KMC ร้องขอความเป็นธรรม ยันไม่เกี่ยวข้องคดีทุจริตปล่อยกู้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 14, 2012 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--IR network KMC ร้องขอความเป็นธรรม ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับ บริษัท อาร์เค โปรเฟลชั่นนัล จำกัด ,บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยย้ำว่าทั้ง 3 บริษัทไม่ใช่บริษัทในเครือของ KMC แต่เป็นของ "วิชัย กฤษดาธานนท์" ส่วนกรณีที่พบว่ามีการนำเงินที่กู้จากธนาคารกรุงไทยมาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน KMC นั้น ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชน จึงไม่สามารถทราบได้ว่า เงินที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นมาจากแหล่งใด พร้อมแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงต่อศาลฯได้ นายวิรัตน์ เอี้ยวอักษร รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) (KMC) เปิดเผยถึงกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามสำนวนและพยานหลักฐานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร , คณะกรรมการบริหารและพนักงาน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน ) และพวก ว่าร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำผิดฐานเป็นพนักงานหรือเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยประกอบด้วยบุคคลและนิติบุคคลหลายราย รวมทั้ง บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด(มหาชน) หรือ KMC ด้วยนั้น ในส่วนของ KMC ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการทุจริตดังกล่าวแต่อย่างใด โดยนิติบุคคล 3 รายที่ถูกกล่าวหา ประกอบด้วย บริษัท อาร์เค โปรเฟลชั่นนัล จำกัด ,บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด รวมถึง บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือของ KMC เนื่องจากบริษัทฯ มิได้เข้าไปถือหุ้น และกรรมการบริหารของบริษัทฯ ก็มิได้เข้าไปเป็นกรรมการบริหารของทั้ง 3 บริษัท KMC จึงไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารกิจการ หรือครอบงำการดำเนินการใดๆของทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว แต่เป็นของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KMC ในอดีต ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีการถือหุ้นใน KMC แล้ว นายวิรัตน์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวหาว่า KMC เป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงจากการขอสินเชื่อของ บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด , บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด และ บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งได้มีการนำเงินสินเชื่อไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ นั้น ในฐานะที่ KMC เป็นบริษัทมหาชน และมีการเพิ่มทุน-ลดทุน เพื่อลดการขาดทุนสะสมมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเงินตามวิถีทางธุรกิจ และบริษัทไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าเงินที่ผู้ถือหุ้นนำมาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นมาจากแหล่งใด ดังนั้นการที่ทั้ง 3 บริษัท นำเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต มาซื้อหุ้นเพิ่มทุน จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับ KMC และบริษัทไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมดำเนินการแต่อย่างใด "บริษัทเคยยื่นหนังสือชี้แจงต่อทั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เสียความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับทั้ง 3 บริษัท ที่ถูกกล่าวหา ซึ่งถือเป็นเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อมีการส่งฟ้อง ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งบริษัทฯก็มั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงต่อศาลฯได้ ดังนั้นขอให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนไม่ต้องกังวลต่อประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด" นายวิรัตน์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ