สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 15:37 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ปี 2552 ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยแต่ในหลาย ๆ ประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ประเทศจีนเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สำหรับปัญหาการว่างงานของหลาย ๆ ประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว ในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ 74.58 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ 55.64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวและสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้หลายประเทศมีอากาศหนาวรุนแรงกว่าปีก่อนมาก ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรประกอบกับตลาดยังคงกังวลต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน และสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมถึงความต้องการใช้น้ำมันของโลกในอนาคต ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังคงไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นโดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม มีราคาอยู่ที่ 71.19 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

สำหรับเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ที่ผ่านมา หดตัวร้อยละ -2.8 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 (-7.1) และไตรมาสที่ 2 (-4.9) ของปี 2552 และหดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 (2.9) โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา คือ การใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนในประเทศหดตัวน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 1 ของรัฐบาลและอัตราการว่างงานเริ่มลดลงทำให้กำลังซื้อของประชาชนเริ่มสูงขึ้น ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ -3.0

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ตัวชี้วัดต่างๆ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) และอัตราการใช้กำลังการผลิต ซึ่งครอบคลุม 53 กลุ่ม โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ และเบียร์ นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เช่นกัน

ด้านสถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 โดยใน ไตรมาสที่ 4 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 83,537.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 43,281.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 40,256.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.32 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.81 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 3,025.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.90 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.26 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาการส่งออกในไตรมาสที่ 4 เป็นรายเดือน พบว่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน(ตุลาคม-ธันวาคม) มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนมูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรก ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 และในเดือนธันวาคมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 13,839.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 14,628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ สำหรับในปี 2553 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 14 คิดเป็นมูลค่า 173,852 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 45,287.95 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 68.18 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 29,003.92 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 16,284.03 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 11 เดือนในปี 2552 พบว่าในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดซึ่งเกินระดับ 25,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 316 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีเงินลงทุน 105,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 53.97 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 111 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 28,200 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 87 โครงการ เป็นเงินลงทุน 60,300 ล้านบาท

และเมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 56,000 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 26,400 ล้านบาท และหมวดเคมีกระดาษ และพลาสติกมีเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 77 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 18,039 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์จำนวน 19 โครงการ มีเงินลงทุน 13,086 ล้านบาท ประเทศจีนจำนวน 4 โครงการ เป็นเงินลงทุน 6,446 ล้านบาท และประเทศมาเลเซีย 7 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 101.64 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.29 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.40 ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้น กระติกน้ำร้อน โทรทัศน์สี(ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว) และ โทรทัศน์สี (ขนาดจอ 21 นิ้ว หรือมากกว่า)ที่ยังคงปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.48, 20.57 และ 7.71 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.60 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือ Other IC Hard Disk Drive และ Printer เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.47 7.02 และ 1.31 ตามลำดับ

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 1 ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2553 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และจากดัชนีชี้นำที่ส่งสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าคอมเพรสเซอร์ ซึ่งคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นถือเป็นส่วนประกอบหลักและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการภาวะอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากตัวแปรดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐส่งสัญญาณดีขึ้นซึ่งตัวแปรดังกล่าวนำมาพิจารณาในการประมาณการไตรมาสที่ 1 ปี 2553

เคมีภัณฑ์ ในช่วงไตรมาสที่ 4 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อยู่ในภาวะทรงตัว ทั้งนี้เนื่องจากความไม่มั่นใจของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิตยังคงทรงตัว ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ทั้งการผลิตและการจำหน่ายของเคมีภัณฑ์ลดลงเล็กน้อย

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล ตรุษจีน และวาเลนไทน์ทำให้ประชาชนน่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยกันเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในกรณีที่เศรษฐกิจของประเทศกรีซ และสเปนกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินของสหรัฐ ฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนของการเมืองของไทยในขณะนี้

ปิโตรเคมี ไตรมาส 4 ปี 2552 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 6,562.60 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 12,997.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 38,159.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การขยายกำลังการผลิตของประเทศในแถบตะวันออกกลางและจีน รวมถึงไทย ซึ่งจะส่งผลให้มีอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ผู้ประกอบการควรต้องเร่งปรับตัวเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การรุกหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดของประเทศที่เริ่มพัฒนาประเทศ และไม่ควรมองข้ามประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมในปัจจุบันดังกรณีปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมใน ปี 2552 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลงร้อยละ 8.49 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 19.13 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 42.01 และ 21.21 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 49.86 และ 37.98 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 84.87 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 76.13 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก ทำให้ความต้องการเหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง(ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า) รวมทั้งเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดลงอย่างมาก สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงโดยเฉพาะเหล็กทรงแบนสาเหตุหลักมาจากอุตสาหกรรมปลายทางที่มีการบริโภคในเหล็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะเหล็กที่เป็นเกรดคุณภาพสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีภาวะการผลิตที่ชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกก็ยังไม่มีการฟื้นตัว

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัว โดยเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเริ่มขยายตัวขึ้นนอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งมีการลงทุนทางด้านโครงการการขนส่ง Logistic จะมีผลทำให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้เหล็กชนิดนี้มากยิ่งขึ้น

ยานยนต์ ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่สี่ปี 2552 มีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับตลาดภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์สาเหตุเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับเป็นช่วงจัดงาน Motor Expo มีบริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆ แนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี

สำหรับในปี 2553 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.40 ล้านคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณ 6 แสนคัน และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 8 แสนคัน

พลาสติก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 การผลิตเม็ดพลาสติกปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตามยังคงมีคำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์พลาสติกบ้าง แต่ไม่มาก อีกทั้งยังมีเรื่องของมาบตาพุดที่ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงส่งผลให้การผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ภาพรวมในแต่ละอุตสาหกรรมที่พลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้องน่าจะปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในการหีบห่อ ซึ่งตอนนี้มีความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้น หรือมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการซื้อบ้านที่จะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2553 ที่น่าจะทำให้ยอดของการซื้อบ้านเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีเทศกาลตรุษจีน และวาเลนไทน์ที่จะทำให้เกิดการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในกรณีของมาบตาพุดที่ระงับการดำเนินการของ 65 โครงการ และความไม่แน่นอนของการเมืองในขณะนี้

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิต การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก และ การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 4 ปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ในปีเดียวกัน มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิตลงตั้งแต่ช่วงต้นปีเพื่อขายสินค้าในคลังสินค้าให้หมด ทำให้ช่วงกลางปีในคลังสินค้ามีปริมาณลดลง จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตในปลายปี ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่นำมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำ เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า อีกทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้หนังฟอก เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ฯลฯ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มใน ปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 การผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการออกแบบและเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มผักผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธัญพืชและแป้ง ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมและอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ที่เพิ่มการสั่งซื้อในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้หากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36.1 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากจากการปรับลดลงของสต็อกตลาดโลก และเป็นผลสืบเนื่องจากอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถส่งออกน้ำตาลได้

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 คาดว่าหากเปรียบเทียบกับปีก่อน จะมีทิศทางการผลิต และการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และหากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อการร้ายในหลายประเทศ และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีปริมาณการผลิต 2.48 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.40 และร้อยละ 5.70 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่โดยรวมยังซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูง เช่น ราคาน้ำมัน และค่าแรง ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการยังขาดความมั่นใจและปรับลดปริมาณการผลิตลง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า และโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ความต้องการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งผู้ประกอบการเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบ ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.66 และ 23.69 ตามลำดับ. แต่ถ้าพิจารณาในภาพรวมทั้งปี 2552 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 10.10 เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนอกจากนี้การที่ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางที่สำคัญของโลก หันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยางเพื่อรักษาระดับราคายางในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณว่าจะฟื้นตัว สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 แบ่งเป็นการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง 6.29 ล้านเส้น กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 10.51 ล้านเส้น และกลุ่มยางใน 17.23 ล้านเส้น ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.97 7.63 และ 33.26ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.08 การผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว สำหรับในส่วนของถุงมือยางไม่มีผลกระทบ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะซบเซาเนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยคือ การปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายางรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็กทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา จากประเทศจีนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากจีนลดลง อาจส่งผลต่อประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ส่งออกยางแปรรูปขึ้นต้นไปยังอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีน แต่ในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ที่สำคัญของไทย แต่การที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้น้อยลง อาจทำให้มีการผลักสินค้าไปสู่ตลาดอื่นๆมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตลาดส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นข้อได้เปรียบด้านราคามากกว่าคุณภาพ

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีค่าดัชนีผลผลิต 106.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 7.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคและกำลังการผลิตของผู้ผลิตชะลอตัวตาม ส่วนภาวะการผลิตกระดาษโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวมที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการผลิตกระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก จะนำมาผลิต บรรจุภัณฑ์กระดาษ เพื่อใช้ในสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่คาดว่าผู้บริโภคจะเพิ่มกำลังซื้อสินค้าในแต่ละประเภทมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 1 ของปี2553 คาดว่า จะทรงตัว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว ความมีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษ และกระดาษน่าจะปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจจากผลการดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในประเทศและคู่ค้าหลักของไทยที่คาดว่า จะฟื้นตัว รวมถึงนโยบายการส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 มีปริมาณ 7,348.7 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.9 สำหรับในปี 2552 มีปริมาณการผลิต 28,288.1 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 9.7 โดย ยาน้ำ เป็นยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผู้ผลิตเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา และตลาดส่งออก นอกจากนี้ยังมีการผลิตยาสามัญใหม่ออกมาอีกด้วยทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง

สำหรับแนวโน้มไตรมาสแรก ของปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายไปจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ซื้ออาจจะยังมีสินค้าเก่าเหลืออยู่ สำหรับมูลค่าการนำเข้าและส่งออกคาดว่า จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวเล็กน้อยเช่นเดียวกัน และอาจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ตามวัฏจักรธุรกิจ

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เริ่มมีสัญญาการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายผลิตภัณฑ์ แต่บางผลิตภัณฑ์ที่ยังคงปรับตัวลดลง อาทิการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) ลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ดัชนีผลผลิตการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และ 2.6 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าที่คาด อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก อีกทั้งแนวโน้มแฟชั่นที่มีการออกแบบที่มีลักษณะที่โดดเด่นจึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้มีปัจจัยบวกหลักจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการผลิตและการส่งออกสิ่งทอของไทย

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 1.77แต่การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.46 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.01 และ 9.72 ตามลำดับ โดยการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในปี 2552 ยังคงลดลงเนื่องจากภาคการก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชน และโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐยังไม่มีความคืบหน้า แต่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 อุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้างรวมทั้งภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำ ลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงของฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นรัฐบาลเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ โดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้นทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น โดยตลาดปูนซีเมนต์จะเริ่มขยายตัวจากกลุ่มที่อยู่อาศัย และการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 36.09 ล้านตารางเมตรและเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.53 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในอัตราร้อยละ 1.86 และ 0.68 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 27.71 ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ลดลงในอัตราร้อยละ 12.07

สำหรับแนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงที่ตลาดเข้าสู่ฤดูการขาย ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีจึงทำให้การผลิตและจำหน่ายเซรามิกน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกลดลงร้อยละ 25.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป และอัญมณี ลดลงคิดเป็นร้อยละ 46.79 และ 14.58 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่การส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปมีมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ในช่วงเดือนธันวาคม ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเพื่อชดเชยที่ก่อนหน้านี้ได้ส่งออกไปอย่างมาก

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ปัจจัยด้านบวก ได้แก่ งานบางกอกเจมส์และจิวเวลรี่ แฟร์ 2010 ครั้งที่ 45 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-2 มี.ค. 2553 ซึ่งจะมีคำสั่งซื้อเข้ามา การลดภาษีของคู่ค้าตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนสัดส่วนมากกว่า 90% ของรายการสินค้า/มูลค่าการนำเข้าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะมีแนวโน้มเพิ่มดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ