คณะวิทย์ฯ มรภ.สงขลา ต่อยอดวิจัยพลาสติก นำผสมยางธรรมชาติเป็นกาวติดไม้

ข่าวทั่วไป Friday February 15, 2013 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--มรภ.สงขลา จากความสำเร็จในการพัฒนากาวไม้อัดจากขวดพลาสติกใช้แล้ว ล่าสุด ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา พัฒนางานวิจัยไปอีกขั้น ด้วยการใช้สารเคมีที่ได้จากขวดพลาสติกดัดแปร ผสมกับยางธรรมชาติเหลว ทำเป็นกาวติดไม้ ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานต่อเนื่องของทีมวิจัยในปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยใช้สารเคมีที่ได้จากขวดพลาสติกใช้แล้วดัดแปร ผสมกับยางธรรมชาติเหลวที่ผ่านการดัดแปรเช่นเดียวกันเป็นกาวติดไม้ ซึ่งการใช้ขวดเพทดัดแปรที่มียางธรรมชาติเหลวที่ผ่านการดัดแปรผสมอยู่ ให้ค่าความต้านทานต่อแรงเฉือน 11-12 MPa ผลการทดสอบดังกล่าวถือว่าผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน Journal of Adhesion and Adhesives ของสำนักพิมพ์ ELSEVIER ฉบับที่ 41 ปี 2013 ชื่อเรื่อง Polyurethane polyester elastomer: Innovative environmental friendly wood adhesive from modified PETs and hydroxyl liquid natural rubber polyols สำหรับงานที่กำลังดำเนินงานในขณะนี้คือ การใช้ประโยชน์ของสารเคมีชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นในการเตรียมโฟมพอลิยูรีเทน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับสูตรหรือสารเคมีที่ใช้ทำ เช่น โฟมนิ่ม เบาะรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือโฟมแข็งที่ใช้ทำฉนวนกันความร้อน คาดว่าจะประสบความสำเร็จเร็ว ๆ นี้ “ปัจจุบันปริมาณการใช้ขวดพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยนิยมนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มที่มีแก๊ส น้ำแร่ และอื่นๆ เนื่องจากมีสมบัติเด่นเรื่องความเหนียว ใส และต้านทานการผ่านของแก๊สได้ดี ทนต่อสภาวะแวดล้อม แต่พลาสติกดังกล่าวย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ยาก ขณะที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา มีขยะจากขวดพลาสติกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยย่อยสลายด้วยปฏิกิริยาเคมี ทำให้ได้สารเคมีที่มีสมบัติเป็นของเหลว สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น สารเคลือบ กาวไม้อัดสำหรับประสานยึดผงไม้ในอุตสาหกรรมไม้อัด ซึ่งงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ ICKEM 2012 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปีที่ผ่านมา” นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของนักวิจัย มรภ.สงขลา ในการคิดค้นและพัฒนางานวิจัย ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ