กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--Nielsen
49% ของผู้บริโภคไทยมีบัตรเครดิตอย่างน้อย 1 ใบ ในขณะที่ 61% ของผู้ใช้บัตรเครดิตเลือกชำระสินค้าและบริการด้วยผ่านบัตรเครดิตมากกว่าเงินสด
แม้ว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้บัตรเครดิตไทยอ้างว่าตนชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกเดือน แต่ 26 เปอร์เซ็นต์ชำระเพียงยอดใช้จ่ายขั้นต่ำหรือน้อยกว่า โดยไทยเป็นประเทศที่มีผู้ชำระบัตรขั้นต่ำหรือน้อยกว่ามากที่สุดในภูมิภาค
กองทุนรวมคือตัวเลือกแรกที่คนไทยเลือกลงทุน(64%) ตามมาด้วยหุ้นและทองคำ (45%)
คนไทย 80% เลือกทำธุรกรรมทางการเงินที่สาขาธนาคาร ตามมาด้วยธนาคารออนไลน์ (60%)
ส่วนธนาคารบนมือถือเป็นทางเลือกที่คนหนุ่มสาวนิยมมากที่สุด
49เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคไทยมีบัตรเครดิตอย่างน้อย 1 ใบ แต่ผู้ถือบัตรเครดิตมากกว่า 25เปอร์เซ็นต์ เลือกชำระยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำหรือน้อยกว่า นอกจากนี้ การสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับการลงทุนของนีลเส็น ยังพบว่า กองทุนรวมเป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนไทยนิยมสูงสุด และประมาณ 60เปอร์เซ็นต์ ของคนไทยเลือกทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเตอร์เน็ต
จากการสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติในการลงทุนและการธนาคารของนีลเส็นในกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 28,000 คนใน 56 ประเทศพบว่า ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ยังคงเลือกชำระสินค้าและบริการด้วยเงินสด แต่ 61 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่มีบัตรเครดิตมักนิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากกว่า นอกจากนี้ แม้บัตรเดบิตจะไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเท่ากับบัตรเครดิต แต่1ใน 4 ของผู้บริโภคไทยที่ในช่วงอายุ 20 — 29 ปี เลือกใช้บัตรเดบิตเป็นช่องทางหลักในการจับจ่ายใช้สอยรองจากเงินสด
“ผู้บริโภคในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการชำระสินค้าและบริการด้วยเงินสด อย่างไรก็ดี เมื่อใดก็ตามที่สถานภาพทางการเงินของผู้บริโภคโดยรวมดีขึ้น พร้อมกับมีช่องทางในการจับจ่ายผ่านบัตรหรือทางอีเล็คโทรนิคส์มากขึ้น โอกาสที่การใช้จ่ายผ่านบัตรจะเข้ามามีบทบาทไม่แพ้การจับจ่ายด้วยเงินสดก็อยู่ไม่ไกล” นายสุเรช รามาลินกัม กรรมการผู้จัดการบริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าว
แม้ว่าความนิยมในการใช้บัตรเครดิตในกลุ่มผู้บริโภคไทยจะเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังคงมีจำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตที่ชำระเพียงยอดใช้จ่ายขั้นต่ำหรือน้อยกว่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและเป็นอันดับ 7 ของโลก โดย 24เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้บัตรเครดิตไทยชำระเพียงยอดใช้จ่ายขั้นต่ำในสามเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ 2 เปอร์เซ็นต์ เลือกจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่านั้น
ในเอเชียแปซิฟิค แต่ละประเทศมีความนิยมด้านการลงทุนแตกต่างกัน โดยที่ 64เปอร์เซ็นต์ ของคนไทยเลือกที่จะลงทุนกับกองทุนรวมเป็นอันดับแรก รองลงมาคือหุ้นและทองที่ 45เปอร์เซ็นต์ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 35-60 ปีมีความสนใจลงทุนในกองทุนรวมมากกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ ผู้ชายยังเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจในการลงทุนซื้อหุ้นมากกว่าผู้หญิงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกัน นักลงทุนหญิงสนใจลงทุนกับทองมากกว่าผู้ชายถึง 33 เปอร์เซ็นต์
“นโยบายลดหย่อนภาษีของรัฐบาลมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคในกลุ่มคนทำงานนิยมลงทุนกับกองทุนรวม และเป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนชายมีแนวโน้มที่จะลงทุนกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกกว่านักลงทุนหญิง โดยที่นักลงทุนชายเลือกที่จะลงทุนกับหุ้นที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง แต่สำหรับนักลงทุนหญิงเลือกที่จะลงทุนกับทองซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงต่ำกว่า” นายสุเรชกล่าว
จากผลการสำรวจของ NM Incite เครื่องมือการวัด “เสียง” ออนไลน์ของสังคมโซเชียลมีเดียพบว่า จำนวนการสนทนาเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมในสังคมออนไลน์พุ่งขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายปีที่ใกล้ปิดปีภาษี และยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงยื่นขอคืนภาษี
78 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคไทยยังคงเลือกทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารที่สาขา ขณะที่ธนาคารออนไลน์มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นตัวเลือกอันดับ 2 ซึ่งมีความนิยมอยู่ที่ 60เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุระหว่าง 30-39 ปี นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคหญิงนิยมเดินทางไปยังธนาคารมากกว่าผู้ชายถึง 17เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกันกลุ่มผู้บริโภคชายนิยมธนาคารออนไลน์มากกว่าผู้หญิงถึง 22เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ธนาคารบนมือถือเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคอายุต่ำกว่า 20 ปีมากที่สุด
“ธนาคารบนอินเตอร์เน็ตเริ่มเป็นทางเลือกที่สำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิค แม้ผู้บริโภคยังคงกังวลเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ทหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ จากการสำรวจ เห็นได้ชัดว่าความสะดวกและรวดเร็วในการทำธุรกรรมและการค้นหาข้อมูลการลงทุนทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาเลือกใช้ช่องการการบริการนี้ หากอัตราการเข้าถึงของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในประเทศไทยยังคงพุ่งขึ้นสูงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์น่าจะขยายความนิยมไปมากกว่าเพียงกลุ่มผู้ใช้ที่อายุน้อย และจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจด้านการลงทุนที่ต้องการความรวดเร็วทันใจ ทันท่วงที”
ในเอเชียแปซิฟิค การทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ทได้รับความนิยมมากว่าการเดินทางไปยังสาขาธนาคาร โดยผู้บริโภคในประเทศจีนมากถึง 88 เปอร์เซ็นต์พอใจจะใช้บริการทางธนาคารออนไลน์ ตามมาด้วยเกาหลีที่ 75เปอร์เซ็นต์ และฮ่องกงที่ 71เปอร์เซ็นต์