ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ไทยเบฟเวอเรจ” ที่ระดับ “AA/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 13, 2012 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศของบริษัท รวมทั้งความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ผลการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพ และสภาพคล่องที่เพียงพอ ทั้งนี้ การเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางช่วยเอื้อให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลอดจนแรงกดดันต่อการทำกำไร และกฎระเบียบที่เข้มงวดซึ่งมีผลต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไป อีกทั้งจะยังคงความแข็งแกร่งในการดำเนินงาน รวมทั้งเพิ่มยอดขายและกำไรในธุรกิจเบียร์ และจะยังคงระดับสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ได้ตลอดเวลา ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ในประเทศไทย กลุ่มสินค้าของบริษัทมีความหลากหลายโดยครอบคลุม สุรา (สุราขาวและสุราสี) เบียร์ เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ รวมทั้งธุรกิจอาหาร โดยมีตราสัญลักษณ์สินค้าหลัก คือ “รวงข้าว” สำหรับสุราขาว “หงส์ทอง” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุราสี และ “ช้าง” สำหรับเบียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “โออิชิ” ด้วย ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่รายหนึ่งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทมีรายได้รวม 90,819 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 โดยรายได้จากธุรกิจสุราอยู่ที่ 59,715 ล้านบาท คิดเป็น 66% ของรายได้รวม และสร้างกำไรเกินกว่า 90% ของอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดสุราไทยในสัดส่วน 85%-93% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับธุรกิจเบียร์นั้นบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 36% ในปี 2553 เป็น 32% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 โดยมีรายได้คิดเป็น 25% ของรายได้รวม แต่มีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ต่อปีติดลบ 1%-2% ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารดำเนินงานหลักโดยบริษัทลูกคือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ธุรกิจทั้งสองนี้สร้างรายได้ประมาณ 9% ของรายได้รวม และ 5% สำหรับ EBITDA รวมสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทนับว่ามีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งโดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% ของตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทย ฐานการผลิตของบริษัทไทยเบฟเวอเรจในประเทศไทยประกอบด้วยโรงกลั่น 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง และโรงผลิตชาเขียว 2 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์ และโรงกลั่นอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากต้นทุนสินค้าที่แข่งขันได้และมีอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบ การกระจายตัวของฐานการผลิตช่วยลดความเสี่ยงของการขาดแคลนสินค้า นอกจากนี้ ระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางของบริษัทที่รวมกับเครือข่ายของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทเพิ่งซื้อกิจการเข้ามาใหม่นั้นจะกลายเป็นเครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งที่สุดและกว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ บริษัทมีศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่งและมีรถขนส่งสินค้ามากกว่า 6,000 คัน โดยกิจกรรมการขายกระทำผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่าย 500 ราย และพนักงานขายมากกว่า 1,300 คนซึ่งรองรับร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางช่วยสร้างเสถียรภาพทางธุรกิจ ตลอดจนเสริมความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ปัจจุบันบริษัทกำลังขยายธุรกิจในตลาดเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การควบรวมกิจการกับบริษัทเสริมสุขซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมในประเทศรายใหญ่ที่สุดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาสินค้า นอกจากนี้ การขยายธุรกิจสู่ตลาดเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้นจะช่วยถ่วงดุลผลประกอบการในธุรกิจเบียร์ที่อ่อนตัวของบริษัทลงได้บ้าง บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 16%-18% อัตรากำไรได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการที่ขาดทุนในธุรกิจเบียร์ตั้งแต่ปี 2552 และธุรกิจอาหารที่ขยายตัวด้วยอัตรากำไรที่ต่ำกว่า สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 นั้น ทริสเรทติ้งมองว่ากำไรจากธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์จะลดลงซึ่งเป็นผลจากยอดขายที่ตกลงจากผลกระทบของอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 โดยอัตรากำไรเต็มปีอาจจะยังคงอ่อนตัวต่อไป ทั้งนี้ การคิดหาวิธีควบคุมค่าใช้จ่ายและการนำเสนอสินค้าใหม่ถือเป็นสิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะปรับปรุงการทำกำไรให้ดียิ่งขึ้น เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีความแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 14,000-15,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ระดับภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 9,362 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ 21,253 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 จากการซื้อกิจการของบริษัทเสริมสุข ความสามารถในการชำระหนี้ที่วัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอ่อนตัวลงจากระดับที่แข็งแกร่งมากที่ 160.3% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 49.9% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ณ ปลายเดือนกันยายน 2554 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 13.9% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 26.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เนื่องจากบริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัทเสริมสุขเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 งบการเงินรวมของบริษัทสำหรับงวดปิดงบ 9 เดือนจึงรวมเฉพาะสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเสริมสุขเท่านั้น ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทเสริมสุขจะรวมเข้ามาในงบการเงินของบริษัทตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าของบริษัทเสริมสุขน่าจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเสริมสุขอยู่ที่ประมาณ 5% ของรายได้ ซึ่งต่ำกว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น เมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทเสริมสุขเข้ามาแล้วจึงน่าจะส่งผลให้อัตรากำไรเฉลี่ยของบริษัทได้รับแรงกดดันให้อ่อนตัวลงบ้าง ในช่วงระยะปานกลางคาดว่าธุรกิจสุราจะยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรและกระแสเงินสดหลักของบริษัทต่อไป ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทรักษาสถานะเครดิตให้อยู่ในระดับสูงและคงสภาพคล่องให้แข็งแกร่งโดยเฉพาะในช่วงที่มีการลงทุน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเติบโตที่ต่อเนื่องและความนิยมในสุราที่ผลิตในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่ตลาดเบียร์ถดถอยลงตั้งแต่ปี 2551 คาดว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2555 โดยเฉพาะเบียร์จะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากกฎระเบียบและข้อจำกัดที่เข้มงวด ทั้งนี้ การแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีสรรพสามิต การจำกัดการโฆษณา และการควบคุมการจัดจำหน่ายล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างภาระให้แก่ผู้ผลิตเบียร์และสุราต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ AA แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ