รายงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพ โดย กลุ่มงานวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน

ข่าวทั่วไป Thursday July 14, 2011 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--มหาวิทยาลัยคริสเตียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า เนื่องจากภาวะสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และมีคำกล่าวว่า “อโรคา ปรมาลาภา: ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการสร้างเสริมดูแลสุขภาพก็น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมอบหมายให้ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพโดยสำรวจจากประชากร ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐมจำนวน 3,374,401 คน กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจคือประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิงที่พบตามสถานที่ต่างๆ ในทุกอำเภอของจังหวัดดังกล่าว การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างชนิดไม่ทราบความน่าจะเป็น โดยการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ การกำหนดจำนวนกลุ่มตัวอย่าง คำนวณโดยใช้หลักการของยามาเนที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และขนาดความคลาดเคลื่อน + 3% โดยคำนวณได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ต้องใช้ในการสำรวจ 1,111 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามที่คณะผู้สำรวจสร้างขึ้น จำนวน 1,200 ฉบับ มีแบบสอบถามที่สมบูรณ์กลับคืนมาใช้ในการวิเคราะห์จำนวน 1,045 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 87.08 ผลการสำรวจ มีดังนี้ 1. กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิง ร้อยละ 60.8 (635 คน) เป็นชายร้อยละ 38.7 (405 คน) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 36.7 (383 คน) รองลงมาคือกลุ่มอายุ 18-30 ปี ร้อยละ 28.3 ร้อยละ 62.2 เป็นคนโสด ร้อยละ 96.5 นับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 31.8 รองลงมาคือเป็นลูกจ้าง/ พนักงานบริษัท ร้อยละ 28.0 ตามลำดับ 2. กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 19.33 มีกิจกรรมเคลื่อนไหวในแต่ละวัน เช่น เดินไปมา เดินขึ้นบันได ล้างรถ ทำไร่ ทำสวน รองลงมา ร้อยละ 14.96 รับประทานอาหารที่มีไขมันมาก เช่น หนังไก่ หนังเป็ด แคบหมู ไส้กรอก กุนเชียง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ10.33 ชอบรับประทานผักและผลไม้สดชนิดต่างๆ รวมกันประมาณครึ่งกิโลต่อวัน ซึ่งเท่า ๆ กับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ เซ่งจี้ หัวใจ กระเพาะหมู สมองหมู ถึงร้อยละ10.14 ปัญหาสุขภาพของบุคคลเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากตนเองเป็นผู้กระทำหรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ มากกว่าการเกิดจากสิ่งแวดล้อม สาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพของบุคคลเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมของบุคคล มากกว่าที่จะมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม การที่บุคคลมีพฤติกรรมสุขภาพเสี่ยง (Health risk behavior) จึงเป็นดัชนีชี้วัด สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มของปัญหาสุขภาพของสังคมว่ามีการ ป่วย การตาย ภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ และพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ รวมทั้งมีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ดังนั้น การที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของตนเองโดยเริ่มจากพฤติกรรมส่วนบุคคลก่อน ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพที่จะเป็นการลดปัญหาด้านสาธารณสุขลงได้ และนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายและภาระการเงินด้านสุขภาพของประเทศได้เป็นอย่างดี กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรเพิ่มการให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณ เพื่อไปสร้างเสริมภาวะสุขภาพ และให้ความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของประชาชน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของตนเอง และของประเทศอีกด้วย ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 034-229480*1173 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ