สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 16-20 ก.ย. 56 และแนวโน้มสัปดาห์ 23-27 ก.ย. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2013 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) ลดลง 2.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 109.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 108.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 115.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 122.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - การเจรจาส่งมอบและกำจัดอาวุธเคมีของซีเรียรุดหน้า โดยรัสเซียและสหรัฐฯ ได้รับมอบหมายจากสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ให้ดูแลการปลดอาวุธเคมีของซีเรีย - Reuters คาดว่าแองโกลาจะส่งออกน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ 1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 40,000 บาร์เรลต่อวัน โดยมีเป้าหมายการส่งออกในปี 56 ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ แองโกลาเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของทวีปแอฟริกา - นาย Uzakbai Karabalin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันและก๊าซของคาซัคสถานระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 1/57 จะเพิ่มขึ้น 70,000 บาร์เรลต่อวันจากไตรมาส 4/56 มาอยู่ที่ 1.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแหล่ง Kashagan จะพร้อมสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 56 นี้ โดยมีแผนผลิตที่ 142,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 57 - North Dakota Industrial Commission's Oil and Gas Division รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota ในเดือน ก.ค. 56 เพิ่มขึ้น 55,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 875,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่มาจากการผลิต Shale Oil ในแหล่ง Bakken ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - นาย เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แถลงต่อผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ว่า Fed ยังคงวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) ไว้เช่นเดิม พร้อมเน้นย้ำว่าไม่มีกำหนดการตายตัวว่าจะลดการอัดฉีดลงเมื่อใด ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ - Reuters รายงานการส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่าส่งออกทางตอนใต้ของอิรัก ณ วันที่ 17 ก.ย. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 720,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการปิดซ่อมบำรุงท่าส่งออก และปัญหาท่อขนส่งน้ำมันรั่ว - บริษัท ConocoPhillips เผยว่าแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Ekofisk (350,000 บาร์เรลต่อวัน) บริเวณทะเลเหนือปิดซ่อมบำรุงบางส่วน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และ Reuters คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 56 จะลดลงมาอยู่ที่ 240,000 บาร์เรลต่อวัน แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในสัปดาห์นี้ โดยสหรัฐฯ ลดท่าทีแข็งกร้าวต่อประเทศที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน ทั้งซีเรียและอิหร่าน ทั้งนี้ กระบวนการทางการทูตที่คืบหน้าระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ในการกำจัดอาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรีย เป็นสัญญาณของการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และลดโอกาสที่จะสหรัฐฯ จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตี ส่งผลให้ความกังวลต่อสถานการณ์ซีเรีย ซึ่งเคยเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบเริ่มผ่อนคลายไปในทางที่ดี ขณะเดียวกัน ทั่วโลกจับตาการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในสัปดาห์นี้ ซึ่งผู้นำของสหรัฐฯ และอิหร่านอาจพบปะเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การปฏิวัติในอิหร่านเมื่อปี 22 นอกจากนี้ ทางด้านอุปทาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของลิเบียเผยว่าแหล่งผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย 5 แห่งจากทั้งหมด 9 แห่งจะกลับมาดำเนินในสัปดาห์นี้ หลังจากปิดเนื่องจากคนงานประท้วงเป็นเวลานาน คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียจะกลับมาอยู่ที่ 800,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนกรอบราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 108-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วน NYMEX WTI อยู่ที่ 103-108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai อยู่ที่ 105-109 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์และญี่ปุ่นต่างเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้า อีกทั้งอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 56 ลดลงมาอยู่ที่ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 13 ปีสำหรับอุปสงค์ในเดือน ส.ค. ส่วนในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 113.5-117.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์และญี่ปุ่นต่างเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะของสิงคโปร์ ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี พร้อมกันนั้น รัฐบาลจีนได้อนุมัติโควตาส่งออกดีเซลในไตรมาส 4/56 ให้กับบริษัท Sinopec และบริษัท PetroChina เพราะอุปสงค์จากภาคการเกษตรในประเทศชะลอตัวลงในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี มีกำลังการผลิตออกมาจากโรงกลั่นในจีนเพิ่มขึ้นราว 350,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับการเปิดดำเนินการของโรงกลั่น Jubail (400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุดีอาระเบีย ส่วนในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 120-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ