สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีปริมาณ 7,761.4 ตันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 22.7 และ 4.1 ตามลำดับ สำหรับในครึ่งปีแรกของปี 2553 มีปริมาณการผลิต 15,218 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12

ปริมาณการผลิตยาในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 จึงยังมีความต้องการ และไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและเหตุการณ์ทางการเมืองมากนัก ทำให้ปริมาณการผลิตยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเติบโตสูงมาก คือ ยาน้ำ เพราะเป็นยาที่ผลิตและจำหน่ายได้ง่าย รวมทั้งราคาไม่แพง นอกจากนี้ ยาครีม มีอัตราการเติบโตสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้ผลิตได้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีปริมาณ 7,579.8 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 26.2 และ 2.8 ตามลำดับ สำหรับในครึ่งปีแรกของปี 2553 มีปริมาณการจำหน่าย 14,950.3 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.9

การจำหน่ายในประเทศมีการขยายตัว จากการที่คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล และคลินิก แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี โดยจะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ในร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมถึงการหาลูกค้าร้านขายยาใหม่ ๆ ด้วย

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่า 9,430.2 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.8 และ 4.1 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,070.2 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.2 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในครึ่งปีแรกของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 18,491.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.9 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในครึ่งปีแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 7,941.6ล้านบาท หรือ ร้อยละ 42.9 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

มูลค่าการนำเข้ายายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทยานำเข้าได้ทำการส่งเสริมกลยุทธ์การจำหน่ายยารูปแบบต่าง ๆ ทั้งกลยุทธ์การจำหน่ายยาให้กับประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวดังกล่าวไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศ และควบคุมการเบิกจ่ายยามากขึ้นเพื่อลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่า 1,496.2 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 8.1 และ 2.4 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 985 ล้านบาท หรือร้อยละ 65.8 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดสำหรับในครึ่งปีแรกของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 2,956.9 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.7 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในครึ่งปีแรกนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซียและฮ่องกง ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 1,965.7 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 66.5 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ การส่งออกยามีการขยายตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและสามารถขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง

5. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามยอดคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีการปรับปรุงสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น และจากการที่ยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 จึงเป็นสินค้าที่มีความต้องการอยู่เสมอ และไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและเหตุการณ์ทางการเมืองมากนัก ทำให้ปริมาณการผลิตยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับปริมาณการจำหน่ายในประเทศมีการขยายตัวเช่นกัน จากการที่คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น โดยช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล และคลินิก แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี

ในส่วนมูลค่าการนำเข้ายา ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทยานำเข้ายังคงทำการส่งเสริมการจำหน่ายยารูปแบบต่าง ๆ ทั้งกับประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวดังกล่าวไม่สูงมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศ และควบคุมการเบิกจ่ายยามากขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและสามารถขยายตลาดส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาทั้งในประเทศและส่งออก จะมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตยาในประเทศกลุ่มผลิตยาสามัญ ซึ่งเป็นประเภทของยาที่ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น จากการที่มีราคาถูก ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลง โดยหันมาใช้ยาสามัญมากขึ้น อาจส่งผลต่อการขยายตัวของปริมาณการผลิตและการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงมาก เนื่องจากโรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาครัฐมีความเข้มงวดในการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ