เวที FIC PLUS 2011 คึกคัก 34 ทีมโชว์ศักยภาพการตลาดต่อยอด ฝ่าเข้ารอบ 15 ทีม หวังชิงสุดยอดดีไซเนอร์ปลายเดือนส.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Tuesday June 14, 2011 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเวที FIC PLUS 2011 โครงการประกวดออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น สู่เชิงพาณิชย์ ฟิคพลัส 2011 (Fashion Image Campus Plus 2011) ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) การคัดเลือกรอบแรกผ่านไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางทีมผู้สมัครทั้งหมด 34 ทีม ซึ่งแต่ละทีมพกความมั่นใจกันมาแบบเต็มร้อย พร้อมผลงานการออกแบบที่ใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ และการตลาดควบคู่ ตลอดจนวิธีการนำเสนอที่เรียกความสนใจจากคณะกรรมการทั้ง 5 ท่านได้อย่างมีสีสัน สนุกสนาน แต่มีเพียง 15 ทีมที่มีคะแนนสูงสุดเท่านั้น !!! ที่สามารถฝ่าเข้ารอบการคัดเลือกครั้งนี้มาได้ พร้อมเตรียมเข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติอย่างเข้มข้น ก่อนสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถ “ผลิตจริง ขายจริง” สำหรับประกวดในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมศกนี้ต่อไป สำหรับการคัดเลือกรอบแรกนี้ มีคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิร่วมพิจารณาตัดสินทั้งหมด 5 ท่านได้แก่ นายวิวัฒน์ หิรัฐพฤกษ์ ผู้จัดการศูนย์สร้างสรรค์องค์ความรู้แฟชั่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ , นายชัชพิสิฐ เชี่ยวสรรพกิจ รองผู้อำนวยการสำนักประสานและบริหารโครงการ สำนักงานส่งเสริมวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.), นายคมสรรค์ วิจิตรวิกรม อุปนายกสมาคมชาวโบ้เบ้ ,คุณกิตติยา ภูมิพลับ จากศูนย์ค้าส่ง เดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ และคุณอรชุมา ดุรงค์เดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอช ทู โอ ไฮโดร จำกัด นำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม Iceland Spring นายวิวัฒน์ หิรัฐพฤกษ์ ผู้จัดการศูนย์สร้างสรรค์องค์ความรู้แฟชั่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า การคัดเลือกรอบแรกนี้ผู้สมัครได้เตรียมความพร้อมกันมาเป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละทีมค่อนข้างมีความมั่นใจในการนำเสนอผลงานและสามารถทำได้ตรงกับโจทย์ที่กำหนด รวมทั้งสามารถตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการได้เป็นอย่างดี โดยหลักเกณฑ์การตัดสินรอบแรก ประกอบด้วย ความพร้อมของทีม ผลงานการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ตลาด และการนำเสนอผลงาน นายคมสรรค์ วิจิตรวิกรม อุปนายกสมาคมชาวโบ้เบ้ 1 ใน 5 กรรมการการตัดสิน กล่าวว่า ดีไซเนอร์ไทยเก่งด้านการออกแบบ แต่สำหรับการตลาดยังต้องพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาหลายแห่งยังมุ่งเน้นเรื่องการออกแบบอย่างเดียว โดยไม่ได้สอนเรื่องของการตลาดควบคู่กันไป ซึ่งการประกวดครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ เพราะทุกวันนี้เราต้องพัฒนานักออกแบบให้เป็นเถ้าแก่ด้วย แต่จากผู้สมัครที่เข้ามาคัดเลือกครั้งนี้มีหลายทีมที่พอเห็นแววเถ้าแก่อยู่บ้าง ซึ่งต่อจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะปั้นเขาเหล่านี้ให้เป็นเถ้าแก่ต่อไปอนาคต” ด้านคุณกิตติยา ภูมิพลับ จากศูนย์ค้าส่ง เดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับตลาดค้าส่งอยู่แล้วให้ความเห็นว่า การประกวดครั้งนี้เป็นส่งเสริมดีไซเนอร์ให้สามารถออกแบบได้ตรงกับความต้องการของตลาดจริงๆ ซึ่งนับว่ามีประโยชน์มาก เพราะสมัยตนไม่มีเวทีให้ทดลองอย่างนี้ ต้องลงมือทำจริงด้วยการลองผิดลองถูกเท่านั้น ดังนั้นจึงฝากไปยังดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ทุกคนว่า อยากทำอะไรต้องทำจริงๆ และทำให้ถึงที่สุด สำหรับทีม Runways เป็น 1 ใน 15 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก มีสมาชิกทั้งหมด 4 คนล้วนเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระดับชั้นปีที่ 2 — 4 เป็นทีมที่สามารถชนะใจกรรมการได้ทั้งการจัดทำผลงานนำเสนอ วิธีคิด ตลอดจนการนำเสนอ โดยผลงานที่พวกเขานำเสนอครั้งนี้ มีชื่อผลงานว่า Belief with the lucky AMBER Fossil เป็นการออกแบบชุด Party Wear โดยนำเรื่องราวความรักและการให้อภัยของนางไม้ Daphne และเทพ Apollo มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สื่อถึงธรรมชาติ ด้วยการนำไม้ และเทคนิคการใช้ไม้ในงานเฟอร์นิเจอร์มาออกแบบชุดและโครงสร้างที่มีความสมัย และสามารถ Transform เพื่อประโยชน์การใช้สอยได้มากขึ้น ผสานกับเทรนด์ Sketchy ที่มีสีสันโรแมนติก เข้ากับเรื่องราวของ Daphne โดยให้ภาพรวมของผลงานมี Mood & Tone แบบ Modern Romantic และ Architecture ราวกับมีการเกิดใหม่ของนางไม้ Daphne ในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังดึงเอาเอกลักษณ์ความงามของอัญมณีเลอค่าอย่าง “อำพัน” มาสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนชุด Party Wear ให้โดดเด่นมากขึ้นด้วยเทคนิคการสกรีน ทับซ้อนผ้าเพื่อให้เกิดมิติในการมองอีกด้วย เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์นำจนคณะกรรมการต้องเทคะแนนให้อย่างท่วมท้น เช่นเดียวกับอีก 14 ทีมที่ผ่านเข้ามาได้แก่ Black Paradize, Modern Art, Ultra Ultimate Source 4, Paparazzi, Silhouette, Syncronize, Empty Class, The Question, BLUR, Knack, Akosis, Breeze, Panoramaและสุดท้ายทีม Incentive สำหรับกิจกรรมต่อไปของโครงการประกวดออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น สู่เชิงพาณิชย์ ฟิคพลัส 2011 (Fashion Image Campus Plus 2011) ซึ่งเป็นมากกว่าเวทีการประกวดเท่านั้น เพราะเป็นเวทีที่สามารถให้ผู้เข้าประกวดได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือ ความคิด ตลอดจนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หาได้ยาก คือ การเข้ารับการอบรมเชิงปฎิบัติการเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติในวันที่ 14 -16 มิถุนายนศกนี้ จากนั้นในวันที่ 20 กรกฎาคม ผู้เข้ารอบทั้ง 15 ทีมยังจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงจากนักออกแบบชั้นนำที่จะมาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้อย่างใกล้ชิด ระหว่างการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับประชันฝีมือกันบนเวทีการประกวดในรอบสุดท้ายที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคมศกนี้ เพื่อชิงความเป็นสุดยอดดีไซเนอร์คว้าโอกาสสำคัญของชีวิตในการประชันฝีมือในระดับต่างประเทศต่อไป พร้อมรางวัลเงินสดจำนวน 100,000 บาทต่อไป ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของ FIC PLUS 2011 ได้ทาง www.ficplus2011.com , www.facebook.com/textile.thailand และwww.thaitextile.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ