แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลาย สนับสนุนให้ ธปท.อาจลดดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2012 21:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--Maybank Kim Eng Research อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. ออกมาต่ำกว่าคาดมาก กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. ชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะจาก 4.19% yoy ในเดือน พ.ย. สู่ระดับ 3.53% yoy ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เทียบกับคาดการณ์ของตลาดที่ 4.00% yoy ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ได้แก่ ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (สัดส่วน 33% ของ CPI) ที่ลดลง 1.20% mom เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมได้เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นและส่งผลให้ราคาอาหารสดลดลง โดยเฉพาะผักสด -19.36% mom, ผลไม้ -2.43% mom, ไข่ -12.79% mom และเป็ดไก่สด -0.38% mom ขณะที่หมวดขนส่งและสื่อสาร (สัดส่วน 26.8%) ปรับตัวลงเล็กน้อย -0.07% mom จากผลของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ลดลงเฉลี่ย 0.69% mom โดยภาพรวม อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2554 เฉลี่ยที่ระดับ 3.81% yoy เป็นผลจากการเร่งตัวของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยราคาสินค้าหมวดอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.96% yoy ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มขยับขึ้น 1.32% yoy สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้าอาหารและพลังงาน) ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน ลดลงจาก 2.90% yoy ในเดือน พ.ย. สู่ระดับ 2.66% yoy ในเดือน ธ.ค. และเฉลี่ยทั้งปี 2554 ที่ระดับ 2.36% yoy อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของ ธปท.ที่ 0.5-3.0% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ธ.ค. กลับเร่งตัวขึ้นจาก 3.5% yoy เป็น 4.5% yoy นำโดยราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงถึง 7.3% yoy และ 4.9% ตามลำดับ ดังนั้น แรงกดดันด้านต้นทุนผู้ประกอบการเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่องใน 1Q55 หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับมุมมองต่อทิศทางเงินเฟ้อใน 1Q54 ฝ่ายวิจัยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายลงชั่วคราว หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะอาหารสดมีแนวโน้มลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง จะยังเป็นปัจจัยกดดัน Upside ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วยเช่นกัน โดยในเบื้องต้น ฝ่ายวิจัยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ม.ค. ที่ระดับ 3.40% yoy และ 2.50% yoy ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยประเมินว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะกลาง-ยาวของไทยจะยังอยู่ในระดับสูง จากผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.2555 นี้ รวมถึงการปล่อยลอยตัวราคาพลังงาน การสิ้นสุดโครงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของเบนซิน โซฮอล์และดีเซล และโครงการประชานิยมจากภาครัฐในอนาคต เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับรากหญ้า นอกจากนี้ ราคาอาหารที่ทรงตัวระดับสูงจากภาวะผลผลิตสินค้าเกษตรตึงตัวเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินเฟ้อของไทยทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง คาด ธปท.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุม กนง.ครั้งแรกของปี ผลการประชุม ครม.ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติไม่เห็นชอบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของ ธปท. ที่เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่าง 0.5-3.0% เป็น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ 3.0% + 1.5% หรือภายใต้กรอบ 1.5-4.5% อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวไม่มีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.อย่างมีนัยสำคัญ จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะภาคส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP ไทย ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่า ธปท.จะเน้นใช้นโยบายการเงินในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมคลี่คลาย และมีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps สู่ระดับ 3.0% ในการประชุม กนง. ครั้งแรกของปี คือ วันที่ 25 ม.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นภาคเอกชนและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ โดยอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันถือว่ามีความยืดหยุ่นสูงในการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ