ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศไทยตกฮวบ 5 จุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2554

ข่าวทั่วไป Wednesday February 8, 2012 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--นีลเส็น ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศไทยตกฮวบ 5 จุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2554คนไทยมากกว่า 7 ใน 10 คนเตรียมตัวรับมือเศรษฐกิจตกสะเก็ดหลังน้ำท่วม - ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคทั่วโลกขยับขึ้น 1 จุด ในไตรมาส 4: เอเชียและอเมริกาน่าพอใจ แต่ยุโรปน่าเป็นห่วงน้ำท่วมพัดดัชนีประเทศไทยตกฮวบห้าจุด - คนไทยมากกว่า 7 ใน 10 คน (73%) เชื่อว่าประเทศไทยกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ครึ่งหนึ่ง (50%) ยังมีความหวังว่าปัญหาจะผ่านพ้นไปได้ภายในหนึ่งปี จากผลการสำรวจของนีลเส็นเกี่ยวกับความมั่นใจของผู้บริโภคทั่วโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2554 พบว่า ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศไทยตกลง 5 จุด เหลือเพียง 104 จุดในช่วงไตรมาสที่ 4 (จาก 109 ในช่วงไตรมาสที่สามปี 2554) ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในขณะที่ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคทั้งโลกขยับขึ้น 1 จุด สู่ 89 จุด โดย12 ประเทศจาก 56 ประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกาและจีนมีการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ 36 ประเทศนั้นปรับตัวลง และ 9 ประเทศยังคงที่ ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีดัชนีโดยรวมต่ำที่สุดโดยมีการปรับตัวลงใน 24 ประเทศจากทั้งหมด 27 ประเทศ ในขณะที่เอเชียแปซิฟิคเป็นภูมิภาคที่มีความมั่นใจสูงสุด ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคทั่วโลกขยับขึ้น 1 จุด ในไตรมาส 4: เอเชียและอเมริกาน่าพอใจ แต่ยุโรปน่าเป็นห่วง น้ำท่วมพัดดัชนีประเทศไทยตกฮวบห้าจุด ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทยส่งผลให้ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศไทยตกลง 5 จุด เหลือเพียง 104 จุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ในปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศจากทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีดัชนีปรับตัวลง "สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นอย่างมาก" แอรอน ครอส กรรมการผู้จัดการบริษัทนีลเส็น ประเทศไทย กล่าว "เราเห็นแนวโน้มความมั่นใจที่ลดลงตั้งแต่การสำรวจช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในหัวข้อผลกระทบของน้ำท่วมที่มีต่อธุรกิจ Fast Moving Consumer Goods (FMCG) ในประเทศไทย ซึ่งผลการสำรวจครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดที่มีการเติบโตติดลบเมื่อเทียบกับปี 2553 แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายและธุรกิจห้างร้านส่วนมากจะกลับมาดำเนินการตามปกติได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม แต่เรายังคงเห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคชาวไทยยังคงระมัดระวังในด้านการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง" แม้ประเทศไทยจะมีตัวเลขดัชนีความมั่นใจตกลงในไตรมาสที่สี่ แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคยังคงเป็นภูมิภาคที่มีดัชนีความมั่นใจของประชากรสูงที่สุด โดย 7 ประเทศจาก 10 ประเทศที่มีตัวเลขความมั่นใจสูงที่สุดมาจากภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนี้ จาก 14 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ดัชนีความมั่นใจใน 6 ประเทศปรับตัวขึ้น และปรับตัวลงใน 5 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่นมีดัชนีที่คงที่ ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในอเมริกา (รวมแคนาดา) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีการปรับตัวสูงขึ้นที่สุด (+5 จุด) เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากภาพรวมของสภาพทางการเงินของผู้บริโภคที่อยู่ในด้านบวกมากขึ้น ดัชนีของประเทศจีนปรับขึ้น 4 จุดสู่ 108 จุด ส่งให้จีนเป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นใจสูงที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ขึ้นมาจากอันดับ 8 ในไตรมาสที่สาม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในยุโรปกลับตรงกันข้ามกับภาพรวมของทั้งโลก โดยดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคทั้งภูมิภาคตกลงต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2009 สู่ 71 จุด ซึ่ง 9 ประเทศจาก 10 ประเทศที่มีดัชนีความมั่นใจต่ำที่สุดในไตรมาสที่4มาจากทวีปยุโรปทั้งสิ้น โดยมีฮังการีเป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นใจต่ำที่สุดในโลกอยู่ที่ 30 จุด ตามมาด้วยโปรตุเกส(36 จุด) และกรีซ (41 จุด) อินเดียยังคงครองแชมป์เป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคที่สูงที่สุดติดต่อกันมา 8 ไตรมาส โดยในไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมา ดัชนียังคงปรับตัวขึ้นอีก 1 จุดสู่ 122 จุด ตามมาด้วยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่เสมอกันอยู่ที่ 177 จุด คนไทยมากกว่า 7 ใน 10 คน (73%) เชื่อว่าประเทศไทยกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ครึ่งหนึ่ง (50%) ยังมีความหวังว่าปัญหาจะผ่านพ้นไปได้ภายในหนึ่งปี ด้วยสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมาส่งผลให้ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ตกลงถึง 5 จุด จึงไม่น่าแปลกใจว่าผู้บริโภคถึง 73% ในประเทศไทยเชื่อว่าประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยตัวเลขของกลุ่มคนดังกล่าวพุ่งขึ้นสูงจากไตรมาสที่สามถึง 25% เช่นเดียวกับตัวเลขของผู้บริโภคที่จัดว่าสถานการณ์ทางการเงินของตนจะ “ดี” ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่ตกลงถึง 15% เมื่อเทียบกับตัวเลขจากไตรมาสที่สาม นอกจากนี้ ผู้บริโภคไทยเกินครึ่ง (56%) เชื่อว่าสถานการณ์ในปัจจุบันไม่เหมาะต่อการจับจ่ายใช้สอยซื้อสิ่งที่ต้องการ โดยมีเพียง 33% เท่านั้นที่จะยังคงซื้อข้าวของเครื่องใช้ตามปกติ ในด้านของเงินเก็บ ผู้บริโภค 6 ใน 10 คนจะนำเงินที่เหลือใช้เก็บเข้าธนาคารโดยไม่นำไปลงทุนต่อ ขณะที่ 35% จะนำไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และเป็นที่น่าสนใจว่า 7% ของผู้บริโภคไทยชี้ว่าตนไม่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายเพื่อเก็บเลย ในด้านความกังวลของผู้บริโภค ปัญหาทางเศรษฐกิจยังคงมาแรงเป็นอันดับหนึ่งที่ 36% ตามมาด้วยความมั่นคงในหน้าที่การงานที่ 20% และภาวะหนี้สินที่ 19% อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ความมั่นใจในไตรมาสที่สี่จะดูไม่สดใสสำหรับประเทศไทย ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคไทย (50%) ยังคงเชื่อมั่นว่าประเทศจะผ่านพ้นสภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ภายใน 12 เดือน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มองสถานการณ์ดังกล่าวในแง่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศไทยเคยตกลงต่ำที่สุดในช่วงวิกฤตทางการเมืองในไตรมาสที่สองของปี 2553 อยู่ที่ 92 จุด โดยมีคนไทยเพียง 25% เท่านั้นที่เชื่อว่าประเทศจะผ่านพ้นสภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ดี ในไตรมาสถัดมา (ไตรมาสที่สาม ปี 2553) ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคกลับกระโดดขึ้นสูงที่สุดในรอบปี 2553 ถึง 116 จุด โดยจำนวนของผู้ที่ต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 22% หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง "ผู้บริโภคไทยโดดเด่นเพราะมีมุมมองต่อทุกสถานการณ์ในด้านบวกอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ไม่ว่าจะผ่านวิกฤตทั้งทางธรรมชาติหรือเศรษฐกิจและการเมืองมากี่ครั้ง สถานการณ์ในประเทศและความมั่นใจของผู้บริโภคก็สามารถดีดกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น แม้ว่าดัชนีในไตรมาสที่สี่ของปีที่ผ่านมาจะตกลงค่อนข้างมาก แต่เราเชื่อว่าด้วยธรรมชาติของผู้บริโภคไทยควบคู่ไปกับมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ภายในต้นปี 2555 ผู้บริโภคจะกลับมามีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง" ครอสกล่าวเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Nielsen Global Survey The Nielsen Global Survey of Consumer Confidence and Spending Intentions ติดตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค, ความกังวลใจหลัก, ความตั้งใจในการใช้จ่าย, มุมมองทางด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกนี้ จัดทำขึ้น ในช่วงวันที่ 23 พฤศจิกายน — 9 ธันวาคม 2554 จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 28,000 คน จาก 56 ประเทศ ในทวีปเอเชียแปซิฟิค ยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมทั้งอเมริกาเหนือ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ