สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 14:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปี 2553 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศเริ่มขยายตัว ถึงแม้จะมีบางประเทศยังอยู่ในภาวะหดตัว แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการส่งออก และการบริโภคที่ขยายตัว ปัญหาการว่างงานของหลาย ๆ ประเทศเริ่มคลี่คลายยกเว้นบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรปในส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ 75.84 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่อยู่ที่ 43.47 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลงโดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 2.86 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 77.11 USD/Barrel เนื่องจากปัญหาหนี้สินของกรีซส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อาจทำให้ความต้องการพลังงานของโลกลดลง รวมทั้งสต๊อกน้ำมันดิบที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ที่ผ่านมา ขยายตัวร้อยละ 5.8 ซึ่งขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เป็นต้นมา โดยขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 4.2 โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในไตรมาสที่4 ปี 2552 คือ การส่งออกสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน การใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัว และการลงทุนรวมที่หดตัวน้อยกว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2552 จากการก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 4 ที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการยังคงหดตัว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 — 4.5

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) และอัตราการใช้กำลังการผลิตซึ่งครอบคลุม 53 กลุ่ม โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศสบู่และผงซักฟอก นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เช่นเดียวกัน

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 86,651.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 44,380.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 42,270.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.54 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดุลการค้าเกินดุล 2,110.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.61 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.13 การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553

ในส่วนของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำมีการขยายตัวร้อยละ 42.67 เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน 2 ไตรมาส เมื่อพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือน เดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 40.89 เป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากที่ติดลบมาตั้งแต่ต้นปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 12,263.92 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งนับเป็นเดือนที่ 7 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำมีมูลค่าเกิน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นระดับที่มีการส่งออกในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวข้างต้นกระจายไปในทุกกลุ่มสินค้าตลอดจนทุกตลาดหลักโดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากข้อตกลงเอฟทีเอ และเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวค่อนข้างแข็งแกร่ง

ทางด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ที่เป็นเครื่องชี้หรือดัชนีชี้นำ(Leading Indicator) ของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตัวเลขในไตรมาสที่ 1/2553 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐของสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ)กลับมาขยายตัวเป็นบวกในอัตราสูงที่ร้อยละ 27.9 และ 67.0 ตามลำดับ หลังจากที่ทั้ง 2 รายการเริ่มติดลบมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 54.2 เป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน คิดเป็นมูลค่า 4,114.8 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งนับเป็นเดือนที่ 9 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนมีมูลค่าเกิน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นระดับที่มีการนำเข้าในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ในด้านของมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 65.8 เป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน คิดเป็นมูลค่า 5,732.74 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งนับเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่าเกิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นระดับที่มีการนำเข้าในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551

ทั้งนี้จากตัวเลขในส่วนของการนำ เข้าดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเครื่องยืนยันการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมไทยอีกหนึ่งแรง เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักของไทยเรา ในการผลิตส่วนใหญ่มีการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่างๆ มาจากต่างประเทศ นำมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปในประเทศไทยและส่งออกเมื่อมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ย่อมส่งผลต่อระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ย่อมจะต้องมีการขยายตัวตามกันไปด้วย

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 36,385.55 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.92 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 19,741.89 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 16,643.66 ล้านบาท สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 354 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 213 โครงการ โดยโครงการทั้ง 354 โครงการนั้นมีเงินลงทุน 88,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 172.22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 116 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 22,100 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 83 โครงการ เป็นเงินลงทุน 31,400 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 41,500 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 16,900 ล้านบาท และเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 13,000 ล้านบาท สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 73 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 22,705 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศฮ่องกงจำนวน 6 โครงการ มีเงินลงทุน 8,121 ล้านบาท ประเทศสวิสเซอร์แลนด์จำนวน 2 โครงการ เป็นเงินลงทุน 3,136 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์15 โครงการ เป็นเงินลงทุน 3,071 ล้านบาท

กล่าวโดยสรุป เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่างๆในไตรมาสที่ 1/2553 ข้างต้นซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวชัดเจน แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม และปิดพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ขยายเข้าไปสู่ย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ น่าที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและบรรยากาศของการบริโภค และภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งอาจทำให้เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีการชะงักและสะดุดลงในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกจะยังคงทำหน้าที่ได้ดีก็ตาม ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)ได้ทำการประเมินผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจรวมของประเทศและโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมโดยสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างชัดเจนมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.การเบิกจ่ายงบของภาครัฐตามโครงการต่างๆ ที่อาจจะมีความล่าช้าเกิดขึ้น และ 3.ความเชื่อมั่น

สำหรับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น หากการชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรงมาก จนถึงขั้นปิดสนามบินและท่าเรือหรือสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดผลกระทบ หากเกิดในระยะสั้นก็จะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมไม่มากนัก เพราะขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าการจำหน่ายในประเทศ ทั้งนี้ในภาคการส่งออกกำลังฟื้นตัว คำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากต่างประเทศมีเข้ามาเพิ่มขึ้น บางสินค้าคำสั่งซื้อยาวล่วงหน้าถึงช่วงสิ้นปีแล้ว แม้ว่าจะมีการสะดุดบ้างในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 ซึ่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น นอกจากนี้ในระยะต่อไป แม้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจชะลอลง เนื่องจากผลของฐานที่ค่อยๆ สูงขึ้นในเดือนถัดๆ ไป แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ทิศทางการส่งออกตลอดทั้งปี 2553 จะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงเป็นตัวเลข 2หลัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอานิสงส์จากการเปิดตลาดการค้าเสรีที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกนี้ น่าจะยังช่วยประคับประคองการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ไว้ได้โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2553 กลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงร้อยละ 6.0 — 8.0 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวในช่วง 4.5 — 5.5 จากในปี 2552 ที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.1 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 7.2

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 114.86 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 13.01 หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 33.34 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้น กระติกน้ำร้อน และโทรทัศน์สี (ขนาดจอ 21 นิ้ว หรือมากกว่า) ที่ยังปรับตัวลดลง สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ทรงตัวร้อยละ 0.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.10 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Semiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 112.63 รองลงมาคือ Monolithic IC ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 97.94 (ยังมีต่อ).../แนวโน้มเศรษฐกิจ..

จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2553 ของแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน2553 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.37 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมตู้เย็นคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.17 และ37.70 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.62 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 1 ปี 2553 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 10.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออกน่าจะทรงตัว เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ และยังมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในกรณีที่เศรษฐกิจของประเทศกรีซ และสเปนกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินของสหรัฐ ฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนของการเมืองของไทยในขณะนี้

ปิโตรเคมี ไตรมาส 1 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 16.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก Demand ผู้บริโภคขยายตัว และการขยายกำลังการผลิตในหลายประเทศทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจีน ย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเปิดเสรีเขตการค้า AFTA ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนวัตถุดิบซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมตลอด Supply Chain

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.36 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.09 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.08 และ 118.46 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 331.94 เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 117.60 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 105.30 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.12 และ 18.75 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยการขยายตัวของตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากการฟื้นตัวของประเทศในแถบเอเชีย ได้ ประเทศจีน อินเดีย

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2553 คาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาว คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากปริมาณสต๊อกที่มีอยู่เริ่มลดลง ผู้ผลิตจึงต้องผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2553 มีจำนวน 382,944 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 198,972 คัน ร้อยละ 92.46 ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.95, 88.51 และ 52.87 ตามลำดับ ทั้งนี้ในไตรมาสนี้ ผู้ประกอบการรถยนต์ได้เริ่มมีการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งประเภทใหม่ของประเทศไทย จะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาส 1 ของปี 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน สำหรับตลาดรถยนต์ภายในประเทศมีการขยายตัวเช่นกัน ซึ่งได้รับผลดีจากเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น อีกทั้งในไตรมาสนี้ มีผู้ประกอบการหลากหลายรายแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดทั้งรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลาง

จากข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้ประกอบการ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ประมาณ 3.4 แสนคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 45 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55

พลาสติก ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ด้านของการผลิตเม็ดพลาสติกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ยังคงมี คำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์พลาสติกบ้าง ดังจะเห็นได้จากในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น อีกทั้งด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการเจริญเติบโตเพิ่ม ส่วนด้านปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ได้มีกำลังการผลิตใหม่ของเม็ด LLDPE ของบริษัท PTTEP เข้ามาสู่ตลาด ในขณะเดียวกัน บริษัท Eternal Plastic ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PS ก็มีการหยุดการผลิตลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการผลิตในบางเม็ดพลาสติกเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ในกรณีเรื่องของมาบตาพุดที่ทำให้โรงงานวัตถุดิบตั้งต้นสามารถเปิดดำเนินการได้ จึงส่งผลให้การผลิตเม็ดพลาสติกไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ภาพรวมในแต่ละอุตสาหกรรมที่พลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้องน่าจะปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยายยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังมีปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง ที่ต้องคำนึงเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ลดความมั่นใจในการใช้จับจ่ายสินค้าของผู้บริโภค หรือการลดแหล่งชอปปิ้ง หรือการปิดกั้นการเดินทาง อีกทั้งกรณีลดความมั่นใจนักลงทุน ในกรณีของการฟ้องร้องโรงงานในมาบตพุด หรือแนวโน้มการขึ้นราคารถเมล์ ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภค แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง ในกรณีที่รัฐบาลจะมีการจำหน่ายพันธบัตรไทยเข้มแข็ง เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิต การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก และ การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 1 ปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ในปี 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิตลงตั้งแต่ช่วงต้นปี2552 เพื่อขายสินค้าในคลังสินค้าให้หมด ทำให้ช่วงกลางปีในคลังสินค้ามีปริมาณลดลง จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่ในปลายปี ถึงต้นปี 2553 คำสั่งซื้อในไตรมาส 2 มีแนวโน้มดีกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศคู่ค้าที่สำคัญแต่ปัญหาทางการเมืองอาจจะส่งผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าในไตรมาส 3 เนื่องจากลูกค้ายกเลิกการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและมีความกังวลที่อาจจะส่งผลต่อการส่งมอบสินค้า แต่โดยรวมในปี 2553 ทั้งปีแนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และผู้ซื้อเริ่มสั่งสินค้าไปเติมสต๊อคที่ใกล้จะหมด

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 7.0 จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เนื่องจากปริมาณการผลิตในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปศุสัตว์ อาหารสัตว์ และน้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 14.9 4.0 3.2 และ 1.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลจากการปรับราคาสินค้าอาหารขึ้น ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศปรับตัวลดลง ประกอบกับความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่จากความกังวลในการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินรอบใหม่ที่เกิดกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป กลับส่งผลให้มีการชะลอการสั่งสินค้า ประกอบกับเป็นช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ จึงทำให้ผู้ผลิตบางรายปรับลดการผลิตลง

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และจากไตรมาสก่อน แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง แต่จากการที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลเสียต่อการส่งออกได้ ทั้งนี้เนื่องจากไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมอาหารมีการผลิตและการส่งออกน้อยเป็นปกติ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในตลาดหลักที่แม้ว่าจะฟื้นตัว แต่ยังมีความกังวลในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่เริ่มก่อตัวจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เช่น กรีซ และสเปน ที่เริ่มมีปัญหาด้านการขาดดุลงบประมาณและเงินบัญชีเดินสะพัด ทำให้ต้องขอความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสหภาพยุโรป

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.05 และร้อยละ 6.48 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้มีความต้องการไม้และเครื่องเรือน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นสำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า และโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ซึ่งจะทำให้อุปสงค์อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบ ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และความไม่สงบของสถานการณ์ทางการเมือง

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.45 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในจีนและอินเดีย ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วงปิดหน้ายางทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 แบ่งเป็นการผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.86 21.36 และ 36.86ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.75

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งในด้านการผลิตที่สำคัญคือสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ซึ่งมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยาง นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดโลกก็มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม (ไม่รวมกระดาษลูกฟูก) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และ 16.9 ตามลำดับ ส่วนภาวะการผลิตกระดาษลูกฟูก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สำหรับสาเหตุที่ดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตของเยื่อกระดาษและกระดาษเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคของผู้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าคงคลังลดลง ประกอบกับไตรมาสนี้อยู่ในช่วงการผลิตแบบเรียนหนังสือ สมุด สำหรับนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศที่จะเปิดภาคเรียนที่ 1 ในไตรมาสหน้า นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวของภาคการส่งออกทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการใช้กระดาษเพื่อห่อหุ้มปกป้องสินค้าในการขนส่ง ฉลากสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ หรือเอกสาร/คู่มือประกอบการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ รถยนต์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ในไตรมาสหน้าคาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสนี้ เนื่องจากปัจจัยบวกด้านกำลังซื้อจาก ในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งมีการผลิตสมุด หนังสือ ตำราแบบเรียน เพื่อเตรียมรองรับการเปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษาทั้งประเทศ แต่ยังคงมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมืองภายใน ประเทศ และภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่นัก

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2553 มีปริมาณ 7,351 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.2 และทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยปริมาณการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 จึงยังมีความต้องการ และไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจมากนัก ทำให้ปริมาณการผลิตยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการที่ปริมาณการผลิตยังขยายตัวไม่มากนัก เป็นผลจากผู้ผลิตมีการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากในปีที่แล้ว ส่งผลให้มีสินค้าคงคลังเหลืออยู่ จึงต้องการระบายสินค้าคงคลังออกไปก่อน การผลิตจึงขยายตัวเพียงเล็กน้อย

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 คาดว่า การผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ตามวัฏจักรของธุรกิจที่จะขยายตัวดีในไตรมาสที่ 2 และที่ 3 ของปี ประกอบกับยาเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงยังมีความต้องการ และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น การผลิตเริ่มฟื้นตัวแม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม สิ่งทอไทยมี

แนวโน้มการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น และ อาเซียน เป็นผลมาจากการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ภาษีนำเข้าร้อยละ 0 ซึ่งทำให้การค้าขยายตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ และลดการพึ่งพาการส่งออกยังตลาดสหรัฐอเมริกาแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวไม่มากนักเนื่องจากทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม และผ้าผืนในประเทศได้รับผลกระทบมากจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดในขณะนี้ ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่จะชะลอการลงทุนในไทยและหันไปขยายฐานลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2553 คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยตลาดที่มีโอกาสขยายตัวมาก ได้แก่ อาเซียน และญี่ปุ่น

ปูนซีเมนต์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยตลาดปูนซีเมนต์จะเริ่มขยายตัวจากกลุ่มที่อยู่อาศัย และการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในไตรมาสที่ 2/2553 อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การลงทุนของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาลด้วย

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 38.69 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.19 และ 23.89 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.74 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.76 และ 30.41 ตามลำดับ (ดังตาราง ที่ 1 และ 2) ซึ่งการผลิตเซรามิกที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามการเติบโตของตลาดในช่วงฤดูกาลขาย และการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น

สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในประเทศไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย และส่งผลต่อเนื่องไปยังโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างด้วย

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ด้านการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.83 และการจำหน่ายหดตัวลดลงร้อยละ 3.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนด้านการส่งออกมีการหดตัว คือ ลดลงร้อยละ 16.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อมูลค่าการส่งออกในทางลบ หดตัวลดลงร้อยละ 52.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี พบว่าการส่งออกเพชร พลอย เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 65.50 12.23 56.36 และ 5.95 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยก่อนหน้านี้ เพชร ได้มีการขยายตัวเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา และเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ได้มีการขยายตัวสองไตรมาสติดต่อกัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นสัญญาณการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมนี้

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ปัจจัยด้านลบ คือ แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ปัจจัยด้านบวก คือ ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกลับสู่ระดับ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ จะเป็นสาเหตุให้เกิดการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมากและนำเข้าทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลง และความสำเร็จจากการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 45 ที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ถึง วันที่ 2 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาซึ่งมีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ