ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” พร้อมลดอันดับเครดิตองค์กร "บ. ไทยเบฟเวอเรจ" เป็น “AA-" จาก "AA" ด้วยแนวโน้ม "Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2013 17:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 พร้อมทั้งประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเป็นระดับ“AA-” จาก “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยการประกาศอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงเนื่องจากบริษัทได้ซื้อหุ้น 28.6% ใน Fraser and Neave Limited (F&N) ซึ่งประกอบธุรกิจที่หลากหลายโดยมีฐานการดำเนินงานในประเทศสิงคโปร์ การลงทุนครั้งนี้คิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์โดยบริษัทใช้เงินทุนจากการกู้ยืม บริษัทวางแผนจะคืนเงินกู้เป็นก้อนโดยใช้เงินสดรับจากการลดทุนของ F&N ทั้งนี้ การชำระเงินคืนล่วงหน้านี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการหาเงินกู้ใหม่เพื่อนำไปใช้คืนเงินกู้เก่าที่มีอยู่ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะคงภาระหนี้ให้อยู่ในระดับปานกลางเนื่องจากบริษัทจะยังคงจ่ายเงินปันผลในระดับสูงอย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะไม่ทำการลงทุนขนาดใหญ่อื่น ๆ อีกในระยะปานกลาง รวมถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไป บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ในประเทศไทยโดย ณ เดือนตุลาคม 2555 บริษัทมีตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 68% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท กลุ่มสินค้าของบริษัทประกอบด้วยสุรา เบียร์ เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ และอาหาร โดยมีตราสัญลักษณ์สินค้าหลัก คือ “รวงข้าว” “หงส์ทอง” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุรา และ “ช้าง” สำหรับเบียร์ “โออิชิ” สำหรับเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มอัดลมซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายภายใต้ชื่อ “เอส” ด้วย สถานะทางธุรกิจของบริษัทถือว่าเข้มแข็ง โดยในปี 2555 บริษัทครองส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 90% ในตลาดสุราวิสกี้ไทย (Off-trade) และประมาณ 50% ในตลาดชาพร้อมดื่ม อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในตลาดเบียร์ไทยอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ที่ 30% ในปี 2555 บริษัทมีโรงงานผลิตหลากหลายประเภทในประเทศไทย ได้แก่ โรงกลั่น 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง และโรงผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 10 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์ และโรงกลั่นอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่และระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนกฎระเบียบที่เข้มงวดและข้อห้ามต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดแข็งของสถานะทางการเงินของบริษัทคือยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้วยการใช้เงินกู้ยืมขนาดใหญ่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน รวมถึงเงินปันผลจ่ายในระดับสูง และภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนตามกำหนดเวลาแล้วทำให้คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนตัวลงจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นในระยะใกล้ บริษัทมีรายได้รวม 161,044 ล้านบาทในปี 2555 เติบโต 22% จากปีก่อน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2555 รายได้จากธุรกิจสุราคิดเป็น 58% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจเบียร์สร้างรายได้ 21% ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารสร้างรายได้ประมาณ 21% รายได้สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 อยู่ที่ 39,154 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายรวมของบริษัทค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับ 15%-16% ตั้งแต่ปี 2553 ธุรกิจสุราเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนการสร้างกำไรของบริษัทและคาดว่าธุรกิจนี้จะค่อย ๆ เติบโตเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคยังมีอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหารนั้นโดยลักษณะของธุรกิจเองเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ในขณะที่ธุรกิจเบียร์ยังคงแสดงผลขาดทุนอยู่ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปรับขึ้นจาก 15,000 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาทในปี 2555 และ 5,400 ล้านบาทสำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตอยู่ที่ระดับที่สูงกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปีในระยะปานกลาง ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็งของบริษัทช่วยเสริมจุดแข็งของสถานะทางการเงินและใช้เป็นเงินสำรองสำหรับการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัท ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทแม้ว่ายังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่ก็ปรับลดลงหลังจากที่ลงทุนใน F&N โดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ต่ำลง สำหรับอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 29.4 เท่าในปี 2555 แต่คาดว่าจะปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 15 เท่าเมื่อบริษัทรับรู้ภาระดอกเบี้ยเต็มจำนวนที่เกิดจากเงินกู้ก้อนใหม่นี้ สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากเงินสดจำนวน 4,500 ล้านบาท ตลอดจนสินค้าคงคลังประเภทสุราที่ผลิตแล้วเสร็จจำนวน 11,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อจากธนาคารต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 52,000 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารและมีความยืดหยุ่นทางการเงินในการเข้าถึงนักลงทุนในตลาดเงินได้ง่าย ณ สิ้นปี 2555 เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 104,153 ล้านบาท จาก 18,227 ล้านบาทในปี 2554 ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการซื้อหุ้น 28.6% ในบริษัท F&N ซึ่งมีมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 92,000 ล้านบาท) บริษัทลงทุนในครั้งนี้ด้วยเงินกู้ยืมก้อนใหม่ การลงทุนใน F&N นั้นได้ร่วมกับกิจการที่เกี่ยวข้องกันคือ TCC Assets Limited (TCCA) ซึ่งมีตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ TCCA ถือหุ้น 61% ใน F&N ผ่านการทำการคำเสนอซื้อหุ้น F&N ทั้งหมดในช่วงเดือนกันยายน 2555 ถึงกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ตามประกาศของ F&N เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ระบุว่า F&N เสนอจ่ายคืนเงินสด 3.28 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น 1 หุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นของ F&N การกระจายเงินสดในครั้งนี้ของ F&N สืบเนื่องมาจากการขายหุ้นที่ F&N ถืออยู่ใน Asia Pacific Breweries Limited และ Asia Pacific Investment Pte. Ltd. (APB) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินสดประมาณ 1,352.75 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จาก F&N ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 บริษัทจะใช้เงินสดทั้งหมดที่ได้รับจากการลดทุนของ F&N สำหรับจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมซึ่งรวมถึงภาระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนใน F&N ด้วย การชำระคืนเงินกู้ล่วงหน้านี้จะช่วยลดภาระเงินก้อนใหญ่ที่บริษัทต้องชำระคืนเมื่อครบกำหนด มีผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลงจาก 22.4% ในปี 2554 เป็น 55% ในปี 2555 และคาดว่าจะอยุ่ที่ระดับ 35%-45% ในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินกู้รวมของบริษัทไทย เบฟเวอเรจจะยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากบริษัทมีแผนจะใช้ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวน 12,000 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2557 และมีเงินกู้ครบกำหนดที่ต้องชำระคืนในช่วง 5 ปีข้างหน้าโดยมีภาระชำระคืนเงินก้อนใหญ่ในช่วงครึ่งหลัง นอกจากนี้ การจ่ายเงินปันผลจำนวนมากก็จะชะลอการลดภาระหนี้สินของบริษัทให้ช้าลงด้วย บริษัทไทยเบฟเวอเรจคาดหวังว่าการลงทุนใน F&N จะสร้างประโยชน์หลัก ๆ ให้แก่บริษัท 2 ด้าน คือ การขยายตลาดต่างประเทศและการขายสินค้าของบริษัทข้ามไปยังเครือข่ายการกระจายสินค้าของ F&N อย่างไรก็ตาม การผสานธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการประหยัดต้นทุน การกระจายสินค้า และการกระจายทางภูมิศาสตร์นั้นอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะปรากฏผล ในระหว่างนี้คาดว่าบริษัทจะได้รับเพียงเงินปันผลจาก F&N เท่านั้น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev) อันดับเครดิตองค์กร: AA- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ