Bualuang House View 2554: ปีกระต่ายจมน้ำผ่านไป แล้วจะเป็นอย่างไร ในปีมังกร 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 13, 2012 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--บลจ.บัวหลวง ปี 2554 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากมาย เริ่มจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ญี่ปุ่นในช่วงปลายไตรมาสแรกที่ส่งผลให้เกิดการชะงักงันในสายการผลิต (Supply Disruption) ของบางอุตสาหกรรม จนทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 ก่อนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 หลังอุตสาหกรรมการผลิตในญี่ปุ่นเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง และหลังจากปัญหาการเมืองภายในได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่เสร็จสิ้น ต่อมาโลกก็เผชิญกับความเสี่ยงใหญ่อีกครั้ง เมื่อประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด อย่างสหรัฐอเมริกา ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจาก AAA เหลือ AA+ ซึ่งเป็นการถูกปรับลดอันดับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี และโลกยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรที่เริ่มส่งผลต่อความเชื่อมั่นและปัญหายังขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้หลายประเทศในกลุ่มยูโรและสถาบันการเงินชั้นนำ ต่างถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม การที่ไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มยูโรและสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่น้อยลงจาก 28% ในปี 2548 เหลือ 19% ใน 11 เดือนแรกของปี 2554 ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ในแนวโน้มเดิม แต่ในช่วงต้นของไตรมาสที่ 4 ประเทศไทยก็ได้เผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนมากกว่า 12 ล้านคน ทำให้นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ 7 แห่งถูกน้ำท่วมอย่างหนัก จนต้องหยุดชะงักการผลิตโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตปลายน้ำและอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศอื่นทั่วโลก ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และทำให้โลกวิพากย์วิจารณ์ถึงความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมข้ามชาติจะมาใช้ไทยเป็นเพียงแหล่งหลักในการผลิตสินค้าป้อนเพียงแหล่งเดียว อย่างไรก็ตาม แรงสะท้อนในด้านดีก็เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้สายตาของผู้จัดการกองทุนต่างประเทศที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อไทยในด้านเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยในพอร์ตการลงทุนของเขา ต่างจับตามองมาที่ไทยจนเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของไทยต่ออุตสาหกรรมของโลก และเริ่มสนใจที่จะเข้าถึงข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมากขึ้น แต่ผลกระทบอันรุนแรงของมหาอุทกภัย ก็ทำให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจที่เดิมคาดว่า จะเติบโตระหว่างร้อยละ 3.5 — 4.0 ในปี 2554 ถูกปรับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.5 — 2.0 เท่านั้น ปี 2555 เศรษฐกิจโลกจะยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงด้วยแนวโน้มการเติบโตร้อยละ 3.0 — 4.0 ลดลงจากร้อยละ 4.0 - 5.0 ในปีก่อน เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และแม้ตัวเลขการว่างงานจะดูดีขึ้นบ้าง แต่หากเป็นไปในอัตราที่เชื่องช้าอย่างนี้ ก็อาจต้องใช้เวลาอีก 9-10 ปี อัตราการว่างงานถึงจะลดลงมาอยู่ในระดับเศรษฐกิจปกติ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่ยุโรปจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในระยะยาว เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดได้ และสิ่งที่ทำไปก็เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น ประเด็นดังกล่าว จึงจะยังคงกระทบต่อภาวะโดยรวมของตลาดต่อไปอีกนาน ทั้งนี้ กลุ่ม PIIGS (Portugal, Ireland, Italy, Greece และ Spain) มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระรวมกันสูงถึง 1.78 แสนล้านยูโรในไตรมาสแรกของปี โดยทุกสายตาจะมองไปที่อิตาลี เนื่องจากอิตาลีมีภาระหนี้ครบกำหนดชำระสูงสุดถึง 1.13 แสนล้านยูโร ซึ่งเท่ากับร้อยละ 63% ของหนี้กลุ่ม PIIGS ในช่วงไตรมาสแรกทั้งหมด ในขณะที่กรีซมีภาระหนี้ครบกำหนดชำระ 15,890 ล้านยูโรในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีที่แล้วมาก ดังนั้น จึงคาดได้ว่าปัจจัยภายนอกประเทศไทยจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่สร้างความไม่แน่นอนและเป็นผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ไปตลอดปี อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัจจัยภายในประเทศที่จะช่วยหนุนการเติบโตและช่วยทดแทนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลลบจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 4% — 5% ด้วยองค์ประกอบดังนี้ ? การบริโภคภายในประเทศ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายภาครัฐในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เริ่มต้นใน 7 จังหวัด การจำนำสินค้าเกษตร การปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ชดเชยกับการส่งออกไปยังกลุ่มยูโรและประเทศสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง ? การลงทุนจากภาครัฐและเอกชน เนื่องจากมหาอุทกภัยทำให้โรงงานหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมโรงงานและเครื่องจักรเพื่อให้กลับมาผลิตได้อย่างเดิมในช่วงต้นปี ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมและช่วยเหลือฟื้นฟูภาคเอกชนไว้หลายมาตรการ และยังมีแรงสนับสนุนจากการเตรียมความพร้อมเพื่อรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งภาคเอกชนจะต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจ ฐานลูกค้าออกไป สู่ตลาดใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน หรืออย่างน้อยก็ต้องปรับปรุงตนเองเพื่อความอยู่รอดของกิจการที่จะมีคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งแรงกว่าเข้ามาต่อสู้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้แนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางที่จะเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการควบรวมและเข้าซื้อกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อทำให้แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐก็ต้องมีแผนลงทุนจำนวนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันอุทกภัยในอนาคตอย่างบูรณาการทั้งประเทศ จึงจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติให้กลับคืนมาได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งมา การลงทุนของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 5-7 ของ GDP เท่านั้น ซึ่งในปีนี้น่าจะขยับขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 10 — 15 ของ GDP ได้ ดังนั้น การลงทุนของภาครัฐในปีนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ? การส่งออกและนำเข้า เป็นส่วนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยที่กว่าอุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะมีกำลังการผลิตกลับมาในระดับเดิมได้ ก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูประมาณ 5-6 เดือน ดังนั้น การส่งออกในปี 2555 แม้จะยังคงมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็จะโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ไทยได้ปรับตัวไว้รับการชะลอตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมาระยะหนึ่ง ด้วยการพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียนและประเทศจีนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยจำนวนไม่น้อยเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร จึงจะได้รับผลกระทบที่จำกัด เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ปี 2555 จึงเป็นอีกปีที่นักลงทุนจะพบกับความผันผวนอย่างมากของตลาดจากความไม่แน่นอนของโลก โดยจะมีข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโร และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจจะรักษาระดับการขยายตัวไว้ไม่ได้ มารบกวนอารมณ์ของผู้ลงทุนอยู่เนืองๆ อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปีนี้ภาคเอกชนไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูบูรณะ ในขณะที่ภาครัฐกำลังจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่และแผนป้องกันอุทกภัยในอนาคต ซึ่งต้องเห็นผลชัดเจนก่อนเข้าฤดูฝนในปีนี้ และในครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตเต็มกำลังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ปีนี้เติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงหลังของปี และในเมื่อการลงทุนของภาครัฐจะเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของความสำเร็จ การเมืองจึงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง เพราะหากเกิดรุนแรงและชะงักงันขึ้นมา ก็จะกระทบต่อบรรยากาศของการลงทุนในปี 2555 ได้มาก Disclaimer : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ