.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 40.02) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน 29,518.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นร้อยละ 27.69) สินค้าเชื้อเพลิง 19,773.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.55) สินค้าอุปโภคบริโภค 10,949.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.27) สินค้าหมวดยานพาหนะ 3,460.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.25) และสินค้าอื่นๆ 229.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.22)

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 39.24 สินค้าวัตถุดิบลดลงร้อยละ 37.34 สินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 14.58 สินค้าหมวดยานพาหนะลดลงร้อยละ 25.57 และสินค้าทุนลดลงร้อยละ 19.57 สำหรับการนำเข้าสินค้าหมวดอื่นๆ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพียงหมวดเดียว โดยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 125.96

แหล่งนำเข้า

การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 52.88 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 พบว่าการนำเข้าของทุกกลุ่มประเทศมีมูลค่าลดลง ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนลดลงร้อยละ 23.34 ประเทศญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 31.68 สหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 29.72 และสหภาพยุโรปลดลงคิดเป็นร้อยละ 17.72

แนวโน้มการส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ปรับรูปแบบการผลักดันส่งออกสินค้าสำคัญใหม่โดยให้มีการแต่งตั้งประธานกลุ่มขึ้นมาดูแลสินค้า 10 อันดับแรกเป็นพิเศษ ซึ่งสินค้าเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ70 ของการส่งออกรวมทั้งหมด และมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 85 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด จึงต้องการให้มีผู้รับผิดชอบ ทั้งการวางแผนบุกเจาะตลาด การเพิ่มยอดการส่งออก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมการส่งออกให้เหมาะสมกับแต่ละสินค้า แต่ละตลาด สินค้าทั้ง 10 รายการ ได้แก่ สินค้าอาหารและข้าว สินค้าสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าวัสดุก่อสร้าง เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้ายานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางพารา นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งประธานกลุ่มสินค้าเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่ม คือ สินค้าเอกลักษณ์ไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม กล้วยไม้ อาหารไทยและสปาไทย กลุ่มสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออก เช่น เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องมือแพทย์ เครื่องเขียน และธุรกิจสิ่งพิมพ์ และสุดท้ายกลุ่มดูแลผู้ประกอบการ SMES ให้มีความพร้อมในการส่งออก และการส่งเสริมสินค้า OTOP

ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบการทำงาน ประธานกลุ่มสินค้าจะต้องเข้าไปดูว่าสินค้าที่ตนเองรับผิดชอบนั้นปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกเท่าไร มีตลาดส่งออกสำคัญอะไรบ้าง ยอดการส่งออกไปแต่ละตลาดเป็นอย่างไรตลาดไหนควรจะเพิ่มกิจกรรม เพื่อผลักดันการส่งออก ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการปรับรูปแบบการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าในแนวใหม่นี้แล้ว คาดว่าจะสามารถผลักดันให้ยอดการส่งออกสินค้าไทยในปี2553 มีอัตราการขยายตัวได้ร้อยละ 10-15 และอาจจะมีโอกาสขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 18

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2552 คาดว่าจะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 432,200 ล้านบาท

                                                          2550       2551        2552*
          มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน(ล้านบาท)          634,700    432,200     400,000
  • หมายเหตุ : ข้อมูลปี 2552 เป็นตัวเลขการคาดการณ์

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุน พบว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 118,500 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 46,400 ล้านบาท หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร มีเงินลงทุน 33,200 ล้านบาท หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 27,000 ล้านบาท หมวดเคมี กระดาษ และพลาสติก มีเงินลงทุน 18,100 ล้านบาท หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ มีเงินลงทุน 10,400 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเบา มีเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท

การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

          อุตสาหกรรม                                    2552 (ม.ค.-พ.ย.)

จำนวนโครงการ มูลค่าการลงทุน(ล้านบาท)

          เกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร                     142           33,200
          เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ                        21           10,400
          อุตสาหกรรมเบา                                   53            6,500
          ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง               157           46,400
          อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า                      130           27,000
          เคมี กระดาษและพลาสติก                            91           18,100
          บริการและสาธารณูปโภค                            311          118,500
          รวม                                           905          260,100

สำหรับแหล่งลงทุนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 222 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 52,825 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกามีการลงทุนจำนวน 36 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 25,417 ล้านบาท จีน 14 โครงการ เป็นเงินลงทุน 6,969 ล้านบาท และเกาหลีใต้ 24 โครงการ เป็นเงินลงทุน 5,910 ล้านบาท

ตารางที่ 17 : การลงทุนจากต่างประเทศในกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน BOI จำแนกตามกลุ่มประเทศ

(ล้านบาท)

          ประเทศ                2551                 2551 (ม.ค.-พ.ย.)               2552 (ม.ค.-พ.ย.)
                           จำนวน  การลงทุน             จำนวน   การลงทุน               จำนวน    การลงทุน
                          โครงการ                    โครงการ                       โครงการ
          ญี่ปุ่น              324    106,155               293    80,692                222      52,825
          ไต้หวัน             47      7,406                44     7,150                 29       3,758
          ฮ่องกง             19      5,303                17     4,853                 13         921
          เกาหลีใต้           56      9,273                48     8,122                 24       5,910
          สิงคโปร์            67     25,334                60    17,860                 42       5,338
          มาเลเซีย           46     25,219                40    23,008                 23       2,103
          อินโดนีเซีย           2        350                 1       200                  3       1,331
          ฟิลิปปินส์             1          5                 1         5                  2           3
          จีน                27      3,474                26     3,453                 14       6,969
          สหรัฐอเมริกา        32      8,698                26     7,291                 36      25,417
          แคนาดา             4        141                 4       141                  7         667
          ออสเตรเลีย         22      3,195                21     3,131                  9         618
          สหราชอาณาจักร      31      9,004                30     8,919                 18       1,856
          เยอรมัน            31      2,793                27     2,140                 21       1,071
          สวิสเซอร์แลนด์       10        979                 8       560                 10       2,724
          ฝรั่งเศส            24      2,027                23     2,025                 17         772
          เบลเยียม           10      2,308                10     2,308                  7         405
          อิตาลี               7        721                 6       719                  3       2,065

ที่มา : สำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

หมายเหตุ : สัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ