ฟรอสต์ฯ เผย การบินไทย ตั้ง “ไทยสไมล์” เป็นทางออกที่ดีที่สุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 20, 2011 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ในที่สุด ไทยสมายล์ก็มีแผนธุรกิจและแผนการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว โดยกำหนดเปิดให้บริการในเดือนก.ค.2555 ซึ่งระยะแรกจะให้บริการ 5 เส้นทางบินในประเทศ คือ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-อุดรธานี กรุงเทพฯ-ขอนแก่น กรุงเทพฯ-เชียงราย และกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี และในส่วนของตลาดภูมิภาคจะเริ่มให้บริการเส้นทางตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย ทั้งนี้ ไทยสมายล์จะใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ให้บริการ โดยในปี 2555 จะรับมอบเครื่องบิน 4 ลำแรก ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-เดือนก.ย. หลังจากนั้นจะรับมอบอีก 2 ลำ ในเดือนม.ค.และเดือนมี.ค. 2556 โดยแผนธุรกิจ กำหนดว่าจะใช้เครื่องบินให้บริการรวม 11 ลำ นาย บัณฑร เสาวรรณ นักวิเคราะห์จาก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลกให้ความเห็นว่า การนำเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 มาใช้ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ยอมรับได้เพราะไม่ได้เป็นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่เกินไป แต่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงเรื่องการบริหารจัดการที่นั่งบนเครื่องบินที่อาจจะไม่ถึงเป้า โดยการเลือกเครื่องบินชนิดนี้บ่งบอกความชัดเจนในการเปิดศึกโดยตรงกับสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะสังเกตได้ว่าสายการบินต้นทุนต่ำส่วนมากก็จะใช้เครื่องบินขนาดนี้ “หากถามว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการบินไทยหรือไม่ก็คงตอบได้ว่าใช่ หากยอมรับต่อความยากลำบากของการปรับเปลี่ยนองค์กรขนาดใหญ่เช่นการบินไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น แต้ถ้าถามว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดในระดับสากลใช่หรือไม่ ก็คงตอบได้ว่าไม่ใช่เพราะยังไม่มีความจำเป็นในการแทรกตัวเข้าไปอยู่ระหว่างสายการบินพรีเมี่ยมกับสายการบินต้นทุนต่ำ” นายบัณฑรกล่าว นอกจากนี้ นายบัณฑรยังให้ความเห็นเสริมว่า ความจริงแล้วสายการบินไทยสไมล์ ควรจะเป็นบริษัทลูกของการบินไทย แทนที่จะเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของการบินไทยเพราะ ไทยสไมล์ยังจะต้องใช้การบริการต่าง ๆ จากการบินไทย อาทิ การซ่อมบำรุง และครัวการบิน ซึ่งถ้าไทยสไมล์มีสถานะเป็นบริษัท การดำเนินงานทางการเงินก็จะทำได้ชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น และมีสภาพคล่องที่ดีกว่าการเป็นหน่วยธุรกิจ แต่ต้องยอมรับว่าก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ง่ายที่การบินไทยจะมีบริษัทลูกที่เป็นสายการบินใหม่ขึ้นมา “ตราบใดที่การบินไทยยังมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ที่เป็นภาครัฐการดำเนินการที่มีต้นทุนสูงก็จะมีปัญหาในเรื่องของการเมืองและสหภาพแรงงาน ทางออกที่ดีที่สุดคือการให้การบินไทยมีสถานภาพเหมือนบริษัทปตท. จำกัด มหาชน ที่ผู้บริหารมีอำนาจตัดสินใจโดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีความล่าช้าอย่างมาก และบางทีก็ไม่ได้รับการอนุมัติหลังจากที่มีประเด็นขึ้นมา แต่ว่าหากการบินไทยมีสถานภาพเช่นนี้ สหภาพแรงงานของการบินไทยก็จะไม่มีบทบาทอีกต่อไป ซึ่งเหตุผลนี้ก็เป็นประเด็นหลักทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อสายการบินแห่งชาติของเรา” นายบัณฑรกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ