ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิตที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Insurer Financial Strength (IFS)) ทั้งสากลและในประเทศ ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ที่ ‘BBB+’ และ ‘AA+(tha)’ ตามลำดับ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต การคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินดังกล่าว สะท้อนถึงสถานะในอุตสาหกรรมของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำกำไรที่ดีและมีเสถียรภาพ รวมทั้งระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังคำนึงถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้แก่ Ageas Insurance International N.V. (Ageas) (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย โดย Ageas ให้การสนับสนุนในด้านการดำเนินงานและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในขณะที่ MTL มีความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในด้าน Bancassurance หรือการขายประกันผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคาร MTL เป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทยในด้านสินทรัพย์รวม บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในเบี้ยประกันชีวิตรับรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการขายประกันผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคารและกลุ่มตัวแทนประกันของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง ในปี 2555 MTL มีส่วนแบ่งการตลาดในเบี้ยประกันชีวิตรับรวมเท่ากับ 12.5% โดยเป็นอันดับสองของประเทศไทย และเพิ่มขึ้นจาก 11.5% ในปี 2554 ความสามารถในการทำกำไรที่ดีของ MTL เป็นผลมาจากการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีเสถียรภาพ การบริหารจัดการต้นทุนที่มีวินัย และกำไรจากอัตรามรณะที่เกิดจริงเทียบกับคาดการณ์ กำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 9 เดือนของปี 2555 เติบโตถึง 63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับ รวมถึงอัตราภาษีที่ลดลง เบี้ยประกันภัยรับของ MTL ทั้งปี 2555 เติบโตสูงถึง 29% มากกว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ระดับ 19% โดยการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน ฟิทช์เห็นว่า ปัจจัยที่ลดความกังวลต่อความเสี่ยงอันอาจเกิดจากอัตราการเติบโตที่รวดเร็วของ MTL ได้แก่ การเติบโตดังกล่าว มาจากความสามารถในการแข่งขันของบริษัท และอัตราการทำประกันชีวิตของคนไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ฟิทช์คาดว่า แนวโน้มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงดีอย่างต่อเนื่องในปี 2556 นโยบายการลงทุนของบริษัทยังคงมีความเสี่ยงต่ำ โดยตราสารหนี้และเงินฝากเป็นสินทรัพย์ลงทุนหลักด้วยสัดส่วนการลงทุน 85% ของเงินลงทุนรวม ในขณะที่การลงทุนในตราสารทุนอยู่ในระดับ 8%-11%ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกลยุทธ์ในการเพิ่มผลตอบแทนโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่มีอันดับเครดิตในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) การลงทุนในตราสารหนี้เอกชนของบริษัทมีคุณภาพเครดิตโดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์และหนี้สินยังมีการลดลง ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประเภทผลิตภัณฑ์ของบริษัท MTL มีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยระดับเงินกองทุนตามกฎของประเทศไทยในการกำกับความเสี่ยงด้านเงินกองทุน (Risk-based capital — RBC) อยู่ที่ 377% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 เทียบกับระดับขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่ 140% บริษัทไม่มีหนี้ และไม่มีแผนการที่จะใช้เงินกู้ยืมเป็นแหล่งเงินทุน ฟิทช์คาดว่าสถานะเงินกองทุนของบริษัทจะยังแข็งแกร่งต่อไป จากความสามารถในการทำกำไรที่ดี และการบริหารจัดการเงินกองทุนที่ระมัดระวัง ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยที่มีผลในทางบวกต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ทั้งสากลและในประเทศ ได้แก่การที่ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดช่องว่างของบริษัทและผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตในปัจจุบัน ได้แก่ เอไอเอ ประเทศไทย หรือ American International Assurance Company Limited (‘AAA(tha)’/Stable) โดยที่บริษัทยังสามารถคงไว้ซึ่งความมั่นคงด้านเงินกองทุนและเสถียรภาพของความสามารถในการทำกำไร ปัจจัยที่มีผลในทางลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ทั้งสากลและในประเทศ ได้แก่ การที่สถานะเงินกองทุนของบริษัทปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมาก โดยมีระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎ RBC ลดลงต่ำกว่า 180% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากสถานะในอุตสาหกรรมของบริษัท หรือความสามารถในการทำกำไร มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจทำให้เกิดผลในทางลบต่ออันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ