สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 14:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Petrochemical Industry)

ไตรมาส 2 ปี 2553 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นไตรมาส ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนช่วงกลางไตรมาสต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสราคาปรับตัวลดลง ตามทิศทางของราคาน้ำมันและปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นไตรมาส โดยอุปทานเอทิลีนในภูมิภาคค่อนข้างตึงตัวเนื่องจากแครกเกอร์หลายแห่งอยู่ระหว่างการบำรุงรักษาแครกเกอร์(turnaround) ในช่วงกลางต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสราคาเอทิลีนปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันและราคาแนฟธา ประกอบกับความต้องการจากตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีเข้ามาน้อยนอกจากนั้น ในระยะสั้นยังมีแนวโน้มที่อุปทานเอทิลีนจากตะวันออกกลางจะไหลเข้าสู่ตลาดเอเซียเพิ่มขึ้น

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ราคามีการปรับตัวลดลงตลอดไตรมาสเนื่องจากความต้องการจากผู้ใช้ปลายทางมีน้อย ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุด Golden Week ของญี่ปุ่น และวันแรงงานของจีน รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าจากเอเซียลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกจากจีน

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2553 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแผนเปิดดำเนินการโรงงานผลิต octane-base linear low density polyethylene (LLDPE) ขนาด 350,000 ตัน/ปี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ภายหลังจากศาลปกครองกลางอนุญาติให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานต่อได้ และมีแผนเปิดดำเนินการ โรงงาน hydrogen peroxide to propylene oxide (HPPO) ขนาด 390,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชยืในช่วงต้นไตรมาสแรกของปี2555 สำหรับแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน คือ โรงงานผลิต VCM และ PVC เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต VCM และ PVC จาก 90,000 และ 50,000 ตัน/ปี เป็น 450,000 และ 530,000 ตัน/ปี ตามลำดับ ภายในปี 2553

สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย หลายประเทศมีการขยายกำลังการผลิต ดังนี้

  • ประเทศจีน อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี โดยตั้งเป้าที่จะสร้างโรงกลั่นขนาด 15 ล้านตัน/ปี แครกเกอร์ขนาด 1.2 ล้านตัน/ปี และโรงงานผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายนอกจากนี้ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์คอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีขนาด 3 ล้านตัน/ปี แล้ว
  • ประเทศสิงคโปร์ จะเริ่มเปิดดำเนินการคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยแครกเกอร์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี โรงงานผลิตโพลีเอทิลีนขนาด 650,000 ตัน/ปี จำนวน 2 โรง หน่วยผลิต specialty elastomers ขนาด 300,000 ตัน/ปี หน่วยผลิตเบนซีนขนาด 340,000 ตัน/ปี และส่วนขยายของโรงงานผลิต oxoalcohol ขนาด 125,000 ตัน/ปี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553
  • ประเทศอินโดนีเซีย มีแผนเปิดดำเนินการหน่วยผลิตแห่งใหม่ ที่สามารถผลิตโพรพิลีนได้ประมาณ 178,000 ตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2553
  • ประเทศอินเดีย มีแผนขยายกำลังการผลิต PVC จากขนาด 100,000 ตัน/ปี เป็น 140,000 ตัน/ปี เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้ PVC ในประเทศ ในช่วงกลางปี 2555- ประเทศญี่ปุ่น มีแผนสร้างโรงงานผลิต flexible PP ขนาด 40,000 ตัน/ปี โดยจะเริ่มงานก่อสร้างช่วงไตรมาสที่4 ปี 2553 คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางไตรมาสที่ 4 ปี 2554 แผนปิดหน่วยผลิตโพลีโพรพิลีน 2 แห่ง เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง มีแผนปรับเปลี่ยนโรงงานผลิต acetone ไปเป็นโรงงานผลิตโพรพิลีน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2553
  • ประเทศอิหร่าน มีแผนเปิดดำเนินการโรงงานผลิต LDPE ขนาด 300,000 ตัน/ปี ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2553 มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์คอมเพล็กซ์ chlor-alkali ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตPVC VCM และ EDC กำลังการผลิตโรงละ 340,000 ตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2553 และกลับมาเดินเครื่องแครกเกอร์ขนาด 1.1 ล้านตัน/ปี และหน่วยผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายที่ประกอบด้วย โรงงานผลิต PEและ PP ขนาดโรงงานละ 300,000 ตัน/ปี และโรงงานผลิต monoethylene glycol (MEG) ขนาด 400,000 ตัน/ปี อย่างเต็มกำลัง ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2553
  • ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีแผนเปิดดำเนินการก๊าซแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 1.5 ล้านตัน/ปีในช่วงปลายไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการส่วน facilities ต่างๆ สำหรับปิโตรเคมีขั้นปลายในช่วงต้นไตรมาสแรกของปี 2554 มีแผนดำเนินการหน่วยผลิต ethylene glycol (EG) แห่งใหม่ขนาด 650,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องต้นไตรมาส 4 ปี 2553 นอกจากนี้ โครงการร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์คอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีส่วนขยาย ซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตในคอมเพล็กซ์นี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.46 ล้านตัน/ปี กำลังการผลิต ethylene glycol เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ตัน/ปี และกำลังการผลิต propylene เพิ่มขึ้นเป็น 1.55 ล้านตัน/ปี ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ปี 2553 ที่ผ่านมา
  • ประเทศไนจีเรีย ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับประเทศจีน เพื่อสร้างโรงกลั่น 3 แห่งและคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี 1 แห่ง ในประเทศไนจีเรีย โครงการนี้จะช่วยให้ประเทศไนจีเรียมีกำลังการผลิต refined petroleum เพิ่มขึ้นประมาณ 750,000 บาร์เรล/วัน
  • ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต วางแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์อีเทนแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 1.5 ล้านตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2553 สำหรับโครงการร่วมทุนกับประเทศออสเตรีย มีแผนเปิดดำเนินการ แครกเกอร์ปิโตรเคมีขั้นปลายต่างๆ ซึ่งรวมโรงงานผลิต PE ขนาด 540,000 ตัน/ปี และโรงงานผลิต PPขนาด 800,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงกลางไตรมาส 3 ปี 2553
  • ประเทศกาตาร์ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตอีเทนแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 1.3 ล้านตัน/ปี เป็น 1.6 ล้านตัน/ปี มีแผนเปิดดำเนินการ โรงงานผลิต LDPE แห่งใหม่ขนาด 300,000 ตัน/ปี ในปี 2554 สำหรับโครงการร่วมทุนกับประเทศฝรั่งเศส มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงงานผลิต LLDPE แห่งใหม่ขนาด 450,000 ตัน/ปี ในประเทศกาตาร์ ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ปี2553

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2553 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก(ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนมิถุนายน 2553 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 42.91, 36.86และ 44.48 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2553 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 3,892.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 144.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 8,102.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 26,062.56 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

                     มูลค่านำเข้า (ล้านบาท)                           เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
ปิโตรเคมี        Q2/2552     Q1/2553     Q2/2553      เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา     เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ขั้นต้น          1,593.93    3,865.61    3,892.14            0.69                     144.19
ขั้นกลาง        5,007.07    7,022.35    8,102.76           15.39                      61.83
ขั้นปลาย       13,947.04   25,057.86   26,062.56            4.01                      86.87

ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

เมื่อพิจารณาการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 พบว่า ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปิโตรเคมี              มูลค่านำเข้า (ล้านบาท)              เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)

มกราคม-มิถุนายน 2552 มกราคม-มิถุนายน2553

ขั้นต้น         3,206.76                7,757.75              141.92
ขั้นกลาง       8,694.82               15,125.11               73.96
ขั้นปลาย      25,316.67               51,120.43              101.92

ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 8,640.18 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.65 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 11,971.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 46,696.20 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปิโตรเคมี            มูลค่าส่งออก (ล้านบาท)                          เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
          Q2/2552        Q1/2553      Q2/2552     เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา    เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ขั้นต้น      7,868.76      8,785.38     8,640.18           -1.65                     9.80
ขั้นกลาง   11,036.22     10,798.15    11,971.25           10.86                     8.47
ขั้นปลาย   35,131.45     38,879.59    46,696.20           20.10                    32.92

ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

เมื่อพิจารณาการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 พบว่า ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลายมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปิโตรเคมี              มูลค่าส่งออก (ล้านบาท)                   เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)

มกราคม-มิถุนายน 2552 มกราคม-มิถุนายน2553

ขั้นต้น          11,904.35           17,425.56                     46.38
ขั้นกลาง        20,442.20           22,769.40                     11.38
ขั้นปลาย        64,857.30           85,575.79                     31.94
ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ในตะวันออกกลาง และจีน ได้ทยอยเปิดดำเนินการจำนวนมาก ทำให้มีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากออกสู่ตลาด ส่วนหนึ่งได้ทะลักเข้าสู่ตลาดเอเซีย ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศจึงควรวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด รวมถึงการสร้างตลาดในประเทศยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อรองรับผลผลิตส่วนเกินที่อาจเกิดขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ