สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 15:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก(1)

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปี 2553 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศเริ่มขยายตัว ถึงแม้จะมีบางประเทศยังอยู่ในภาวะหดตัว แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการส่งออก และการบริโภคที่ขยายตัว ปัญหาการว่างงานของหลาย ๆ ประเทศเริ่มดีขึ้นยกเว้นบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรป

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ 75.84 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ 43.47 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลงโดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 2.86 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 77.11 USD/Barrel เนื่องจากปัญหาหนี้สินของกรีซส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อาจทำให้ความต้องการพลังงานของโลกลดลง รวมทั้งสต๊อกน้ำมันดิบที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา(2)

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 3.3 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 1.5 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 7.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 25.2 โดยเฉพาะการลงทุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ซอฟแวร์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 51.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 29.9 อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 73.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 70.4 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 101.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.1

การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 13.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 14.8 การส่งออกเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าเครื่องจักรและอิเลคทรอนิกส์ การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 18.8 สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.04 อัตราการว่างงานไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 9.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.2

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1 ปี 2553 ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น แต่ยังได้รับแรงกดดันจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ

เศรษฐกิจจีน(3)

เศรษฐกิจประเทศจีนในไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 11.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 18.0 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 14.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 105.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100.9 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 26.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552ที่ขยายตัวร้อยละ 27.2 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 57.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 51.2

การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 30.28 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 20.12 การนำเข้า ไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 65.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 30.6

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในไตรมาส 1 ปี 2553 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.6 อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.3

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 5.31

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น(4)

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2552 GDP หดตัวร้อยละ 1.4 หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 4.3 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 1.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 40.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 28.7 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 2.0 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 4 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 24.5 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อ เทียบกับไตรมาส 4ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะถดถอย ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 94.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 74.1 เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 42.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 45.8 เป็นผลมาจากการส่งออกไปประเทศจีน สหรัฐฯ และกลุ่มยุโรป เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัว การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 20.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 35.9 เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 2553 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.1 เป็นผลมาจากราคาสินค้าบริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาวะเงินฝืดอาจจะนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.6

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 2553 คาดว่ายังคงอยู่ในภาวะถดถอยและยังคงมีปัญหาด้านเงินฝืดและอัตราการว่างงาน แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการส่งออก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป(5)

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 4 ปี 2552 GDP หดตัวร้อยละ 2.2 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 1.9 ในส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 6.5 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 6.2 เนื่องจากการส่งออกที่หดตัวการบริโภคไตรมาส 4 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.04 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 89.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.8 และใน 2 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 91.7 ซึ่งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในหมวดของสินค้าพลังงาน สินค้าบริโภคคงทน และสินค้าขั้นกลาง

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 6.7 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 1.9 สำหรับการส่งออกใน 2 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 9.9 การส่งออกที่ขยายตัวใน 2 เดือนแรกของปี 2553 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 16.1 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 สำหรับมูลค่าการนำเข้าใน 2 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.1

ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดคมนาคมขนส่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 9.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.4 ประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด ได้แก่ Latvia และ Spain

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553) เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาส 1 ปี 2553 คาดว่ายังคงอยู่ในภาวะถดถอย แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยการส่งออกเริ่มขยายตัว อีกทั้งความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากปัญหาวิกฤตนี้สาธารณะของกรีซ รวมถึงอัตราการว่างงานที่สูงมากของบางประเทศ

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง(6)

เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 GDP กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องนาน 4 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยตัวแปรความต้องการภายในประเทศที่สำคัญทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนต่างปรับตัวดีขึ้น คือขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และ 14.7

ในขณะที่ภาคการส่งออกในไตรมาส 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 84,154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนที่มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดปรับขยายตัวถึงร้อยละ 41.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 4.2 และ 12.7 ตามลำดับ สินค้าส่งออกสำคัญของฮ่องกงได้แก่ Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการส่งออก 37,611 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ Machinery (Reactors, Boilers) มีมูลค่าการส่งออก 11,663 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 39.6 สำหรับตัวเลขการส่งออกของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ที่ประกาศออกมามีการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่มีการส่งออกปรับขยายตัว

ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 94,819 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญอย่างจีนมีมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 24.4 สำหรับสินค้านำเข้าที่สำคัญอย่าง Electrical Machinery มีมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 46.4 สำหรับตัวเลขการนำเข้าของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 22.4 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

ด้านการเงินการธนาคาร ดัชนีราคาผู้บริโภค ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 111.7 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมีนาคม ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 2.0 อัตราการขยายตัวชะลอลงจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการให้การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพื้นฐานของครัวเรือนจากรัฐบาลฮ่องกง

เกาหลีใต้(7)

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการภายในประเทศส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ความต้องการจากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ทำให้ภาคการส่งออกของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นตามด้วย ในส่วนของภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 129.1 ขยายตัว ร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 4 ปี 2552 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.3 อย่างไรก็ตามตัวเลขการว่างงานในเดือนมีนาคม ปี 2553 เริ่มปรับตัวลดลง คืออยู่ที่ระดับร้อยละ 4.1 ลดลงจากร้อยละ 4.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีขึ้นในตลาดแรงงาน

ด้านการส่งออก ในไตรมาส 1 ปี 2553 เกาหลีใต้มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น101,357 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 36.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับหนึ่งอย่างจีนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 61.1 ในส่วนของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 26.9 สินค้าส่งออกที่สำคัญของเกาหลีใต้เป็นสินค้าประเภท Electrical Machinery มีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 37.5 รองลงมาคือสินค้าประเภท Vehicles (Not Railway) และ Machinery (Reactors, Boilers) ที่มีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 68.3 และ 42.4 ตามลำดับ

ด้านการนำเข้า ไตรมาส 1 ปี 2553 เกาหลีใต้มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 98,084 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 37.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าจากตลาดสำคัญอย่างจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 25.1, 39.9 และ 63 ตามลำดับ สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ สินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 32.1

ด้านการเงินการธนาคาร รัฐบาลและธนาคารกลางของเกาหลีใต้ ยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะมีสัญญาณการปรับฟื้นตัวที่ดีแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อที่จะเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ปัญหาทางด้านการเงินของประเทศในทวีปยุโรปบางประเทศ ราคาน้ำมันดิบและวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ โดยจากมติที่ประชุมของธนาคารกลางเกาหลีใต้ยังให้คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้ปรับฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพโดยในไตรมาส 1 ปี 2553 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 2.7 จึงยังไม่มีแรงกดดันมากพอให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้

สิงคโปร์(8)

เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 2553ของสิงคโปร์อยู่ที่ระดับ 105.8 ขยายตัวถึงร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีการส่งออกรวม 49,201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 37.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญ อย่างมาเลเซีย ฮ่องกง จีน และอินโดนีเซีย ต่างปรับขยายตัวสูงที่ร้อยละ 56.9, 48.1, 66.2 และ 41.6 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญเป็นสินค้าประเภท Electrical Machinery มีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 42.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า 2 เดือนแรกของปี 2553 มีการนำเข้ารวม 45,367 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 31.3 ซึ่งการนำเข้าจากตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างมาเลเซีย มีการนำเข้าขยายตัวสูงที่ร้อยละ 60 ส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ และจีน มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 42.2 ตามลำดับ

ด้านการเงินการธนาคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนการขนส่ง อาหาร การศึกษา และเครื่องเขียนที่ปรับตัวสูงขึ้น

อินโดนีเซีย(9)

เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น จากการใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.0 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 4.2 ขณะที่ความต้องการจากต่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกปรับขยายตัวเป็นบวกหลังจากหดตัวต่อเนื่องนาน 3 ไตรมาส ในส่วนของภาค การผลิต ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 131.3 ขยายตัวร้อยละ 5.7

ด้านการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 36,366 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 1.2 ตลาดสิงคโปร์ และตลาดจีน ขยายตัวถึงร้อยละ 30.3 และ 64.8 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของอินโดนีเซียเป็นสินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil มีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 28,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าจากตลาดคู่ค้าหลักอย่างจีน และ สิงคโปร์ มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 21.9 และ 13.8 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าหลักอย่าง Mineral Fuel, Oil ขยายตัวร้อยละ 33.9 ส่วนสินค้าประเภท Machinery (Reactors, Boilers) มีการนำเข้าหดตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการเงินการธนาคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 118.2ขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากราคาอาหารที่ปรับตัวลดลง ทำให้ในตอนนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 6.5

มาเลเซีย(10)

เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากปริมาณ ความต้องการทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยปริมาณความต้องการภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนได้กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2552 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.6 ในส่วนของภาคการผลิตมีสัญญาณที่ดีจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2552 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 โดยตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ที่ออกมายังคงปรับขยายตัวที่ ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิต

ด้านการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 46,759 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่ง อย่างสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 68.0 สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของมาเลเซียเป็นสินค้าประเภท Electrical Machinery มีมูลค่าการส่งออก 13,872 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.9 รองลงมาคือ สินค้าประเภท Machinery (Reactors, Boilers) มีมูลค่าการส่งออก 8,027 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.6

ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 37,219 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าจากตลาดคู่ค้าหลักอย่างจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 17.6, 7.5 และ 29.0 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าหลักอย่าง Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.3

ด้านการเงินการธนาคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 113.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 ธนาคารกลางมาเลเซียได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.25 จากเดิมร้อยละ 2.0 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว ธนาคารกลางจึงตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาสมดุลทางการเงิน

ฟิลิปปินส์(11)

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 5.1 ในส่วนของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 151.6 ซึ่งเป็นระดับที่คงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.3 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาสที่ 4 ปี 552 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 7.1

ด้านการส่งออก ในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 10,694 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 4.4 ตามลำดับ สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของมาเลเซียเป็นสินค้าประเภท Electrical Machinery มีการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 28.1 ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภท Special Classification Provisions, Nesoi มีการส่งออกหดตัวร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 11,331 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าจากตลาดคู่ค้าหลักอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯต่างมีการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ 5.1 และ 23.1 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ ได้แก่สินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil และ Electrical Machinery ที่มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.3 และ 9.3 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าประเภท Special Classiication Provisions, Nesoi มีการนำเข้าหดตัวร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการเงินการธนาคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 164.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อินเดีย(12)

เศรษฐกิจอินเดียไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเศรษฐกิจปรับตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการภายในประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.4 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 8.9 อย่างไรก็ตามการขยายตัวของ GDP มีขนาดชะลอตัวลงเล็กน้อยจากในไตรมาส 3 ปี 2552 เนื่องจากอินเดียประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตัวเลขดัชนีผลิตภาคอุตสาหกรรมของเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ ที่ประกาศออกมายังคงปรับขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.7 และ 15.1 ตามลำดับ

ด้านการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องนาน 4 ไตรมาส โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 อินเดียมีการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 69,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 อินเดียมีการนำเข้าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 66.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการเงินการธนาคาร ในไตรมาส 1 ปี 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคของอินเดียขยายตัว ร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมีนาคมขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.9 ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 17 เดือน ธนาคารกลางของอินเดียจึงมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมในไตรมาส 1 ปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.25 และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรจากเดิมร้อยละ 3.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.75 รวมทั้งปรับขึ้นเพดานเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์อินเดียจากร้อยละ 5.75 เป็นร้อยละ 6 นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้เตรียมปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

สรุปเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ

ประเทศ                                           ปี 2552                                  ปี 2553

ปี 2551

GDP (%yoy)                    ไตรมาส 1    ไตรมาส 2    ไตรมาส 3  ไตรมาส 4      ทั้งปี        ไตรมาส 1
สหรัฐอเมริกา           0.5       -3.3         -3.8        -2.6      0.1        -2.4          2.5
สหภาพยุโรป            0.5       -5.0         -4.9        -4.1     -2.2        -4.0          n.a.
ญี่ปุ่น                 -1.2       -8.4         -6.0        -4.9     -1.4        -5.2          n.a.
จีน                   9.3        6.2          7.9         9.1     10.7         8.5         11.9
ฮ่องกง                2.3       -7.5          3.7        -2.2      2.6        -2.7          n.a.
เกาหลีใต้              2.5       -4.3         -2.2         1.0      6.0         0.1          7.8
สิงค์โปร์               1.5       -9.4         -3.1         0.6      4.0        -2.0         13.1
อินโดนีเซีย             6.0        4.5          4.1         4.2      5.4         4.5          n.a.
มาเลเซีย              4.7       -6.2         -3.9        -1.2      4.5        -1.7          n.a.
ฟิลิปปินส์               3.9        0.6          0.8         0.4      1.8         0.9          n.a.
อินเดีย                7.5        5.8          6.2         7.9      6.0         6.5          n.a.

MPI (YoY%)         ปี 2551                             ปี 2552                             ปี 2553
                             ไตรมาส 1    ไตรมาส 2    ไตรมาส 3   ไตรมาส 4      ทั้งปี       ไตรมาส 1
สหรัฐอเมริกา          -2.2      -11.6        -12.9        -9.4      -4.6       -9.6          2.4
สหภาพยุโรป           -2.5      -18.2        -17.7       -14.8      -8.0      -14.7          n.a.
ญี่ปุ่น                 -3.3      -32.32       -27.0       -20.5      -5.1      -21.2         27.0
จีน                 -12.9      -12.6         -2.1        15.3      52.3       13.3         13.9
ฮ่องกง               -6.6      -10.1         -9.5        -8.6      -5.0       -8.3          n.a.
เกาหลีใต้              3.8      -15.7         -6.2         4.3      16.2       -0.4         25.6
สิงค์โปร์              -3.7      -23.8         -0.6         7.5       2.4       -3.6         32.9
อินโดนีเซีย             3.1        0.2          0.6         0.1       4.9        1.5          n.a.
มาเลเซีย              0.9      -14.6        -10.8        -7.0       2.4       -7.5          n.a.
ฟิลิปปินส์               4.4      -21.5        -17.4       -14.7         0      -13.4          n.a.
อินเดีย                4.4        0.5          3.8         9.0      13.4        6.7          n.a.
ที่มา : CEIC

หมายเหตุ

(1) ข้อมูลบางส่วนของบางประเทศล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2552

ที่มา www.eia.doe.gov www.thaioil.co.th

(2) ที่มา www.worldbank.org www.imf.org www.bea.gov www.ceicdata.com

(3) ที่มา www.stats.gov.cn, www.pbc.gov.cn, www.ceicdata.com

(4) ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 4 ปี 2552

www.cao.go.jp www.boj.or.jp www.stat.go.jp www.ceicdata.com

(5) ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 4 ปี 2552

ที่มา eurostat, www.ecb.int www.ceicdata.com

(6) ที่มา : www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

www.fpo.go.th, www.apecthai.org

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2552

(7) ที่มา : www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

www.apecthai.org

(8) ที่มา : www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

www.fpo.go.th

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2552

(9) ที่มา : www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

www.fpo.go.th, www.apecthai.org

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2552

(10)ที่มา : www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

www.bangkokbank.com, www.apecthai.org

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2552

(11)ที่มา : www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2552

(12)ที่มา : www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

www.bangkokbank.com, www.apecthai.org, www.exim.go.th

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2552

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ