สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 14:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลงร้อยละ 0.2 ,13.2 และ 3.1 ตามลำดับ เป็นผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองในช่วงดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการลดปริมาณการผลิตลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และ 1.3 ตามลำดับ ยกเว้นการผลิตผ้าฯ ที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง แต่อย่างไรก็ตามการลดลงของการผลิตเป็นเพียงผลกระทบในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนจากแนวโน้มตลาดมีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก และแนวโน้มแฟชั่นที่มีการออกแบบที่มีลักษณะโดดเด่นจึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 1,820.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 1,762.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯและเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 1,553.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 661.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 639.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 620.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 41.1 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ ไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออก 338.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 321.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 278.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 240.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 190.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 189.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 124.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้

สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็น หนึ่งในตลาดหลักสำหรับการส่งออกสิ่งทอของไทย ซึ่งการส่งออกสิ่งทอไทยไปสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่า 371.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 20.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ตามลำดับ

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 333.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

อาเซียน ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 319.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.6 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และเคหะสิ่งทอ เป็นต้น

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 115.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.7เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูปด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีการนำเข้าลดลง ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่

4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,351.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ54.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 94.8 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามี ดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 228.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ11.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 205.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 31.1, 16.6 และ 9.3 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 169.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 150.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 26.3, 16.8 และ 12.1 ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 404.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 344.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 46.1,16.7และ 7.2 ตามลำดับ4.1.4 วัตถุทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 40.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 51.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ จีน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 24.7, 19.2และ 13.3 ตามลำดับ

4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 74.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.7เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 79.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.2 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 49.5, 12.6 และ 5.5 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 แม้ว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะหดตัวลง แต่การจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน เพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำฃจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวแม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศจะยังคงประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่าการผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน และเส้นใยฯ เนื่องจากช่วงปลายไตรมาสที่ 2มมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากและโรงงานรับคำสั่งซื้อไว้เต็มแทบทุกโรงงาน สำหรับตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป(อียู) คาดว่ามียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังจากชะลอในไตรมาสที่ 1 ขณะที่จีนและอาเซียนมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจีนจะเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในอนาคตและลดบทบาทลงในฐานะผู้ส่งออกเพื่อจำหน่ายสินค้าในประเทศมากขึ้น เนื่องจากจีนมีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว ส่วนอาเซียนเป็นตลาดที่ไทยควรจะนำสินค้าที่เน้นการออกแบบและแบรนด์ของไทยไปจำหน่าย ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แนวโน้มแฟชั่นมีการออกแบบที่มีลักษณะโดดเด่นและทันสมัยจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ราคาฝ้ายดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าผลผลิต และภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการเจรจารับคำสั่งซื้อ ทั้งโรงงานปั่นฝ้าย ทอผ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพราะแต่ละฝ่ายเริ่มมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศได้ต่อรองราคามากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวนในทิศทางที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ